BIZ กำไร 3Q64 New High พร้อมปรับเพิ่มกำไรปี 64 และ 65

BIZ กำไร 3Q64 New High พร้อมปรับเพิ่มกำไรปี 64 และ 65

รายงานกำไร 3Q64 ที่ 200 ลบ. สูงกว่าที่เราคาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ เติบโต 80% QoQ และเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ YoY: งวด 3Q64 บริษัทมีรายได้ 1,418 ลบ. +126% QoQ และเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ YoY

โดยได้แรงหนุนจากการส่งมอบเครื่องฉายรังสีให้แก่โรงพยาบาลจุฬาซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่างานราว 1 พันลบ. ขณะที่รายได้จากโรงพยาบาลทรงตัวที่ระดับ 18.7 ลบ. เนื่องจากมีผู้ใช้บริการเครื่องฉายรังสีเพิ่มขึ้นหลังบริษัทร่วมโครงการ 30 บาทเพื่อขยายตลาด ด้านอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 19.6% ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดว่าจะอยู่ที่ราว 10-11% เนื่องจากการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับตัวขึ้น 20% จากไตรมาสก่อนที่ 17.2 ลบ.สู่ 20.7 ลบ. แต่หากคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ปรับตัวลงจากระดับ 3.2% สู่ 1.5% เนื่องจากรายได้เติบโตเร็วกว่าค่าใช้จ่าย ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิใน 3Q64 ที่ 200 ลบ. +80% QoQ และเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ YoY (จาก 3Q63 ที่มีกำไรเพียง 5 ลบ.) ทั้งนี้กำไร 9M64 อยู่ที่ 394 ลบ. เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนที่มีกำไรเพียง 20.8 ลบ. และมากกว่าประมาณการเดิมทั้งปี 64 ของเราที่ 277 ลบ.  

                         โครงสร้างรายได้แยกตามประเภทระหว่างปี 3Q63-3Q64

BIZ กำไร 3Q64 New High พร้อมปรับเพิ่มกำไรปี 64 และ 65
 

-  ปรับประมาณการปี 64 เพิ่มขึ้น 60%จาก 277 ลบ. สู่ 443 ลบ. : เราปรับเพิ่มประมาณการรายได้ปี 64 จาก 2.82 พันลบ. สู่ 2.95 พันลบ. เติบโตจากปี 63 อย่างมีนัยสำคัญ (รายได้ 9M64 อยู่ที่ 2.6 พันลบ.) ณ วันที่ 30 ก.ย. 64 มี Backlog 645 ลบ. ซึ่งคาดว่าจะรับรู้ใน 4Q63 ราว 300 ลบ. และปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิจาก 277 ลบ. สู่ 443 ลบ. เติบโตจากปี 63 อย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับเพิ่มสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นจาก 16% สู่ 21.4% ซึ่งต่ำกว่าอัตรากำไรขั้นต้น 9M64 ที่ 21.8% โดยคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของโครงการที่จะส่งมอบใน 4Q64 จะทรงตัวได้เนื่องจากเป็นการส่งมอบเครื่องฉายรังสีตามกำหนดระยะเวลา ขณะที่เราปรับลดประมาณการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลงจาก 93 ลบ.สู่ 71 ลบ. เนื่องจากบริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพ (ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 9M64 อยู่ที่ 52.9 ลบ. ) 

 

-  ปี 65 งบประมาณสาธารณสุขลดลง 2%YoY สู่ 1.18 แสนลบ. : รัฐบาลได้ปรับลดงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขปี 65 ลงจากปี 64 ราว 2% สู่ 118,415 ลบ. โดยปรับลดงบของกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลง 11% 12% 12% และ 7% ตามลำดับ เหลือ 7.8 พันลบ. 3.5 พันลบ. 1.2 พันลบ. และ 1.3 พันลบ. ตามลำดับ แม้ว่างบประมาณสาธารณสุขจะลดลงจากปี 64 แต่ทางบริษัทอยู่ระหว่างการประมูลงานส่งมอบเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งเพิ่มราว 800 ลบ. ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบภายในปี 65 

- คาดธุรกิจโรงพยาบาลจะถึงจุดคุ้มทุนภายในปี 65 : โรงพยาบาล CAH มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 18.7 ลบ. ต่อไตรมาสตามตารางแสดงโครงสร้างรายได้ด้านบน โดย 3Q64 ยังคงมีผลขาดทุนราว 4 ลบ. ต่อไตรมาส และมีผลขาดทุนในงวด 9M64 ที่ 1.97 ลบ. อย่างไรก็ตามเราคาดว่าภายในปลายปี 65 จะถึงจุดคุ้มทุนเนื่องจากมีการเพิ่มบริการ “กัญชาทางการแพทย์” เพื่อใช้รักษาควบคู่กับการฉายรังสี อีกทั้งมีการออกใบสำคัญแสดงสิทธิจำนวน 40 ล้านหน่วย อายุ 1 ปี ราคาใช้สิทธิ์ 7 บาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินราว 280 ลบ. ภายในต้น 4Q65 ซึ่งบริษัทจะนำเงินดังกล่าวไปชำระคืนเงินกู้ของโรงพยาบาล CAH ซึ่งมีอยู่ราว 240 ลบ. และเงินทุนที่เหลือจะใช้ในการขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการแพทย์ ส่งผลให้ผลประกอบการโรงพยาบาล CAH จะถึงจุดคุ้มภายในปลายปี 65  
 

 

-  ปรับเพิ่มประมาณการปี 65 จากการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ : เราคงประมาณการรายได้ปี 65 ที่ 1.13 พันลบ. แม้ว่างบประมาณสาธารณสุขปี 65 จะลดลงจากปี 64 แต่จากการสอบถามบริษัท บริษัทยังคงเตรียมเข้าประมูลงานเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลาประมูลงานอีกราว 5 เดือนจนถึงต้นไตรมาส 2/65 ที่คาดว่าจะบันทึกเป็นรายได้ในปี 65 (สัญญาส่งมอบภายใน 270 วัน) ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างประมูลงานราว 800 ลบ. ซึ่งเราคาดว่าจะได้งานอย่างน้อย 70% ตามสถิติการประมูลในอดีต ทั้งนี้เราปรับสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 18.4% สู่ 21% เพราะบริษัทสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 9M64 เราจึงปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นจาก 97 ลบ. สู่ 117  ลบ. แต่ลดลงจากปี 64 ราว 74% เนื่องจากไม่มีการส่งมอบงานใหญ่เหมือนปี 64 

                             งานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ณ วันที่ 30 กันยายน 64 

BIZ กำไร 3Q64 New High พร้อมปรับเพิ่มกำไรปี 64 และ 65

- คงคำแนะนำ “ถือ” พร้อมปรับใช้ราคาเหมาะสมปี 65 ที่ 9.00 บาทซึ่งลดลงจากปี 64 ที่มีการส่งมอบโครงการขนาดใหญ่ : เราปรับใช้ราคาเหมาะสมปี 65 โดยประเมินมูลค่าด้วยวิธี SOTP ได้ราคาเหมาะสมธุรกิจติดตั้งเครื่องฉายรังสีปี 65 ที่ 8.67 บาท โดยคำนวณ P/E ratio เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีได้ค่า P/E ratio เฉลี่ย 30 เท่า ลดลงจากราคาเหมาะสมปี 64 ที่ 8.77 บาท เนื่องจากผลประกอบการปี 65 อ่อนตัวลงจากปี 64 ซึ่งเป็นฐานสูงผิดปกติจากการส่งมอบโครงการขนาดใหญ่ 1 พันลบ. (โครงการปกติมูลค่า 1-2 ร้อยลบ.) และประเมินราคาเหมาะสมโรงพยาบาลมะเร็งอีก 0.33 บาท/หุ้น (อิง PBV 1 เท่าเนื่องจากยังมีผลขาดทุนจากส่วนที่บริษัทถือหุ้น 65%) ได้ราคาเหมาะสมใหม่สำหรับปี 65 เท่ากับ 9.00 บาทลดลงจากราคาเหมาะสมปี 64 ที่ 9.1 บาท และคาดหวังอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยปี 64-65 ที่ 5.7% ต่อปี (สูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของ MAI ที่ 2.6%) อย่างไรก็ตามปี 65 มีความเสี่ยงที่รายได้และกำไรจะปรับตัวลง เราจึงคงคำแนะนำ “ถือ” 

 

ปัจจัยเสี่ยง
i)    การส่งมอบงานล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้
ii)    ธุรกิจโรงพยาบาลถึงจุดคุ้มทุนล่าช้ากว่าปี 66
iii)    ปี 65 รายได้และผลประกอบการอ่อนตัวจากปี 64