บทบาทของ "DeFi "  การเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน

ในช่วงที่ผ่านมา DeFi (Decentralized Finance) หรือบริการทางการเงินที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในหลายประเทศรวมถึงไทย

 ที่พบเห็นกันทั่วไปมักอยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชันไม่รวมศูนย์ หรือ DApp (Decentralized Application) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี Blockchain โดยธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบน DeFi มักจะเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลัก

DeFi เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของมูลค่าตลาดและจำนวนผู้ใช้งาน หลายภาคส่วนเริ่มจับตามอง DeFi มากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างภาคการเงินแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะธนาคารต่างๆ ในบทความนี้จึงขอยกตัวอย่าง DeFi 4 หมวดที่สามารถส่งผลกระทบต่อภาคการเงินในระดับโลกได้โดยตรง

หมวดที่ 1 การซื้อขายแลกเปลี่ยน (Defi Exchange: DEX) จุดอ่อนหลักของธนาคารในการโอนเงินระหว่างประเทศคือต้นทุนการบริหารและค่าธรรมเนียมที่สูง รวมทั้งใช้ระยะเวลานานในการอนุมัติการโอนเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากระบบการดำเนินงานเป็นแบบรวมศูนย์ แต่ด้วยรูปแบบการทำงานของ DeFi ที่หลายฝ่ายสามารถเข้าร่วมอนุมัติธุรกรรมได้พร้อมกัน การดำเนินการสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้ง DeFi ยังไม่มีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ผลกระทบของ DeFi ในหมวดนี้ต่อภาคการเงินการธนาคารจึงอาจมีนัยสำคัญ ในระยะเวลาอันใกล้ที่ราว 0-5 ปี เนื่องจากปัจจุบันเริ่มผู้ใช้งาน DeFi รูปแบบนี้บ้างแล้ว

หมวดที่ 2 การกู้ยืม (Borrowing and Lending) DeFi จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้กู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบดั้งเดิมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs และธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงิน เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มักไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ หรืออาจมีสินทรัพย์ในรูปแบบที่ธนาคารยังไม่นิยมใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืม อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมผ่าน DeFi อาจยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการพัฒนารูปแบบการบริการให้เหมาะสม โดยคาดว่าจะใช้เวลาราว 3-7 ปี ปัจจุบันการกู้ยืมบน DeFi อยู่ในรูปแบบของการแลกเหรียญเพื่อนำไปลงทุนและเก็งกำไรในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

หมวดที่ 3 การชำระเงิน (Payment) ภาคการเงินแบบดั้งเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ในการชำระเงินที่มีจำนวนธุรกรรมปริมาณมากได้รวดเร็วและอาจเกิดปัญหาระบบล่มในบางครั้ง เนื่องจากระบบจำต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเข้าศูนย์กลางเพื่อตรวจสอบก่อน นอกจากนี้ ในบางประเทศผู้บริโภคบางคนอาจเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินรูปแบบดั้งเดิม เนื่องจากขาดบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันตัวตนที่ออกโดยทางการ ขณะที่ DeFi ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารเหล่านี้เพื่อเข้าใช้งาน สำหรับผลกระทบของ DeFi ต่อภาคการเงินการธนาคาร จึงอาจมีนัยสำคัญเพียงในบางประเทศหรือบางกลุ่มเท่านั้น หากมองภาพรวมแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง

หมวดที่ 4 การประกัน (Insurance) เป็นหนึ่งในบริการทางการเงินที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงจาก DeFi เนื่องจากบริษัทประกันยังต้องรับความเสี่ยงเองเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การหาลูกค้า ประเมินความเสี่ยง การจ่ายค่าสินไหมทดแทน แม้จะมีธุรกิจรับประกันภัยต่อก็ตาม ดังนั้น DeFi สามารถเข้ามาช่วยให้บริษัทเหล่านั้นโอนความเสี่ยงบางส่วนให้กับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงได้ อย่างไรก็ดี ผลกระทบของ DeFi รูปแบบนี้ต่อภาคการเงินยังไม่ชัดเจน เนื่องจากแพลตฟอร์มยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

วิจัยกรุงศรีคาดว่าผลกระทบของ DeFi ที่อาจเกิดขึ้นกับภาคธนาคารในไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งในหมวดซื้อขายแลกเปลี่ยน การกู้ยืม และการชำระเงิน แต่ในอนาคตอาจมีผลกระทบเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปานกลางได้ โดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนอาจมีผลกระทบที่ชัดเจนในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่ม Generation Y และ Z อย่างไรก็ดี DeFi เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญให้ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับตัวครั้งใหญ่ ผ่านการผสมผสานระหว่างการให้บริการทางการเงินรูปแบบรวมศูนย์เข้ากับ DeFi เพื่อตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก ‘Research Intelligence: DeFi กับบทบาทของธนาคารในโลกการเงินโฉมใหม่ที่ไร้คนกลาง’ อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/defi-21