“เถ้าแก่น้อย” ขอ 2 ปี ฟื้นธุรกิจ ทวงคืนยอดขาย-กำไร กลับสู่จุดสูงสุด

“เถ้าแก่น้อย” ขอ 2 ปี ฟื้นธุรกิจ  ทวงคืนยอดขาย-กำไร กลับสู่จุดสูงสุด

ปฏิบัติการ Go Firm กลยุทธ์การพลิกฟื้นธุรกิจสาหร่ายสแน็ค “เถ้าแก่น้อย” ให้กลับมายืนหยัดทำยอดขาย และกำไรแตะระดับสูงสุดอีกครั้ง งานนี้แม่ทัพอายุน้อยพันล้าน “ต๊อบ อิทธิพัทธ์” วาดเป้าหมาย 2 ปี กลับไปมั่งคั่งอีกครั้ง

พลันที่โรคโควิด-19 ระบาดลามโลก สร้างวิกฤติอันใหญ่หลวงให้กับผู้คน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจ การค้าขายต่างๆ ต้องเผชิญสิ่งที่ยากจะรับมือนั่นคือ “ยอดขาย” ที่ดิ่งเหว ยิ่งกว่านั้นคือ “กำไร” ที่เคยกอบโกยสร้างความมั่งคั่งให้กับองค์กร ต้องตกอยู่ใน Red Zone คือ “ขาดทุน” เป็นประวัติการณ์กันถ้วนหน้า

“เถ้าแก่น้อย” เป็นอีกบริษัทที่ตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก เพราะภาพรวมยอดขาย 2 ปีมานี้หดตัวลงไปมาก ส่วน “กำไร” ไม่ต้องพูดถึงจากเคยทำได้ 700 กว่าล้านบาท ในปี 2559 ภาพรวม 9 เดือน ปี 2564 ทำกำไรได้เพียง 97 ล้านบาทเท่านั้น กลายเป็นความท้าทายแม่ทัพน้อยอย่าง อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN

++ Go Firm ลดต้นทุน โกยกำไร

ทว่า อิทธิพัทธ์ ประกาศชัด เป้าหมายภายใน 2 ปีข้างหน้า จะพาองค์กรกลับไปอยู่ในจุดสูงสุด ของการสร้างยอดขายกว่า 5,600 ล้านบาท ที่เคยทำไว้ในปี 2561 และพลิกทำกำไรให้ได้กว่า 700 ล้านบาท อีกครั้ง ซึ่งเคยทำได้ในปี 2559

มีภารกิจชัดเจน กลยุทธ์เพื่อเดินสู่เป้าหมายในปีนี้ปีหน้าคือ การมุ่งความฟิตปั๋งของธุรกิจหรือ Go Firm เป็น 1 ใน 3 กลยุทธ์ของบริษัท โดยบัญชาการทุกฝ่ายในบริษัทให้ “รีดไขมัน” ขั้นสุด ทั้งต้นทุนการผลิตสินค้า การดึงระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิต การบริหารจัดการวัตถุดิบ ดังนี้ การลดสต็อกวัตถุดิบสาหร่ายจาก 1 ปี เหลือเพียง 6 เดือน ประหยัดเงินมหาศาล การนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ(โครงการ P1) ลดพนักงานได้ 500-600 คน จากนี้จะลุยเฟส 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้ายิ่งขึ้น

“เถ้าแก่น้อย” ขอ 2 ปี ฟื้นธุรกิจ  ทวงคืนยอดขาย-กำไร กลับสู่จุดสูงสุด

นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าใหม่เจาะตลาดเดิม และขยายตลาดใหม่ ชูหัวหอกสแน็คสาหร่ายทอด-อบมากขึ้น เพราะทำ “กำไรดี” ต้นทุนการผลิตยังดีด้วย

“สาหร่ายทอดยิ่งขายเยอะ กำไรยิ่งดี”

ขณะเดียวกันต้องปรับกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าใหม่(NPD)ให้มีกำไรที่ดี ทั้งสแน็คสาหร่าย และเครื่องดื่ม ปรับบรรจุภัณฑ์สแน็คสาหร่ายใหม่ให้เหมาะสมกับต้นทุน ในห้วงเวลา 1-2 ปีนี้ ยังต้องเบรกการลงทุนใหญ่ๆ แต่ยังคง “ลงทุนเบาๆ” ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต

“ขอเวลา 2 ปี เพื่อ Drive ยอดขายและกำไรให้กลับไปอยู่จุดที่ดีสุดที่เถ้าแก่น้อยเคยทำได้คือ มียอดขาย 5,600 ล้านบาท ในปี 2561 มีกำไรกว่า 700 ล้านบาท ในปี 2559 โดยใน 2 ปีนี้ บริษัทจะเน้นปรับเปลี่ยนภายในองค์กร บริหารจัดการต้นทุน เพื่อกลับไปอยู่ในจุดเดิม ขณะเดียวกันจะเร่งยอดขายให้ได้ตามเป้า เพราะดีมานด์ทั้งไทยและต่างประเทศกลับมาแล้ว หากทำยอดขายตามเป้า จะส่งผลให้ใช้กำลังการผลิตเกิดประโยชน์สูงสุด และกำไรจะดีขึ้นทันที”

“เถ้าแก่น้อย” ขอ 2 ปี ฟื้นธุรกิจ  ทวงคืนยอดขาย-กำไร กลับสู่จุดสูงสุด

++ตลาดจีนโจทย์ยาก เถ้าแก่น้อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคทองที่การท่องเที่ยวบูม และ “จีน” เป็นขุมทรัพย์สำคัญของธุรกิจ “เถ้าแก่น้อย” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่มาก โดยตลาดในประเทศมีนักท่องเที่ยวจีนมาหอบสแน็คสาหร่ายกลับประเทศเป็นลังๆ ส่วนตลาดในประเทศจีนเติบโตร้อนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งที่ผ่านมากลายเป็นเค้กก้อนโตเกิน “ครึ่ง” ของบริษัท เฉพาะปีก่อนจีนทำรายได้กว่า 40% ของพอร์ตโฟลิโอ

“โอกาส” มาพร้อมความเสี่ยงเสมอ ที่สุดแล้วขุมทองกลายเป็นจุดที่ดึงให้ธุรกิจดำดิ่ง จากวิกฤติโควิด-19

ที่ผ่านมา บริษัทพยายามแก้โจทย์ด้วยการนำสินค้าชานม JustDrink จากไต้หวันมากอบกู้ยอดขาย และหวังวันที่ท่องเที่ยวฟื้นตัว ชาวจีนจะกลับมาเที่ยวไทยบริโภคทั้ง “สาหร่ายและชานม” ของบริษัท

ขณะที่การแก้โจทย์ปัจจุบันคือ การหาตัวแทนจำหน่ายสินค้าในจีนเพิ่ม จากเดิม “รายเดียว” ค้าขายให้ทุกช่องทาง ต้องคิด-ทำใหม่ ด้วยการมีตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม ที่แต่ละรายมีจุดแข็ง ศักยภาพเด่นทำการค้าในช่องทางที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นช่องทางร้านค้าทั่วไป ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ และอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่ง “ออนไลน์” เป็นสิ่งที่เถ้าแก่น้อยพยายามเจาะให้ได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีสินค้าขายบน TMALL และ JD รวมถึงหน้าร้านอื่นๆ

“ออนไลน์คือ ตลาดอนาคตที่สำคัญในประเทศจีน”

“เถ้าแก่น้อย” ขอ 2 ปี ฟื้นธุรกิจ  ทวงคืนยอดขาย-กำไร กลับสู่จุดสูงสุด

ส่วนสินค้าจะผลักดันให้มีพอร์ตโฟลิโอครบครันรายการ(SKUs)อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กชีท จากที่มีสาหร่ายม้วนขายดีอยู่แล้ว ทั้งหมดเพื่อรองรับ “ดีมานด์” ในประเทศจีนที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 3 ยอดขายเติบโต 119% จากไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 4 ตลาดฟื้นตัวจะเป็นแรงส่งให้ยอดขายทั้งปีจากจีนแตะ 400 ล้านบาท เท่าปีก่อนได้

++น้ำมัน-ค่าระวางเรือแพงทุบซ้ำส่งออก

ตลาดต่างประเทศไม่ได้ฟื้นตัวแค่แดนมังกร แต่สหรัฐหนึ่งตลาดสำคัญของเถ้าแก่น้อยกลับมาคึกคักเช่นกัน โดยห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ COSCO มีความต้องการสินค้าเข้าไปเติมบนชั้นวางอย่างมาก แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อปัญหาใหญ่ที่ผู้ส่งออกต้องชะตากรรมเดียวกันคือ “ค่าระวางเรือ” ที่แพงระยับ ปรับขึ้นหลาย “เท่าตัว” และการหาตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้ายากยิ่งนัก

“การบริโภคในสหรัฐ กลับมา COSCO เรียกสินค้าจากเถ้าแก่น้อยไปเติม แต่ก็เจอกำแพงจากไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งที่มี PO(Purchase Order :ใบสั่งซื้อ) เข้ามามากมาย ทำให้ยอดขายไม่ได้อย่างที่หวัง”

ส่วนตลาดเอเชีย ดีมานด์ขยายตัวทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไต้หวัน ซึ่งการทำตลาด บริษัทพึ่งพลังเทนเซนต์ โดยจับมือเกมในเครืออย่าง PUBG ตอบโจทย์เหล่าเกมเมอร์ ซึ่งเป็นเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยทำงาน ที่จะเป็นอำนาจซื้อในระยะยาวด้วย

สำหรับภาพรวมผลประกอบการ 9 เดือน บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,533.7 ล้านบาท ลดลง 18% และมีกำไรสุทธิ 97.7 ล้านบาท ลดลง 63% ปัจจุบันยอดขายในประเทศสัดส่วน 42% ต่างประเทศ 58% อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตสาหร่ายสแน็คเหลือเพียง 35% เท่านั้น จากปกติผลิตราว 9,600 ตันต่อปี จึงมีผลให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์