ลุ้น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ กระตุ้นโค้งท้าย ดันไทยเที่ยวไทยปีนี้แตะ 60 ล้านคน
ย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยคาดการณ์แนวโน้มตลาด “ท่องเที่ยวภายในประเทศ” ว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยออกเดินทาง 100 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สร้างรายได้ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%
กระทั่งเจอการระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้างและรุนแรงจนยอดผู้ติดเชื้อใหม่ทำนิวไฮทะลุ 2 หมื่นคนต่อวันเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แม้สถานการณ์ขณะนี้จะคลี่คลาย มียอดผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1 หมื่นคนต้นๆ ต่อวัน และประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่ทันสำหรับการกระตุ้นยอดไทยเที่ยวไทยให้ทะยานสู่เป้าหมายเดิม
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ล่าสุด ททท. ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มตลาดท่องเที่ยวในประเทศปี 2564 มีนักท่องเที่ยวไทย 60 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 34% เมื่อเทียบกับปี 2563 สร้างรายได้ 3.2 แสนล้านบาท ลดลงในอัตราเดียวกัน
“ททท.คาดหวังว่าโครงการรัฐกระตุ้นภาคท่องเที่ยวทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และ ทัวร์เที่ยวไทย จะเป็นตัวขับเคลื่อนกระแสการเดินทางในช่วงปลายปีซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซัน โดยจากการติดตามกระแสการจองสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันฯ พบว่ามียอดการจองวันละประมาณ 50,000 ห้อง (คืน)”
ทั้งนี้จากข้อมูลบนเว็บไซต์ เราเที่ยวด้วยกัน.com วานนี้ (18 ต.ค.) เวลา 16.30 น. พบว่ามีจำนวนสิทธิที่พักคงเหลือประมาณ 1.58 ล้านสิทธิ (คืน) จากจำนวนสิทธิทั้งหมด 2 ล้านสิทธิของเฟส 3 หลังเปิดให้นักท่องเที่ยวเริ่มจองสิทธิเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา และสามารถใช้สิทธิออกเดินทางจริงได้ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2564-31 ม.ค.2565
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ขณะนี้พบสัญญาณนักท่องเที่ยวไทยเริ่มมีความต้องการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากอัตราการเข้าพักเดือน ก.ย.ที่เป็นบวกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจากการสำรวจอัตราการเข้าพักในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าอัตราการเข้าพักในสถานพักแรมของเดือน ก.ย. มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะโรงแรมและที่พักที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯไม่เกิน 300 กิโลเมตร
ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลพบว่า “ชลบุรี” เป็นจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) สูงที่สุด โดยมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจาก 1% ในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 15% ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้จังหวัดที่มีอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นรองลงมา ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบุรี (ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) พระนครศรีอยุธยา และนครราชสีมา
สำหรับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากการเข้าพักในสถานพักแรม เฉพาะกลุ่ม “โรงแรมระดับ 4 ดาว” ที่ใช้ “กลยุทธ์ราคา” ในการทำตลาด เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งจากโรงแรมระดับ 5 ดาว และอาศัยความได้เปรียบของทำเลและสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักที่ดีกว่าโรงแรมระดับรองลงมา
จากการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยังพบด้วยว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะพักโรงแรมและที่พักที่มี “ความเป็นส่วนตัว” หรือเป็นสถานที่ที่มีผู้คนไม่หนาแน่น เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่าที่พักประเภทรีสอร์ทแบบ “วิลล่า” และ “พูลวิลล่า” หรือสถานที่พักแรมในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความเป็นส่วนตัว จะเป็นกลุ่มแรกที่มีการฟื้นตัว ในขณะที่ที่พักประเภทโรงแรม หรือสถานที่พักแรมที่อยู่ในแหล่งที่ผู้คนพลุกพล่าน จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย
ด้านรายได้จากตลาด “ไทยเที่ยวไทย” ประเมินว่ามีโอกาสฟื้นตัวในช่วงปลายปีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นการเดินทางของรัฐบาล เนื่องจากในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีถือเป็นไฮซีซันที่สำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและมีช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน เป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง และไปในระยะทางที่ไกลขึ้น