"ซิโนไทย - เนาวรัตน์" ร่วมวง ชิงสายสีม่วงใต้ 7.8 หมื่นล้าน

"ซิโนไทย - เนาวรัตน์" ร่วมวง ชิงสายสีม่วงใต้ 7.8 หมื่นล้าน

เอกชนรับเหมาเตรียมแข่งเดือด ชิงโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 7.8 หมื่นล้าน ซิโนไทย - เนาวรัตน์พัฒนาการ ยันร่วมลงสนาม ด้าน รฟม.แบ่งเค้ก 6 สัญญา เปิดประมูลปีนี้

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมซื้อซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มูลค่าราว 7.8 หมื่นล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมประกาศขายซองและประกวดราคาในปีนี้

อีกทั้งบริษัทยังมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินราว 1.4 แสนล้านบาท โดยยืนยันที่จะเข้าร่วมประมูลกับพันธมิตรในกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR เช่นเดิม ขณะที่งานในมือ (backlog) ปัจจุบันมีอยู่ราว 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าน่าจะรับรู้รายได้อีก 2-3 ปี เป็นงานเอกชน 70% งานภาครัฐ 30%

โดยปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ 4 โครงการ ได้แก่

1.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โซน C งานก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ วงเงินกว่า 6,200 ล้านบาท

2.รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

3.ขุดคลองของกรมชลประทาน วงเงิน 3,500 ล้านบาท

4.ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ก่อสร้างโยธา มูลค่าราว 7-8 พันล้านบาท

ด้านนายปสันน สวัสดิ์บุรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 บริษัทเตรียมเข้าประมูลโครงการก่อสร้างใหม่อีกหลายโครงการ มูลค่ารวมประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะชนะการประมูลประมาณ 9-10% จากมูลค่าโครงการที่เข้าประมูลทั้งหมด อีกทั้งบริษัทยังสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

อ่านข่าว : “พัทยา”รื้อแผนโมโนเรล ต่อเส้นทางเชื่อมไฮสปีด

 

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ขณะนี้ รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าหากไม่มีปัญหาติดขัด จะสามารถประกาศขายซอง เริ่มขั้นตอนประกวดราคาได้ภายในปีนี้ และได้ตัวเอกชนผู้รับจ้างในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า

สำหรับร่างเอกสารประกวดราคานี้ ถือเป็นการประกวดราคาครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2564 รฟม.ได้ประกาศยกเลิกประกวดราคาโครงการดังกล่าว เนื่องจากพบว่าขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนตามระบบข้อตกลงคุณธรรม จึงเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างใหม่ให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด

โดย รฟม.จะแบ่งการประกวดราคาออกเป็น 6 สัญญา รวมมูลค่าราว 7.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ลักษณะงานจะเป็นงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 4.87 กิโลเมตร และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 3 สถานี

สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้าฯ ลักษณะงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้าฯระยะทางประมาณ 2.33 กิโลเมตร และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 3 สถานี

สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพระพุทธยอดฟ้า ลักษณะงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพระพุทธยอดฟ้า ระยะทางประมาณ 3.12 กิโลเมตร และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 2 สถานี

สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า-ดาวคะนอง ลักษณะงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า-ดาวคะนอง ระยะทางประมาณ 3.97 กิโลเมตร และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 2 สถานี

สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) ลักษณะงานก่อสร้างทางวิ่งยกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน ระยะทางประมาณ 9.34 กิโลเมตร และสถานียกระดับ จำนวน 7 สถานี อาคารจอดรถไฟฟ้า และอาคารจอดแล้วจร

สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยโครงการนี้จะมีระยะทางประมาณ 23.6 กิโลเมตร มี 10 สถานีใต้ดิน ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร และ 7 สถานียกระดับ ระยะทาง 10.0 กิโลเมตร รวม 17 สถานี

โดย รฟม.มีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570