กนอ.เร่ง สมาร์ทปาร์ค-มาบตาพุดเฟส 3 รับลงทุนหลังโควิด

กนอ.เร่ง สมาร์ทปาร์ค-มาบตาพุดเฟส 3 รับลงทุนหลังโควิด

กนอ.เร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค พร้อมมาบตาพุดเฟส 3 รองรับการลงทุนหลังสถานการณ์โควิด-19 และความต้องการ LNG

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “EEC Future : ขับเคลื่อนอีอีซี...ฟื้นเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2564 โดยในช่วงเสวนาหัวข้อ “EEC Future : เอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นเศรษฐกิจไทย” เพื่อนำเสนอการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นายวีริศ อัมระปาลการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการที่ กนอ.จะให้ความสำคัญในฐานะโครงการเรือธง ได้แก่ โครงการสมาร์ทปาร์ค ในพื้นที่ 1,383 ไร่ และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 พื้นที่ 1,000 ไร่ โดยในปัจจุบันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ออกแบบว่าสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่เป็น New S curve โดยโฟกัส 4 ธุรกิจ ได้แก่ 

1.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์

2.อุตสาหกรรมการแพทย์

3.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

4.อุตสาหกรรมดิิจิทัล

โดยการลงทุนจะสร้างมูลค่าจีดีพีของประเทศถึง 53,000 ล้านบาท และสามารถเพิ่มการจ้างงานของบุคลากร 7,500 คน สร้างเงินหมุนเวียน 1,400 ล้านบาทต่อปี และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่รอบๆพื้นที่

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้เตรียมพื้นที่ไว้ 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุน 5.54 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งการลงทุนเป็น 2 ช่วง คือ

1.งานถมทะเล 1.29 หมื่นล้านบาท

2.งานท่าเทียบเรือการลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท

จากนั้นช่วงที่ 2 เป็นการลงทุนท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 4.3 พันล้านบาท และการลงทุนคลังสินค้า 3.2 พันล้านบาท โดยโครงการนี้จะมีประโยชน์กับประเทศ ได้แก่การเกิดท่าเรือขนาดใหญ่ของอาเซียน และท่าเรือที่รองรับการนำเข้า LNG การสร้างงานเพิ่มขึ้นให้กับงานคนในพื้นที่ 

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ถมทะเลที่คืบหน้าไปมาก คาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะเริ่มก่อสร้าง เพื่อเพิ่มพื้นที่ดินราว 1 พันไร่ เป้าหมายสร้างเสร็จปี 2567 โดยแบ่งพื้นที่ 450 ไร่เก็บตะกอน 550 ที่เหลือจะใช้ใน 3 โครงการ คือ ท่าเรือสินค้าเหลว ก๊าซ และสินค้า

ส่วนของกัลฟ์ได้พื้นที่ 200 ไร่ ทำแอลเอ็นจีเทอร์มินัล เป็นส่วนที่ 2 ที่บริษัทต้องดำเนินการ ใช้เงินลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท รองรับแอลเอ็นจี 10 ล้านตันต่อปี โดยจะสร้างให้เสร็จปี 2571

“ตอนนี้โครงการไปได้ดีไม่มีปัญหาใหญ่อะไร มีเล็กน้อยเรื่องคุยแบบก่อสร้าง ที่ต้องหารือกับ กนอ. ซึ่งเราอยากให้แบบแล้วเสร็จเรียบร้อยก่อนดำเนินงาน แต่โดยภาพรวมใหญ่ยังเป็นไปตามแผนทั้งหมด”

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะทำพัฒนาท่าเรือคอนเทนเนอร์ โดยจะเป็นท่าเรือสำคัญหลังจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเติบโต 6% ต่อเนื่อง แต่มาลดลงช่วงโควิด-19 เหลือ 11 ล้านตู้ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 16 ล้านตู้ และอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นเฉลี่ย 20 ล้านตู้

ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ขั้นตอนสำนักงานอัยการตรวจสอบร่างสัญญา คาดว่าเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ จะลงนามสัญญา โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะถมทะเลให้เสร็จภายใน 2 ปี หรือภายในปี 2566 หลังจากนั้นเอกชนจะไปติดตั้งอุปกรณ์เพื่อขนส่งตู้คอนเนอร์เพื่อ ขยายขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ เพิ่มอีก 4 ล้านตู้ เพื่อรองรับได้อีก 10 ปี

นอกจากนี้ กัลฟ์มีแผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรืออัตโนมัติ 100% แห่งแรกของไทย โดยเพิ่มการขนถ่ายสินค้าผ่านระบบรางเป็น 30% ของกำลังยกตู้ เพื่อลดการขนส่งทางรถ และท่าเรือนี้จะรองรับเรือลำใหญ่ขนาด 2.2 หมื่นตู้ ยาว 300 เมตร ซึ่งตอบรับเทรนด์ของโลกที่ที่ประหยัดทรัพยากร โดยโครงการนี้จะใช้เงินลงทุน 3.1 หมื่นล้าน