TNH - ถือ

TNH - ถือ

ครึ่งแรกปี 64 กำไรแผ่วลง คาดจะฟื้นครึ่งปีหลัง

ประเด็นสำคัญในการลงทุน

Ø งวด 2Q64 กำไรสุทธิลดลง 30%QoQ และ 20%YoY : งวดไตรมาส 2Q64 สิ้นสุด 31 ม.ค. 64 บริษัทมีกําไรสุทธิ 49 ล้านบาท ลดลง 30%QoQ และ 20%YoY เนื่องจาก 1) มีรายได้ 490 ล้านบาทลดลง 1%QoQ และ 11%YoY รับผลกระทบจากคลัสเตอร์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มใหญ่ที่จ.สมุทรสาครในเดือนธ.ค. 63 ซึ่งอยู่ในช่วงกลางของไตรมาสทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้บริการทางการแพทย์กรณีไม่เร่งด่วนฉุกเฉิน เช่น บริการด้านทันตกรรม บริการตรวจสุขภาพ เนื่องจากเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่มีความเสี่ยงสูงจึงชะลอการเข้ารับบริการออกไปก่อน 2) อัตรากําไรขั้นต้นลดลงเหลือ 21% จาก 26% ในช่วง 1Q64 และ 24% ในช่วง 2Q63 และ 3) การจ่ายโบนัสประจำปีให้กับพนักงานทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4%QoQ ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิในช่วง 2Q64 ลดเหลือ 10% จากระดับ 14% ในงวด 1Q64 และ 11% ในงวด 2Q63 ทั้งนี้ กําไรงวด 6M64 เท่ากับ 120 ล้านบาท ลดลง 28%YoY

Ø คงประมาณการกําไรปี 2564 ตามเดิม : กำไรงวด 6M64 คิดเป็น 43% ของประมาณการทั้งปี  ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการรายได้จากการรักษาพยาบาลและกำไรสุทธิปี 2564 ตามเดิมที่ 2,035 ล้านบาทเติบโต 1%YoY  และ 280 ล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้นเนื่องจากครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่  โดยมีรายได้จากศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและศูนย์ตาครบวงจรที่เปิดบริการราวเดือนธ.ค. 2563  ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการจากโรคกล้ามเนื้อ กระดูก สมอง หัวใจ ปอด ระบบทางเดินหายใจ และกิจกรรมบำบัดเด็กที่มีความผิดปกติในด้านพัฒนาการรวมทั้งการเพิ่มรอบให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมซึ่งจะเป็นการรับรู้รายได้เต็มปีมาชดเชย   

Ø เปิดเพิ่มศูนย์การรักษาบริการเพิ่มเติมรองรับสังคมผู้สูงอายุและคนรักสุขภาพ : ตั้งเป้าผู้นำอันดับ 1 โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฝั่งตะวันออก และภูมิภาคตะวันออก ด้วยงบลงทุน 300 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารศูนย์รังสีรักษาซึ่งผู้บริหารคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จราวปลายปี 64 และศูนย์บริการรักษาใหม่ 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ปลูกถ่ายไต ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวมเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการรักษาพยาบาลภายใต้แนวคิด “Personalizer Healthcare” มุ่งเน้นดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนเกิดโรคเพิ่มเติมจากปี 63 ที่เปิดศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกระแสคนรักสุขภาพมากขึ้น   ส่วนโครงการโรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 มูลค่า 3,000 ล้านบาทคาดเดินหน้าก่อสร้างได้ภายในปี 64 ซึ่งได้รวมไว้ในประมาณการแล้ว  ทั้งนี้ บริษัทยังคงไม่ได้ใช้วงเงินกู้แต่อย่างใดและใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน  รวมทั้งยังไม่มีภาระหนี้สินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (Gearing Ratio เท่ากับศูนย์) จึงไม่มีภาระต้นทุนทางการเงินและไม่น่ากังวลหากจะเริ่มกู้เงินในอนาคต  

Ø คงคําแนะนํา “ถือ” ราคาหุ้นสะท้อนราคาเหมาะสมแล้ว : เรามีมุมมองบวกต่อแนวโน้มธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ในการประเมินราคาเหมาะสมโดยใช้สมมติฐาน Prospected PERที่ระดับ 19 เท่าซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในตลาด SETที่ซื้อขายที่ระดับ 50 เท่า (ดังแสดงในตารางข้างล่าง) ประมาณการกําไรต่อหุ้นสำหรับปี 2564 เท่ากับ 55 บาท คํานวณได้ราคาเหมาะสมเท่ากับ 30 บาท ใกล้เคียงกับราคาปิดล่าสุด และคาดการณ์  dividend yield ราว 1.5% ต่อปี จึงคงคําแนะนํา “ถือ”

ปัจจัยเสี่ยง

1) จำนวนผู้ป่วยลดลง จากก่อนกสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
2) การก่อสร้างรพ.ไทยนครินทร์ 2 มีความล่าช้าจากแผนจากการทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด

3) คู่แข่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง