‘สรัฐ เตกาญจนวนิช’จากวิศวะฯสู่ถนนธุรกิจ

‘สรัฐ เตกาญจนวนิช’จากวิศวะฯสู่ถนนธุรกิจ

จบวิศวกรรมหักเหความฝันสู่ธุรกิจ สานต่อผลิตเลนส์แว่นตาของลุง ยุคธุรกิจเปลี่ยนเฟ้นหาทายาทมืออาชีพ ภารกิจ ‘สรัฐ เตกาญจนวนิช'ต้องพาองค์กรสู่สากล

แม้จะเรียนจบมาในสายวิศวกรรมศาสตร์ ตามรอยพี่ชาย ที่กำลังเดินบนถนนคนสายอาชีพวิศวกร ขณะที่พ่อแม่เป็นหมอ แต่น้องชายคนเล็กของบ้าน “สรัฐ เตกาญจนวนิช” ผู้อำนวยการสานักวางแผนธุรกิจและการเงิน บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จากัด(มหาชน) หรือ TOG กลับเลือกเส้นทางที่แตกต่าง หลังจากอ่านหนังสือ “Rich Dad Poor Dad” ความฝันอยากเป็น “นักธุรกิจ" ก็ผุดพราย

โดยได้แรงบันดาลใจจากประโยคในหน้าหนังสือที่ว่า“คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้เรียนเรื่องเงินจึงต้องทำงานเพื่อเงิน เพราะการทำงานเพื่อเงินนั้นง่ายกว่าเรียนรู้ให้เงินทำงาน โดยไม่รู้ว่าเงินคือจุดเริ่มแห่งปัญหา”

นั่นคือวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานเพื่อรับเงิน หรือสายอาชีพอื่นที่เขาเห็นพ่อแม่เป็นหมอ ต้องทำงานหนัก แต่กลับยังไต่ไปไม่ถึงความมั่งคั่ง เขาจึงหักเหความฝันพุ่งเป้าไปสู่ถนนคนทำธุรกิจ เพราะคิดว่าอยากจะเป็นคนที่ใช้เงินให้มากกว่าทำงานเพื่อเงิน

แม้ความฝันจะบังเกิดขึ้นแล้ว แต่การไปสู่จุดหมายกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

แรกเริ่มจากการเป็นเด็กฝึกงานให้กับธนาคารยูโอบี จำกัด(มหาชน) จากคนที่ไม่เคยมีพื้นฐานความรู้ด้านบัญชี การเงิน แต่ต้องมาทำงานแข่งกับคนเรียนมาโดยตรง เขาจึงต้องอ่านหนังสือและทำงานหนักไปพร้อมกัน

ในเมื่อใจมันสู้ สรัฐตั้งหน้าตั้งตาเดินหน้าฝึกงานในสายอาชีพการเงิน จนได้รับความไว้วางใจในตำแหน่ง ผู้จัดการสินเชื่อ งานวาณิชธนกิจ ในธนาคารยูโอบี ซึ่งเป็นยุคที่ยูโอบี เปิดกว้างรับนักศึกษาต่างสายเพื่อทำงานแบบ Rotation (หมุนเวียน)

หลังจากทำงานที่ยูโอบี ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ลุงของเขา ดร.สว่าง ประจักษ์ธรรม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ TOG ผู้ผลิตเลนส์แว่นตา เกิดเห็นแวว ในยุครอยต่อที่กำลังมองหาทายาทสานต่อธุรกิจ

เขาจึงเป็นหนึ่งในทายาทของตระกูลที่ถูกทาบทามให้มาทำงานด้วย

เจ้าตัวตกปากรับคำแม้คนรอบข้างเขา จะไม่มีใครเห็นด้วย

ถนนเส้นนี้ไม่ได้ราบรื่น อุตสาหกรรมนี้เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่เพียงใครมาทำก็ได้ แต่ต้องเข้าใจสายการผลิตที่มีเทคนิคพิเศษ ต้องมีใจรักที่จะต่อยอดธุรกิจให้แข็งแกร่ง

"ผู้บริหารกำลังมองหา Successor (ผู้สืบทอด) หาหลายคนซึ่งไม่ใช่ผมคนเดียว ผมเป็นหนึ่งในคนที่ถูกชวนมาร่วมงาน อย่างแรกสุด ต้องรู้จักผลิตภัณฑ์ จึงมาทำงานด้านการขาย ก่อนขยับเป็นโปรดักส์เทนเนอร์ (ผู้อบรมด้านผลิตภัณฑ์) ซึ่งเลนส์แว่นตาไม่ใช่ใครก็ขายได้ แต่ต้องความเข้าใจสินค้าในเชิงลึกพอสมควร”

นั่นเป็นการเรียนรู้อีกขั้นของคำว่า “ศิลปะการขาย” ด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าต่างชาติกว่า 50 ประเทศที่แตกต่างกันทั้งภาษา วัฒนธรรรม รสนิยม รวมถึงขนาดธุรกิจตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ ธุรกิจครอบครัว และธุรกิจที่บริหารโดยมืออาชีพ

เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงแผนการทำงานของฝ่ายขายในยุคก่อนที่ดีลออเดอร์ธุรกิจมาได้โดยประธานคนเดียว แต่ในยุคนี้ที่เถ้าแก่เดินทางบ่อยไม่ได้ เขาจึงวางระบบสร้างทีมขายคอยบริหารและสื่อสารในแต่ละภูมิภาค โดยไม่ต้องอิงกับตัวบุคคล เพียงแต่ต้องสร้างแบรนด์จากชื่อเสียงในอดีตที่เคยทำมา

หลังเป็นเซลล์จนช่ำชอง จึงคิดที่จะไปเรียนต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัย Duke University’s Fuqua School of Business ในสหรัฐ เติมความรู้ด้านบริหารธุรกิจ จนรู้จักกับรุ่นพี่ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท เดอะควอนท์ กรุ๊ป บริษัทผู้รับวางแผนการเงิน และถูกทาบทามให้ไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง

ทว่า นั้นยังไม่ใช่คำตอบของงานที่ใช่!

“ทำงานที่นั่นก็ชอบเปิดโอกาสให้ทำงาน แต่ติดปัญหาไลฟ์สไตล์ที่ไม่มีเวลาเจอเพื่อน และเจอครอบครัวเลย เสาร์อาทิตย์ก็ยังทำงานเราทำงานมา 3 ปีประสบการณ์มากพอจนเห็นว่าไลฟ์สไตล์การทำงานหนัก แต่ไม่มีเวลากับตัวเอง และรูปแบบงานที่ใกล้เคียงเดิม จึงอยากหาประสบการณ์ใหม่"

โดยกลับมาทำงานให้กับTOGในยุคที่มีความท้าทายในปี 2558 ในยุคที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ในยุคที่องค์กรต้องการการเปลี่ยนแปลง เขาเข้ามาดูแลงานหลักด้านการเงินและบัญชี

ทว่า อีกสิ่งที่ท้าทายสำหรับเขา คือ การเปลี่ยนแปลงคนเก่าที่อยู่ในองค์กรมายาวนานให้รับกับรูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องใช้ศิลปะการบริหารขั้นสูงและการเจรจา เพียงแค่เริ่มต้นเปลี่ยนระบบไอที ก็เผชิญกับแรงต้าน จนต้องใช้เวลาเจรจาอยู่นานกว่าจะโอนอ่อน

สรัฐ ยังใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ โดยชูจุดแข็ง ความที่เป็น “ผู้ผลิตแว่นตา” ที่เข้มแข็งมาเป็นจุดขายในการรีแบรนด์ โดยเปลี่ยนจากแบรนด์ “Excelite” มาเป็น TOG เพราะชื่อเสียงของบริษัทที่ลูกค้ารู้จักดี และง่ายต่อการจดจำ พร้อมกับปรับโลโก้ให้ทันสมัย

นอกจากงานรีแบรนด์แล้วยังมีอีกหลายภารกิจที่ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจจากธุรกิจครอบครัวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ เพราะเขามองว่า

ธุรกิจเติบโตจากคนในครอบครัวมายาวนาน จนมีคนในครอบครัวอยู่ในฝ่ายบริหารมากกว่าครึ่ง อาจจะเป็นจุดเสี่ยงของการเติบโตในระยะยาว หากไม่วางระบบที่ดี

ขณะที่ปีนี้ถือเป็นปีแรกของการลงทุนด้านการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ด้วยงบมูลค่าลงทุน 400 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเลนส์เฉพาะบุคคลมากขึ้น

ส่วนงานนวัตกรรม ได้ต่อยอดจากผลงานวิจัยมาพัฒนาการผลิตในหลายด้าน อาทิ เลนส์แว่นตาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Leafeco) ซึ่งมีสารตั้งต้นเป็นพืช, เลนส์ TRIVEX และเลนส์ TIRBRID เลนส์ที่มีคุณสมบัติกันกระแทกสูง

ทั้งนี้ TOG ถือเป็นหนึ่งใน 20 บริษัทธุรกิจผู้ผลิตเลนส์ อิสระ ที่ไม่มีแบรนด์ ดำเนินธุรกิจมากว่า 45 ปี มีส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มผู้ผลิตไม่มีแบรนด์50% สำหรับรายได้ธุรกิจปัจจุบันอยู่ที่1,800ล้านบาท เติบโต5%โดยรายได้90%มาจากตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันกำลังเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศให้สูงขึ้น โดยร่วมกับร้านค้าพันธมิตรในเครือ เช่น หอแว่น และกลุ่มผู้กระจายสินค้าต่างๆ ร่วมกันทำการตลาดแบรนด์ร่วมกัน

กับเป้าหมายปั้นแบรนด์แว่นตาไทย เติบโตยั่งยืน