เกมประคองตัว โค้งสุดท้ายอสังหาฯ

เกมประคองตัว โค้งสุดท้ายอสังหาฯ

ศก.ไทยซบเซา ลากยาวข้ามปี กำลังซื้อไร้วี่แววฟื้น หลากธุรกิจผจญผลกระทบ “อสังหาริมทรัพย์” เซ็กเตอร์ใหญ่ไม่รอด ฟังกูรูทิ้งวรรคทอง ประคองธุรกิจ

เข้าโค้งสุดท้ายของปี 2559 ธุรกิจหลากเซ็กเตอร์ อาจหมดโอกาสลุ้นการเติบโต หลังปวงชนชาวไทยอยู่ในช่วงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ต่อเนื่องไปยังอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอย

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เพราะมรสุมรุมเร้ายังมี ทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนสูง โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน 2559 พบว่า มีสัดส่วนสูงถึง 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยประชาชน 85.7% มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% นับเป็นการเพิ่มสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 248,004 บาท บาท

ส่วนราคาผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) แรกของปีนี้ ยังคงหดตัว 0.7% การลงทุนภาคเอกชนยังคงถูกตั้งคำถามจากนักเศรษฐศาสตร์อย่าง “ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ถึงการชะลอลงทุนของทุนไทย ทั้งที่ภาครัฐเดินหน้าลงทุนไปแล้ว เช่นเดียวกับความรู้สึกของที่หลายคนที่เห็นชัดว่าการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เดินหน้าเท่าที่ควร 

ขณะที่เอกชนมองว่า โครงการที่รัฐลงทุนนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง ขณะที่โครงการใหม่ต้องรอการลงทุนในปีหน้า การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยังต้องจับตาดูเฮือกสุดท้ายปลายปี โดยเฉพาะจากความกังวลผลกระทบการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ กระทบจำนวนนักท่องเที่ยวอันดับ1อย่างจีน ที่จะลดเที่ยวไทย 

สถานการณ์เหล่านี้ ยังท้าทายให้ธุรกิจไทยหาทางฟันฝ่าในช่วงท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บรรดากูรูแห่งวงการมองสังเวียนที่อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง และมีหนทางใดที่จะประคับประคองธุรกิจให้ข้ามผ่านความเปราะบางเหล่านี้ไปได้ !

@แนวราบกึ่งทรงตัว-คอนโดต้องยิงให้แม่น

ภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ถือเป็นปี “กึ่งทรงตัว” ทั้งโครงการแนวราบ(บ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์) และแนวสูง(คอนโดมิเนียม) แนวราบไม่ติดลบมากนักมีโอกาสเติบโตบวกลบ 5% ส่วนแนวสูง “ติดลบแน่นอน” แต่ยอดโอนขยายตัวเพราะกินบุญเก่าของโครงการที่พัฒนาเมื่อ 2 ปีก่อน 

นี่เป็นมุมมองของอธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการ บริษัทศุภาลัย จำกัด

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้ หนีไม่พ้น “กำลังซื้อยังไม่ดี” โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่รายได้อิงพืชผลทางการเกษตร การหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ดี โดยตลาดอสังหาฯภูธรคิดเป็น 1 ใน 3 ของภาพรวมตลาดนับว่าไม่น้อย กลายเป็นปัจจัย “ฉุด” การเติบโต อีกสาเหตุที่กระทบธุรกิจอสังหาฯหนักหน่วง คือ ยอดปฏิเสธสินเชื่อ” (Rejection Rates) จากบรรดาธนาคาพาณิชย์ที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

การถูกสถาบันการเงินปัดให้สินเชื่อ ยังเกิดจากการที่ผู้บริโภคหลักแสนรายถูกขึ้นบัญชีดำ เครดิตบูโร” แม้ลูกหนี้จะชำระบัตรเครดิตไปแล้ว แต่ยังต้องติดอยู่ในระบบเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งอธิปมองว่า ทำให้ผู้บริโภคในรายที่ยังพอจะมีศักยภาพในการก่อหนี้ ไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงควรเร่งปลดล็อก เพื่อดันกำลังซื้ออสังหาฯโค้งท้ายปี

ภาวะเศรษฐกิจเวลานี้ ต้องระดมกำลังซื้อในประเทศ แต่คนที่เคลียร์หนี้กับแบงก์แล้ว แต่ยังก่อหนี้ใหม่ไม่ได้เป็นเวลา ปีมีอยู่หลักแสนราย เหมือนติดคุก ทำให้กำลังซื้อส่วนนี้หายไป

ขณะที่ยอดปฏิเสธสินเชื่อส่อเค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปีคาดการณ์อยู่ที่ 35% จากปีก่อน 27%  ลงลึกไปยังผู้ประกอบการบางรายมียอดลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50%

เป็นยอดที่สูงมาก ไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยที่อยู่อาศัยราคาถูกจะพบการปฏิเสธสินเชื่อเยอะกว่าของแพง

การนำทัพธุรกิจให้ไปตลอดรอดฝั่งยามนี้ สำหรับลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน นอกจากจะทดลองยื่นขอสินเชื่อก่อนขอสินเชื่อจริง (Pre- approve) ชิมลางตรวจสอบสถานะลูกค้าแล้ว ผู้ประกอบการอสังหาฯยังบริหารความเสี่ยงด้วยการกำหนดสัดส่วนเงินดาวน์ไว้สูง เพื่อให้สัดส่วนการขอสินเชื่อลดลง การที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อย่อมมากขึ้น

ถ้าผู้ประกอบการอยากรอด ต้องเลือกทำเลที่ตั้งโครงการในพื้นที่ที่ยังมีช่องว่างตลาด ออกแบบสินค้าให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ธรรมดา แตกต่างและคุ้มค่าเงิน ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องแย่งกัน มีช้อนส้อมเยอะกว่าเดิม แต่เค้กเท่าเดิม เป็นการบ้านที่ยากเหมือนกัน

ขณะที่ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจพรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตลาดอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมปีนี้ เป็นปีที่ต้องยิงให้แม่นยำ ผู้พัฒนาโครงการต้องทำตัวเป็นผู้สร้างตลาด (Market creator) โดยผู้ที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะสามารถสร้างตลาดใหม่ให้เกิดขึ้น มีโครงการดีเป็นบางโครงการ บางทำเล และบางเซ็กเมนท์

ทั้งนี้ ในภาวะที่ “ความเสี่ยง” มาก การควบคุมการลงทุนในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากโครงการขนาดใหญ่ เกิดเหตการณ์ไม่คาดฝันระหว่างทางย่อมมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ ได้เช่นกัน

มันคือการลงทุนใหญ่ อาจมีความสุขตอนวันเปิดโครงการเท่านั้น ส่วนโครงการขนาด 4,000-5,000 ล้านบาท เรา(พฤกษา)ยังทำ แต่ไม่บ้าใหญ่ทำเป็นหมื่นๆล้าน เราไม่มีนโยบาย เพราะต้องการรอบขายเร็วเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดความเสี่ยงการทำธุรกิจ

ส่วนสถานการปฏิเสธสินเชื่อของตลาดคอนโด ยังอยู่ที่ระดับ 25-30% ใกล้เคียงปีก่อนที่เกิดจากการขายกระดาษเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว และตลาดล่างยังคงมีแรงกดดันค่อนข้างสูงจากการถูกปฏิเสธสินเชื่อ กลับกันโครงการระดับกลาง-บน สถาบันการเงินก็แข่งกันงัดดอกเบี้ยจูงใจลูกค้าซื้อบ้านที่โปรไฟล์ดี ชนิดที่ “ดอกเบี้ยต่ำสุด” และถือเป็น“Best deal” กว่าที่เคยได้รับ

@ตลาดลักชัวรี่เดินหน้าเปิดโครงการ

ขณะที่โครงการอสังหาฯระดับหรู พบว่า ยังคงเดินหน้าเปิดโครงการต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ อาทิ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเล็กๆระดับลักชัวรี “วิลลาซโซ่ 10” บนทำเลทองกลางกรุงอย่างซอยเอกมัย 10 โครงการบ้านเดี่ยวหรูขนาด 6 ยูนิต ราคาขายสตาร์ทที่ 50.55-70.7 ล้านบาท แม้เปิดโครงการมา 1 ปี มียอดขาย 50%หรือจำนวน 3 ยูนิต ไม่ถือว่าล่าช้า และเป็นอัตราดูดซับโดยรวมถือว่าดีกว่าตลาดบ้านเดี่ยวหรูรอบนอกวิน จิระกรานนท์” กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ-ลิสท์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดฉายภาพ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการบ้านเดี่ยวหรูในไพร์ม แอเรีย ตั้งแต่พร้อมพงษ์ ทองหล่อและเอกมัย ยังขยายตัวต่อเนื่อง มีจำนวนโครงการเปิดขายราว 96 ยูนิต แบ่งเป็นระดับราคา 40 ล้านบาทขึ่นไป 76 ยูนิต ต่ำกว่า 40 ล้านบาท(20 ล้านบาทขึ้นไป)จำนวน 20 ยูนิต โดยการขายอยู่ในเกณฑ์ที่ดีสัดส่วน 46%และมีโครงการรอขาย 54%

ส่วนบ้านหรูโดยรวมในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีทั้งสิ้น 17 โครงการ จำนวนกว่า 1,023 ยูนิต แบ่งเป็นระดับราคา 40 ล้านบาทขึ้นไปจำนวน 630 ยูนิต ราคาต่ำกว่า 40 ล้านบาท จำนวน 403 ยูนิต แต่อัตราการขายออกไปอยู่ที่ 35%ต่ำกว่าทำเลทอง แต่ก็ถือว่ายังไปได้

สาเหตุที่โครงการหรูขยายตัวได้ เพราะมหาเศรษฐียังมีกำลังซื้อลูกค้าที่มาซื้อบ้านในโครงการเรา หลัง เป็นหลังแพงสุดกว่า 70 ล้านบาท และอีก หลัง 50 กว่าล้านบาท ล้วนนำเงินสดมาซื้อและทำให้เขามองว่าหนึ่งในทางรอดของธุรกิจอสังหาฯปีนี้คือการจับตลาดบน เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ขออะไรมาก นอกจากโปรดักท์ต้องดี มีส่วนลด

เศรษฐียังคงจับจ่ายใช้สอย แต่สิ่งที่จะเอื้อต่อการตัดสินใจยังเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกับธนะสิทธิ์ เฟื่องไพศาล กรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์มาร์ค เรสซิเดนซ์ จำกัด ที่เดินหน้าพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โฮมออฟฟิศระดับลักชัวรี “ดิ เอเลเมนท์ พระราม 9” จำนวน 27 ยูนิต มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท ราคาขายเริ่มต้นกว่า 22 ล้านบาท ซึ่งหลังเปิดตัวโครงการราว 1 เดือน สร้างยอดขายได้กว่า 40%

เขาบอกว่า ผลสำรวจของบริษัทไนท์แฟรงก์ พบว่าตลาดโฮมออฟฟิศมีซัพพลายราว 200 ยูนิตเท่านั้น ซึ่งยังน้อย และความต้องการยังมี ทำให้เขายังมองหาที่ดินขนาด 2-3 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ต่อเนื่อง

จากการสำรวจตลาดพบว่าผู้ประกอบการที่เปิดโครงการไป ปิดการขายได้หมดแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าซัพพลายถูกดูดซับไปค่อนข้างมาก

--------------------------------

รับสร้างบ้านหรู ไม่กระเทือน” 

ตลาด “รับสร้างบ้านหรู” ก็ไม่กระเทือน โดยสุรัตน์ชัย กึงฮะกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์เล่าว่า เศรษฐีที่ตัดสินใจจะสร้างบ้าน ไม่ใช่คิดวันนี้ แต่วางแผนล่วงหน้ามา 1-2 ปี อารมณ์เหมือนสนใจและเล็งนาฬิกาหรูอย่างปาเต๊ะ ฟิลลิปไว้แล้ว สถานะทางสังคมขยับขึ้น พร้อมเมื่อไหร่ ควักเงินซื้อทันที

ทั้งนี้ ตลาดรับสร้างบ้านมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท ตลาดหรูมีสัดส่วนราว 9%ยังเติบโตได้ 5%ขณะที่ตลาดรวมคาดว่าไม่มีการเติบโตแต่ก็ไม่ได้แย่ ไม่ถึงกับเลวร้าย เป็นปีที่โอเค โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านหรูโดย 9 เดือน เอ็มเพอเร่อร์มียอดขายเติบโตใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10%และหากปิดดีลได้อีก 2 หลัง จะทะลุเป้าที่ตั้งไว้ด้วย และยัง “ทุบสถิติบ้านแพง!” ของบริษัทที่ลูกค้าสร้างมูลค่ากว่า 320 ล้านบาท ก็จะเป็น 400 ล้านบาท ส่วนอีกหลัง ก็ราคาร่วมร้อยล้านบาทเช่นกัน

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทยังไม่วางแผนปรับตัวนักเพราะไม่น่าเชื่อว่าช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงานรายงานว่ายังมีลูกค้าติดต่อให้บริษัทสร้างบ้านหลายราย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นดีมานด์เดิมหรือใหม่ แต่เราไม่ได้มีแค่ ดีล ยังมีอีก 2-3 หลังที่กำลังคุยอยู่ โดยธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายเรา ถ้าคิดจะสร้างคิดมานานแล้ว ไม่ใช่คิดวันนี้ พอมีผลกระทบแล้วเปลี่ยนใจ กระบวนการตัดสินใจใช้เวลามาเป็นปี

เขาบอกอีกว่า ฐานลูกค้าของบริษัทได้ขยับการสร้างบ้านหรูมูลค่าแพงระยับกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป จาก 2-3 ปีก่อนที่เริ่มต้น 60-80 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของลูกค้าสูงขึ้น บริษัทก็มีมาตรฐานสร้างบ้านที่อายุใช้งานเกิน 100 ปี เพื่อให้เจ้าของส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานรุ่นถัดไป

ส่วนภาพรวมตลาดบ้านระดับล่างต่ำกว่า 2.5 ล้านบาท ยังอยู่ในอาการติดลบ อีกทั้งผู้ประกอบการแทบไม่มีใครรับแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจต่างๆ(Overhead)สูง และใช้ทรัพยากรเท่าๆกับราคาอื่น เช่น บ้าน 3 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท ใช้จำนวนคนงานก่อสร้างใกล้เคียงกัน 20 คน และระยะเวลาก่อสร้างไม่ต่างกัน เป็นต้น

หากอยากพาธุรกิจผ่านพ้นมรสุมช่วงนี้ต้องทำอย่างไร สุรัตน์ชัย แนะนำว่าต้องลดขนาดธุรกิจ (Down size)ลดต้นทุนการดำเนินงานลงทันที

“ลดอะไรก็ได้ แต่อย่าลดคน นั่นขอให้เป็นเรื่องสุดท้ายที่จะทำ” เขาบอกและพลิกมุมคิดควรพัฒนาคนให้มีทักษะความสามารถมากขึ้น ในค่าจ้างที่จ่าย

 “มองว่าธุรกิจรับสร้างบ้านปีนี้เป็นปีของการจ๊อกกิ้งเบาๆ พอไปได้ แต่ยังมีพลังแฝงอยู่เยอะ พร้อมที่จะวิ่งจ๊อกกิ้งกันไป อยู่ที่ว่าใครจะอึดกว่ากัน บางคนจ๊อกกิ้งนานไปก็หมดแรง แต่ของใครจะทนได้ระยะสั้น กลาง และยาวแบบมาราธอน

---------------------------------

ปีประคองตัว-เคลียร์สต็อก

มองย้อนกลับไปหลังปี 2556 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ นั่นคือปีทองของธุรกิจอสังหาฯ 

แต่ปีนี้สัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้น บอกว่า “ไม่ใช่ปีทอง แต่เป็นปีของการปรับฐานอสังหาฯ” โดยผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่น้อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะถือเป็นการเคลียร์สต็อก ของเก่า เพราะที่ผ่านมาซัพพลายล้นตลาด กระทั่งมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ ลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองซึ่งสิ้นสุดปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ช่วยระบายสต๊อกได้พอสมควร

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลาดอสังหาฯในปี 2559 จะเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 9.4 หมื่นยูนิต หดตัว 10-15% จากปีก่อนเปิดตัว 1.07 แสนยูนิต 

โครงการเปิดใหม่น้อย อย่าตกใจ เป็นเรื่องดี เพราะก่อนหน้านี้ตลาดโอเวอร์ ซัพพลาย เมื่อมีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ก็ช่วยให้ตลาดมีความสมดุลขึ้น

เขากล่าวอีกว่า หลังมีปัจจัยภายในประเทศเกิดขึ้น ยังส่งให้ผู้ประกอบการปรับตัว โดยหลายรายเลื่อนเปิดตัวโครงการในไตรมาส 4 ไปเป็นปีหน้า และผู้ประกอบการก็ไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าตลาดมีแรงส่งจากงานมหกรรมบ้านและคอนโดที่จบไปหมาดๆเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดได้ ส่วนแนวโน้มตลาดอสังหาฯปีหน้ายังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ แต่ยังมีสถานการณ์ที่น่าห่วงและต้องจับตาคือภาวะอสังหาฯในจีน ซึ่งมีภูมิศาตร์ใกล้ไทย เงินลงทุนที่ท่วมจีน การลงทุนมากทุกเมืองพัฒนาอาคารไม่ใช่แค่ 5-6 อาคาร แต่มากถึง 10-20 อาคาร ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกระเทือนถึงไทย

ถามหาปัจจัยบวกประชาชนบางส่วนจะปลดล็อคหนี้รถคันแรกปีนี้จะมาซื้ออสังหาฯไหม สัมมาบอกว่า “หัวหมดยังเหลือหาง” นั่นหมายถึงมีบางส่วนที่มีแรงซื้อ แต่สุดท้ายก็ยังต้องใช้เวลาเก็บเงินก้อนก่อนดาวน์ 

สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยของ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยนิยามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2559

เป็นปีที่อยู่ในระยะประคองตัว วิเคราะห์จากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนักพัฒนาปรับตัวค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดอสังหาฯระดับพรีเมียมที่หลายคนมองว่า “ยังดี” อาจใช่ แต่ตลาดดังกล่าวส่วนใหญ่ ไม่ใช่ตลาดคนไทย แต่อาศัยกำลังซื้อต่างชาติเป็นแรงหนุน อีกทั้งเป็นตลาดเล็กที่อยู่บนสุดของฐานพีระมิด สุดท้ายผู้ประกอบการก็ไปแย่งกันตรงนั้น ส่วนตลาดที่ยังไปได้ มองว่าเป็น “แนวราบ” เพราะผู้บริโภคซื้ออยู่จริง ไม่มีเก็งกำไรเหมือนตลาดคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตาม ปี 2559 มีโครงการคอนโดหรูระดับราคากว่า 2 แสนบาทต่อตารางเมตร(ตร.ม.) จำนวน 7 โครงการ ปี 2558 จำนวน 15 โครงการ ปี 2557 จำนวน 2 โครงการ และปี 2556 จำนวน 2 โครงการ

ปีนี้หนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยหนักจริงๆที่กระทบอสังหาฯ

พ้น 5 ปีผ่อนรถยนต์คันแรกที่จะปลดล็อกกว่า 1.1 ล้านคัน ถือว่าปล่อยผีกำลังซื้อใหม่หรือไม่ ประเด็นนี้ เขามองว่า อาจมีกำลังซื้อบางส่วนที่กลับมา ต้องจับตาดูว่าจะไหลไปซื้อบ้านหรือซื้อรถใหม่