เจาะกลยุทธ์แบรนด์ ยืนเหนือวิกฤติ

เจาะกลยุทธ์แบรนด์ ยืนเหนือวิกฤติ

การพาแบรนด์เข้าสู่เส้นชัย ฝ่ากระแสศก.กำลังซื้อฝืดเคือง ไม่่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครทำได้ จะแบรนด์เล็กหรือใหญ่หากเข้าใจโจทย์แบรนด์

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของปี 2558  จะไม่เข้าขั้น “วิกฤติ” แต่อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อยู่ที่ 2.8%  ก็ใช่ว่าจะได้อย่างใจนักธุรกิจ 

ซ้ำร้าย...! กำลังซื้อผู้บริโภคทั้งปียังอยู่ในภาวะ “ซบเซา” สร้างความกังวลใจว่าจะเกิด “ภาวะเงินฝืด” ตามมาในไม่ช้า

สถานการณ์ดังกล่าว กระเทือนภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทว่า ยังมีสินค้าและบริการอีกจำนวนหนึ่ง ที่ “ผ่า” ขวากหนามธุรกิจในปีที่ผ่านมามาได้อย่างงดงาม ด้วยการวางแผนการตลาดที่เข้าเป้า 

ยืนอยู่เหนือวิกฤติ ทั้งในมุมของการโกย ยอดขาย - ส่วนแบ่งการตลาด แบบสวนกระแส

สะท้อนจาก การประกาศผลสุดยอด “แผนการตลาดประจำปี 2558” หรือ “MAT Award 2015 ครั้งที่ 8”  ที่จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เพื่อตอกย้ำถึงการมีอยู่จริงของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในสังเวียนธุรกิจหินในปีที่ผ่านมา โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจที่ชัดเจน

คนอร์ จากบริษัทยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด เป็นแบรนด์ที่คว้ารางวัล Gold ไปครอบครอง จากผลงาน “Knorr Flavour of Home” หรือ อาหารคือหลักฐานของความรัก 

รู้หรือไม่ว่าแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของยูนิลีเวอร์คืออะไร?” 

คือคำถามที่ สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ต้องการเซอร์ไพรส์นักการตลาดในงานวันนั้น ก่อนที่เธอจะเฉลยว่า คือ “ผงปรุงรสแบรนด์คนอร์” ซึ่งอยู่ในตลาดโลกมายาวนานถึง 178 ปี 

ส่วนในไทยคนอร์เป็นแบรนด์ใหญ่อันดับ 4 ของยูนิลีเวอร์ ที่ทำตลาดมาเกือบ 40 ปีแล้ว

คนอร์ คือตัวอย่างของแบรนด์ที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล (Forever) นี่คือสิ่งที่แม่ทัพยูนิลีเวอร์ไทยต้องการสื่อสาร แม้คนอร์จะอยู่ในตลาดไทยยังไม่ถึงร้อยปีเหมือนบริษัทแม่ แต่สินค้าก็เติบโตสม่ำเสมอ ผ่านการทำตลาดของทีมงาน ซึ่งวันนี้กำลังพลิกไปอีก 1 ขั้น

เป็นที่ทราบกันดี 4Ps หรือส่วนประสมทางการตลาดนั้น ได้แก่ สินค้า (Product), ราคา (Price), ช่องทางจำหน่าย (Place) และกิจกรรมส่งเสริมตลาด (Promotion) 

ทว่า สำหรับยูนิลเวอร์ “สุพัตรา” บอกว่า ขอเพิ่มอีก 1 P นั่นคือ  “P-Purpose” หรือ เป้าหมาย 

ด้วยตระหนักว่า...การสร้างแบรนด์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน

เมื่อตีโจทย์ว่าคนอร์คือรสชาติของอาหาร ผสานกับรสชาติที่เกิดในบ้าน กลายเป็นการสื่อสารสิ่งนี้กับผู้บริโภค ขณะที่การทำตลาดในยุคนี้เลี่ยง ดิจิทัล” ไม่ได้ จึงตกผลึกเป็นการผลิตวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวการทำอาหารของแม่ให้ลูกที่อยู่ห่างไกล เสนอผ่านยูทูบ (Youtube) เรียกน้ำตาคนดู

แบรนด์ที่มีจุดมุ่งหมาย มี Purpose ที่จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รักตราบนานเท่านาน จุดเริ่มต้นของแคมเปญ Knorr Flavour of Home จึงนำเป้าหมายของคนอร์มาใส่ในหัวใจของแบรนด์ เป็นแคมเปญแรก”  

ธนาวัลย์ สิริวรภัทร ผู้จัดการอาวุโสผลิตภัณฑ์คนอร์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ขยายความต่อถึง  4 แนวคิดหลัก ที่ทำให้แคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จ ได้แก่

แคมเปญที่ดีที่ทรงพลังจะเกิดไม่ได้ ถ้าขาดเป้าหมายของแบรนด์ที่แข็งแรง รวมถึงการเข้าใจผู้บริโภคในเชิงลึก(Insight) ทำให้ผู้บริโภคผูกพันกับแคมเปญ 

นี่เป็นหัวใจของทุกการกระทำและทุกแผนการตลาดที่จะเชื่อมโยงอนาคต

คือความกล้าที่จะแตกต่าง โดยเฉพาะการทำกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล ที่จะต้องไม่ยึดติดกฎเกณฑ์เดิม เพราะโลกดิจิทัลทรงพลัง

ขณะเดียวกัน แบรนด์ต้องไม่ยึดิดอยู่กับกฎทองคำ (golden rule) เดิมๆ เช่น กำหนดว่าแบรนด์ต้องทำโฆษณาที่สื่อสารถึงผู้บริโภคใน 5 นาทีแรก โฆษณาต้องยาวแค่ 1.30 นาที หรือ 2 นาทีเท่านั้น กฎนี้ใช้ไม่ได้กับคนอร์ ตรงกันข้ามคนอร์ยังทำคลิปความยาว 8.30 นาที โดยไม่มีเรื่องของแบรนด์บรรจุในคอนเทนท์เลย 

แต่เรียกผู้ชมได้ 8 ล้านครั้งในเวลาเกือบ 1 เดือน เป็นต้น

การปฎิบัติการที่มีคุณภาพ เริ่มตั้งแต่การวางแผนงานที่ชัดเจน แต่ก็พร้อมที่จะยืดหยุ่นระหว่างการทำงานร่วมกับเอเยนซี เพราะคลิปโฆษณาที่ผลิตออกมา หากนำไปต่อยอดในส่วนอื่นๆอาจต้องปรับให้เหมาะสม และ เกิดจากแคมเปญมีเป้าหมายที่ดี แข็งแรงและมีพลัง สุดท้ายความปรารถนาดังกล่าวก็จะสะท้อนถึงต่อผู้บริโภค ทีมงาน ศูนย์จัดจำหน่าย ทีมงานจำหน่าย (เซลล์) ครอบครัว ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันว่าอาหารคือหลักฐานของความรัก และบ่งบอกว่าความสำเร็จของแคมเปญไม่ได้เกิดจากทีมงานเท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆอีกมากมาย

หัวใจหลักของกิจกรรมตลาดของยูนิลีเวอร์ขณะนี้ เป้าหมายของแบรนด์เป็นหัวใจในทุกการกระทำ ทั้งกลยุทธ์การตลาด สื่อโฆษณา กิจกรรมที่เราจะทำกับผู้บริโภค ตั้งต้นจากการนำรสชาติเข้าไปอยู่ในชีวิตของคน” เธอย้ำ

ส่วนผลลัพธ์ทางธุรกิจจากแคมเปญดังกล่าว ทำให้ยอดขายคนอร์ เติบโต 2% สวนทางตลาดผลิภัณฑ์อาหารที่เติบโตเพียง 0.1% เท่านั้น 

ที่สำคัญส่วนแบ่งตลาดของคนอร์เพิ่มเป็น 60%

รางวัล Silver มีผู้เข้าเส้นชัย 2 ราย คือผลงาน ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป เสือ มอร์ตาร์ ฉาบอิฐมวลเบา สูตรแพลทินัม โดยบริษัท สยามมอร์ตาร์ จำกัด ในเครือเอสซีจี เป็นสินค้าใหม่ที่อยู่บนวีถีการตลาดเอสซีจี (SCG Marketing way) ที่ต้องการส่งมอบสินค้านวัตกรรมสู่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน พร้อมส่งกลยุทธ์ตลาด “Trust-Building Marketing Strategy” ชู 4 ส่วนสำคัญ “Know Will Do Share” ขับเคลื่อนยอดขาย

จุดเริ่มต้นเสือมอร์ตาร์ ฉาบอิฐมวลเบา สูตรแพลทินัม พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ ผนังแตกร้าว ในอาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผู้บริโภคอาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่รู้หรือไม่ว่า ปัญหารอยแตกร้าวสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมากถึง 420-700 ล้านบาทต่อปี กระทบวงจรการก่อสร้าง ทำให้ต้องกลับมาซ่อมแซม จนต้องยืดเวลาทำงาน 15% หรือเสียเงินทอง 30,000-50,000 บาทต่อหลัง

ที่สำคัญขยะที่เกิดจากรอบร้าวแต่ละปีมีน้ำหนักเท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 635 ลำ !! 

ก่อนคลอดสินค้า นักการตลาดได้เก็บข้อมูลเชิงลึกอยู่นาน คุยกับลูกค้ามากมายจนทราบถึงสาเหตุการแตกร้าว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์นี่คือการรู้จริง หรือ know the trust การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีโมเลกุลยืดหยุ่นรายแรกของโลกเพื่อป้องกันการแตกร้าวมากขึ้น 80% เพื่อให้มั่นใจจึงทดลองและใช้งานจริงนาน 2 ปีจนมั่นใจในคุณภาพสินค้าค่อยปล่อยสู่ตลาด หรือ Do the right

ด้านกลยุทธ์การสื่อสารตลาด แคมเปญ เนื้อหาต่างๆจะพูดความจริงเท่านั้น Will say the fact มีเครื่องมือที่ช่วยพิสูจน์ว่าสินค้าดังกล่าวดีกว่าปูนฉาบทั่วไปจริงๆ ดึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มาบอกเล่าคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เป็นต้น 

และสุดท้าย Share for the better คือการแบ่งปันและส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับผนังแตกร้าวให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน ผู้รับเหมา ตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

ระยะเวลาเพียง 6 เดือนที่สินค้าเข้าทำตลาด ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของเสือมอร์ตาร์เพิ่มขึ้นเป็น 60% จาก 50%

แบรนด์โบราณที่ลุกมา “ปฏิวัติ” ตัวเองใหม่ ล้างภาพลักษณ์แบรนด์เชยเฉิ่ม ที่รู้จักกันเฉพาะภาคใต้ ฐานลูกค้าค่อยๆล้มหายตายจาก ขอก้าวสู่ความทันสมัยชิกๆคูลขายได้ทั่วประเทศ จนโดนใจกรรมการยกให้ผลงาน “Yes…Srichan” โดยบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด 

วิธีการคือตั้งโจทย์อย่างไรก็ได้ให้แบรนด์เก๊าเก่า โบราณๆเปลี่ยนความคิดผู้บริโภค ให้แบรนด์ดูอยู่ในสมัยนิยม เป็นวินเทจ มีความสัมพันธ์กับผู้บริโภคอีกครั้ง” นี่เป็นโจทย์ที่ “รวิศ หาญอุตสาหะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ตั้งไว้เพื่อหาวิธีแก้โจทย์

แม้จะเคยพยายามรีแบรนด์ “ผงหอมศรีจันทร์” เหลือแค่ “ศรีจันทร์” ปรับแพ็คเกจสินค้าตั้งแต่ปี 2557 ทว่าสินค้าก็ยังใช้ยากอยู่ดี กระทั่งตกผลึกพบว่า ปัญหาเกิดจาก P ตัวแรกคือโปรดักท์ที่ใช้ยาก เลยออกสินค้าใหม่ แป้งฝุ่นศรีจันทร์ (Srichan Translucent Powder)พยายามทำสินค้าให้ดีมากๆ นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ พัฟจากญี่ปุ่น ทำสินค้าเทียบเท่าเคาน์เตอร์แบรนด์ พร้อมตั้งราคาขายแป้ง 1 ตลับ 280 บาท จากสินค้าเดิมๆ 28 บาท

คนทำโปรดักท์และตั้งราคาต้องใจกล้ามากๆ เขาเล่าติดตลก เพราะผู้บริโภคต้องกล้าก้าวผ่านชื่อแบรนด์แสนเชย และราคาที่แพงขึ้นสิบเท่าเพื่อใช้แป้งฝุ่นศรีจันทร์ กลยุทธ์ต่อมาจึงลอนซ์โฆษณาใหม่บอกเล่าเรื่องราวแป้งคนไทยที่เข้าใจผู้บริโภคและผิวหน้าคนไทย 

“ผลคือคนชมโฆษณารูปสวยดี แต่ฉัน(ผู้บริโภค)ไม่เชื่อว่าสินค้าดี เพราะตลาดเครื่องสำอางในเมืองไทย ถ้าชื่อศรีจันทร์กำแพงเยอะมาก มีข้อเสียเปรียบเยอะมาก” เมื่อผู้บริโภคไม่เชื่อ บรรดาช่องทางจำหน่าย(Place)ก็ย่อมไม่เชื่อตามไปด้วย

เลยปล่อยโฆษณาตัวใหม่ เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง เริ่มตั้งแต่ใช้นางแบบต่างชาติ สร้างเซอร์ไพรส์สินค้าในลุค อินเตอร์สุดๆ โดยตบชื่อแบรนด์ทิ้งท้ายโฆษณา แม้กระทั่งช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ความงามชื่อดัง Jeaban.com และ Facebook ของศรีจันทร์ก็จะไม่ให้พื้นที่ 

ลูกค้าต้องไม่รู้ว่ามาจากเรา ให้เขาเซอร์ไพรส์ กลายเป็นเจ๋ง คนชอบมาก นั่งดูทีวีแล้วเงยหน้าขึ้นมา เพราะไม่ค่อยมีโฆษณาภาษาอังกฤษทั้งที่สินค้าไทยมาก ไม่น่ามีแบรนด์บ้าๆ กล้าทำหนังแบบนี้

นั่นกลายเป็นความสำเร็จ เมื่อผู้บริโภคกว่ากึ่งหนึ่งแม้ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ออกไปซื้อของเยอะมาก ส่วนช่องทางจำหน่ายก็ตอบรับดีกว่า 4,000 ร้าน ครอบคลุมเป้าหมายร้านค้าปลีกประเภทต่างๆ ทั้งโมเดิร์นเทรด ร้านความสวยงาม เป็นต้น

แม้คนกว่า 50% ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ออกไปซื้อของเยอะมาก แคมเปญประสบความสำเร็จ เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนภาพบริษัททั้งหมด จากเดิมศรีจันทร์เปรียบเทียบแป้งไทยๆ ราคาถูก 20-30 บาท ปัจจุบันในโซเชียลเทียบอินเตอร์แบรนด์ ทำให้เราเปลี่ยนสนามในการทำตลาดไปแล้ว"

ผลลัพธ์ธุรกิจแป้งฝุ่นศรีจันทร์กวาดย้อนขายปี 2558 ถึง 1.5 ล้านตลับ การเติบโตกว่า 1,000%! 

ของกิน วัสดุก่อสร้าง เครื่องสำอางต่างเผชิญปัญหากำลังซื้อซบเซา แต่ที่หนักกว่าเห็นจะเป็น ธุรกิจการเงิน กำลังซื้อตกว่าเลวร้ายแล้ว นี่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย แบกหนี้ครัวเรือนหลังแอ่น” การจะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเฉพาะ สินเชื่อ ดูจะไม่ใช่เวลาแน่ๆ

ทว่า บริษัท กรุงศรีคอนซูเมอร์ จำกัด ทำ ! ด้วยการออกบัตร กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า แพลทินัม และผลงาน กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า แพลทินัม สมาร์ททุกการใช้ สั่งได้ 0% ก็เข้าวินคว้ารางวัล Bronze มาครอง

การแข่งขัน” ในตลาดบัตรเครดิตนับว่า ดุเดือด โดยมีผู้ให้บริการ 19 ราย ออกบัตรเครดิตให้เลือกใช้มากถึง 160 หน้าบัตร แล้วผู้บริโภคจะเลือกใคร ?

เศรฐกิจปี 2558 จะซบเซา จึงกลายเป็นความท้าทายของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ด้วยว่า จะออกบัตรเครดิตยังไงให้โดนใจและตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งในภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ เข้าใจลูกค้ายากมาก” เมื่อกำลังซื้อคืออุปสรรค มองมุมใหม่เลยทำให้นักการตลาดหยิบประเด็นนี้มาตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเสียเลย และปล่อยบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า แพลทินัมเข้าทำตลาด

ขณะที่กลยุทธ์เด่นคือ “ผ่อน 0% สั่งได้” นาน 3 เดือน ดึงดูดลูกค้า โฆษณาเน้นการใช่จ่ายสิ่งที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน ค่าประกัน เป็นต้น 

และตบท้าย “อย่าฟุ่มเฟือย” เตือนสติผู้บริโภคที่รูดปรื๊ดๆ

ช่องทางสมัครก็ครอบคลุมจุดบริการ 300 แห่งทั่วประเทศ การอนุมัติบัตรก็ง่ายใช้เวลา 30 นาที ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่กรุงศรีฯคิดค้นขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องรอ จากปติจะใช้เวลาในเคาะอนุมัติ 2-3 สัปดาห์ 

“เราออกบัตรเครดิตสู่ตลาด โดยเปลี่ยนกฎการผ่อน เดิมผู้ใช้บัตรจะเน้นใช้จ่ายสินค้าหรูหรา ไลฟ์สไตล์ แต่เราปรับใหม่ให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยง่าย และสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ลูกค้ายังฉีกกฎบัตรเครดิตทั่วไป ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ คือโทรสั่งผ่อนได้ 0% ฉีกกฎอีกข้อคือการให้รับบัตรได้ใน 30 นาที”

ที่น่าสนใจ คือ การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มีคลิปวิดีโอหลายเวอร์ชั่นและสื่อสารจบใน 5 นาที รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบกดข้าม (Skip) ไม่ชมโฆษณา เรียกว่าจะเวอร์ชั่นผ่อนเฟอร์นิเจอร์ ท่องเที่ยว ประกัน รักษาพยาบาลก็สั้นกระชับ

ผลลัพธ์ของกลยุทธ์การตลาดดังกล่าว ไม่ได้ดูแค่ “ยอดขาย” แต่ตระหนักถึงการสร้างแบรนด์ด้วย โดยผลการวิจัยโฆษณาที่ Motivation score สูงถึง 91% เทียบกับมาตรฐาน APAC ที่ 34% การค้นหาคำว่าบัตรเครดิต 0% สั่งได้ ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า แพลทินัมก็รั้งอันดับ 1 บน Google และขาดไม่ได้ คือ ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตดังกล่าวยังเติบโตกว่า 110% ท่ามกลางสถานการณ์บัตรเครดิตทั้งระบบประสบการใช้จ่ายลดลง 36%

-----------------------

“Magic Box”

รางวัลการตลาดเพื่อสังคม 

ยุคนี้ธุรกิจจะมุ่งแค่กำไรคงไม่ได้ เพราะผู้บริโภครู้เท่าทันแบรนด์ จะตัดสินใจซื้อสินค้าเริ่มตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น เมื่อธุรกิจมีกำไร ก็ต้องคืนกำไรกลับสู่สังคมด้วย หลายองค์กรส่งกิจกรรมแผนการตลาดเข้าประกวด 

ทว่ารางวัล Social Award ตกเป็นของผลงาน กล่องวิเศษ Magic Box” โดยบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด

สิ่งที่อำพลฟู้ดส์ทำคือการหยิบยกผลกระทบใกล้มาแปรเปลี่ยนเป็น “ประโยชน์” แก่สังคม นั่นคือ ขยะ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงบริษัทด้วย เมื่อบริษัทมีวิสัยทัศน์กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องการ “อนุรักษ์” สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่การขับเคลื่อนธุรกิจ จึงเป็นที่มาโครงการกล่องวิเศษ

กล่องวิเศษคืออะไร ทีมงานอำพลฟู้ดส์ ฉายภาพในแต่ละปีมีขยะจำนวนมาก โดยปี 2557 ขยะในประเทศไทยมากถึง 27 ล้านตัน โดยมาจากกล่องยูเอชทีมากถึง 3,800 ล้านชิ้น กล่องวิเศษจึงเชื้อเชิญชวนสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ช่วยกัน แกะ ล้าง เก็บ” กล่องยูเอชที ส่งกลับมายังบริษัทเพื่อนำไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นั่นคือ โต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน”  เพื่อนไปมอบให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศไทย

กล่องยูเอชที 2,500 กล่อง จะสร้างโต๊ะนักเรียนได้ 1 ชุด ที่ทำได้เช่นนั้นเพราะกล่องยูเอชทีนั้นมีส่วนประกอบต่างๆหลายชั้น ตั้งแต่ ชั้นกระดาษ อะลูมิเนียม ฟอยล์ พลาสติก และล้วนย่อยสลายได้ยากยิ่ง ครั้นจะนำไปเผาก๋ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ การนำมารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงแค่ได้ อุปรกรณ์จำเป็นสำหรับโรงเรียน นักเรียน แต่ช่วยลดขยะได้ด้วย และจากข้อมูลบริษัทระบุว่า แผ่นชิฟบอร์ดที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีนั้น คงทน แข็งแรง กันน้ำ กันปลวกได้ด้วย

อำพลฟู้ดส์ ดำเนินโครงการกล่องวิเศษมาตั้งแต่ปี 2552 กระทั่งปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลาของโครงการ 1 ปี ได้รีไซเคิลกล่องยูเอชทีแล้ว 23 ล้านชิ้น มอบโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียนได้ถึง 7,541 ชุด และยังสร้างอาคารเรียนอีก 2 แห่ง ที่บุรีรัมย์ด้วยการใช้กล่องยูเอชที 1 ล้านชิ้น และใช้กล่องยูเอชทีอีก 3.3 ล้านชิ้น อาคารเรียนชั้นเดียวจำนวน 4 ห้อง ที่จังหวัดสมุทรสาคร

จำนวนกล่องยูเอชทีที่ถูกกำจัดจากกองขยะ สร้างประโยชน์มหาศาลดังกล่าวแล้ว ยังลดคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 1.6 ล้านกิโลกรัม หรือเทียบเท่าน้ำหนักรถบัสโดยสาร 41 คัน อนุรักษ์พื้นที่ป่าได้เทียบเท่า 32 สนามฟุตบอล ลดพื้นที่ในการจัดเก็บขยะเทียบเท่า 22 สนามบาสเกตบอล เป็นต้น

จะเป็นยังไง ถ้าหากทุกบริษัทหันมาทำกิจกรรมการตลาดดีๆคืนสู่สังคม โดยตระหนักรู้ว่าการผลิตสินค้าของพวกเขา นอกจากจะสร้างสรรค์สินค้าให้แก่ผู้บริโภค มียอดขาย กำไรแล้ว พวกเขาก็สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ งแวดล้อมด้วย ดังนั้น การมุ่งทำตลาดไม่ใช่แค่หวังผลลัพธ์ให้แบรนด์มียอดขายเติบโต แต่ควรตอบแทนสังคม เพื่อ Build Brand Love to Last ด้วย

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลง กำลังซื้อจะเป็นบวกหรือติดลบ ทุกองค์กรและแบรนด์ล้วนอยู่ในสมรภูมิการค้าเดียวกัน โอกาส และอุปสรรคที่เผชิญก็ไม่แตกต่าง แต่ใครจะอ่านเกม วิเคราะห์ตลาด เข้าใจผู้บริโภคได้ลึกกว่า เพื่อวางกลยุทธ์มัดใจจนกลุ่มเป้าหมายยอมใช้จ่ายให้กับแบรนด์เป็นหน้าที่นักการตลาดต้องขบคิด ข้างต้นอาจเป็นเพียงชัยชนะท่ามกลางโจทย์มรสุมเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้การันตีว่ากลยุทธ์วันนี้จะกำชัยได้ในวันพรุ่งนี้ เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา