“ไทยฮั้วฯ”ฟันธงปีหน้า ราคายางเทิร์นอะราวด์

“ไทยฮั้วฯ”ฟันธงปีหน้า ราคายางเทิร์นอะราวด์

“ไทยฮั้ว”ผู้ส่งออกยางอันดับ3 ส่งสัญญาณปีหน้าราคายางผงกหัว พ้นจุดต่ำสุด ตาม“วัฎจักร”ธุรกิจ 5 ปี กำลังซื้อ “ฐานราก” กำลังจะกลับมา..!!

ตั้งแต่ราคายางพารา “ตกต่ำ” ต่อเนื่อง เหลือกิโลกรัมละ 30 กว่าบาท จากอดีตราคาเคย “พีค” สุดถึงกิโลกรัมละ 140 บาท 

ลดลงเกือบ “5 เท่าตัว”

โดยสาเหตุหลักที่กดให้ราคายางตกต่ำ เกิดจาเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัว ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราเพื่อแปรรูปสินค้าลดน้อยลง 

โดยเฉพาะความต้องการที่ลดลงจาก “จีน”

ราคาที่ทรุดหนัก ส่งผลต่อเนื่องกับ “กำลังซื้อ” ของเกษตรกรชาวสวนยางและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 

กลายเป็นการ “วกกลับ” มาซ้ำเติมภาพเศรษฐกิจไทย 

เผือกร้อน ทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เช่น การลดพื้นที่ปลูก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการบุกรุกผิดกฎหมาย รวมถึงหาแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น เช่นในอุตสาหกรรมถุงมือยาง และยางรถยนต์ เป็นต้น

สถานการณ์เช่นนี้ จะคงอยู่ยาวนานแค่ไหน ปีหน้ามีโอกาสที่ราคายางพารา จะ “ผงกหัว” หรือไม่ ?

ผ่านคำบอกเล่าของ “กรกฏ กิตติพล” ผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งออกยางพารา อันดับ 3 ในไทย ประเมินว่า 

แม้ในปี 2558 อุตสาหกรรมยางพารายังเป็น“ขาลง” แต่มองว่าในปี 2559 แนวโน้มราคาจะเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งมีวัฏจักรธุรกิจ (cycle) ประมาณ 5 ปี 

โดยในปีนี้ครบวัฏจักรแล้ว ดังนั้นมองว่าปีหน้าคาดอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว !!

เขายังประเมินว่า แนวโน้มราคายางพาราในปีหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากผลผลิตลดน้อยลง เนื่องจากที่ผ่านมาชาวสวนไม่ออกไปกรีดยางเนื่องจากไม่คุ้มกับต้นทุน หลังราคายางตกต่ำ 

ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดน้อยลง  ทำให้ซัพพลายเริ่มมาสัมพันธ์กับดีมานด์ ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศจีนน่าจะไม่แย่ไปกว่าปีนี้แล้ว

รวมทั้ง “ไทยฮั้วยางพารา” ยังชักชวนผู้ประกอบการยางรถยนต์ในต่างประเทศ เข้ามาเปิดโรงงานในประเทศไทย โดยไทยเป็นแห่งวัตถุดิบยางพาราใหญ่ที่สุดแล้ว 

ล่าสุด มีผู้ประกอบการจีนเข้ามาตั้งโรงงานเพิ่มหลายโรงงาน

จากสถานการณ์ยางพาราในปีนี ทำให้ไทยฮั้วตั้งเป้ายอดขายปี 58 อยู่ที่ 4.28 แสนตัน ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 4.5 แสนตัน สาเหตุมาจากซัพพลายในตลาดลดน้อยลง จากภาวะราคายางราคาตกต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว 

โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนส่งออก 90% ในประเทศ 10% ซึ่งสัดส่วนประเภทยางที่ผลิตได้มากที่สุด คือยางแท่งอยู่ที่ 70-80% ยางแผ่นและน้ำยาง 20% เนื่องจากประเภทยางดังกล่าวสามารถวัดคุณภาพได้ดีกว่าชนิดยางอื่นๆ

เขา ยังบอกว่า ในปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจแทบไม่มี“มาร์จิ้น” (กำไรต่อหน่วย) แต่ถ้าในภาวะปกติมาร์จิ้นจะอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งมองว่าในภาวะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรงบริษัทจะทำธุรกิจแบบในอดีตไม่ได้แล้ว 

ดังนั้นเป้าหมายใหม่ของบริษัทจะดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ”

โดยปัจจุบันกำลังเข้าสู่ “ธุรกิจปลายน้ำ” โดยการเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรประเทศจีนในการผลิตยางล้อรถยนต์ โดยบริษัทถือหุ้น 20% คาดว่าปีหน้าจะมีรายได้จากธุรกิจปลายน้ำเข้ามา เบื้องต้นสัดส่วนรายได้จะอยู่ที่ 2-5% แต่เป้าหมายในอนาคตอยากเห็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจปลายน้ำไม่ต่ำกว่า 30%

สำหรับทิศทางการลงทุนของบริษัทที่ผ่านมา ได้เข้าไปลงทุนที่ “ลาว” โดยการซื้อที่ดินประมาณ 1 แสนไร่ปลูกยางพารา ปลูกยางพาราไปแล้ว 5 หมื่นไร่ โดยกรีดยางได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งพื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่จะอยู่ที่แขวงเวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน และแขวงสาละวัน

นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าไปซื้อที่ดินใน “กัมพูชา” อีกประมาณ 1 แสนไร่ ปลูกยางพาราไปแล้ว 5 หมื่นไร่ และมีแผนจะก่อสร้างโรงงานยางแท่งสำหรับทำยางล้อรถยนต์ในปี 2561 มูลค่าก่อสร้างโรงงาน 4-5 ล้านบาท เพื่อรองรับการแปรรูปส่งออกไปยังจีน และ ยุโรป

ส่วนแผนการลงทุนไทย จะเน้นลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตจากทางภาคอีสานออกมาเยอะ เป้าหมายเพื่อรองรับปริมาณยางพาราในภาคอีสานที่เพิ่มขึ้น

---------------------------

ราคายางพาราพ้นจุด“ต่ำสุด"แล้ว 

"กรกฏ กิตติพล” ผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) มองว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ยากลำบากที่สุดในการทำธุรกิจแล้ว ซึ่งบริษัทพยายามทำธุรกิจแบบประคองตัวไปด้วยกลยุทธ์ควบคุมต้นทุน และทำธุรกิจแบบ “คอนเซอร์เวทีฟ” ไม่ทำธุรกิจแบบ “เก็งกำไร”

“เป้าหมายของเราต้องการขยายตลาดให้เท่ากับดีมานด์ที่ต้องการใช้ของทั้งโลก ปกติจะอยู่ที่ 2-5%”

“ไทยฮั้วยางพารา” มีโรงงานแปรรูปยางพารากระจายอยู่ทั่วประเทศไทยรวม 11 โรงงาน และมีสำนักงานขาย 1 แห่งตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน บริษัทมีปริมาณการว่าจ้างรวมทั้งหมด 1,900-2,000 คน นอกจากนี้ยังได้ร่วมทุนกับนักลงทุนต่างประเทศในธุรกิจการผลิตถุงมือแพทย์ แปรรูปไม้ยางสำหรับเฟอนิเจอร์เครื่องครัว ล้อยาง และเมล็ดกาแฟ เป็นต้น

“จุดเด่น”ของบริษัทซึ่งลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี และไว้วางใจมายาวนานในปัจจุบัน คือผู้บริหารในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นคนรุ่นใหม่และเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเครดิต ในการรักษาคำพูด การซื่อตรงต่อลูกค้า การให้บริการความช่วยเหลือเมื่อลูกค้าประสบกับปัญหาต่าง ๆ โดยจะให้การดูแลและเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเครดิตที่บริษัทได้สร้างสะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

นอกจากนี้บริษัทจะเน้นให้ความสำคัญและดูแลลูกค้า โดยมีแนวคิดว่าไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรจากลูกค้าแต่จะร่วมมือกับลูกค้าในการ จัดการบริหารและก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ดังนั้นจึงทำให้เครือข่ายของบริษัทมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก

“ปัจจุบันเรามีความมั่นคงและมีความแข็งแกร่งในธุรกิจมากขึ้น เพราะเรามีสวนยางคือต้นน้ำ มีโรงงานคือกลางน้ำ และเรากำลังจะทำปลายน้ำ คือจะจะร่วมทุนผู้ผลิตล้อยางของจีน เราจะเป็นผู้ถือหุ้นรวมทั้งจัดส่งวัตถุดิบ โดยโรงงานจะตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ซึ่งจะทำให้บริษัททำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”

สำหรับผลิตภัณฑ์ของแบ่งเป็น“ยางแผ่นรมควัน”ในอดีตสัดส่วนรายได้ประมาณ 80% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 20% โดยยางแผ่นรมควันใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เนื่องจากคุณสมบัติที่น่าพึงพอใจหลายประการ อาทิ ความสะอาด ความทนทานต่อแรงฉีก ยางแผ่นรมควันแบ่งออกเป็น 5 เกรด ตั้งแต่ RSS1-RSS5 ความแตกต่างของเกรดเป็นผลมาจากความแตกต่างในขั้นตอนการเตรียมยางดิบ

นอกจากนี้ เกรดของยางแผ่นรมควันยังขึ้นอยู่กับการตวจสอบด้วยตาเปล่า ดังนั้นบริษัทจึงได้มีการจัดอบรมสำหรับผู้ตรวจสอบและจัดให้มีการตรวจสอบ ระดับการแบ่งเกรดของผู้ตรวจสอบ สลับกันเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของพนักงานแต่ละคนเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน

“ยางแท่ง”ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 70-80% เดิม 20% เนื่องจากสามารถวัดคุณภาพได้แน่นอนกว่ายางแผ่นรมควัน โดยความสามารถในการวัดและควบคุมลักษณะภายนอก รวมไปถึงคุณลักษณะอันหลากหลายของยางแท่งได้ทำให้เกิดความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์ธุรกิจยางพารา ความต้องการของยางแท่งจึงได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

เนื่องจากยางประเภทนี้ช่วยทำให้เกิดความสะดวกในการควบคุมคุณภาพสำหรับผู้ใช้ ทั้งในขั้นตอนการรับสินค้าและการดำเนินการผลิต ทั้งนี้ยางแท่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ STR 10,STR 20, STR L,และ STR CV ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการควบคุมการผลิตที่แตกต่างกันออกไป การควบคุมคุณภาพอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพของบริษัท

และ“น้ำยาง”ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ราว 5-10% ซึ่งน้ำยางสดจะได้รับการเก็บรักษาอย่างดี น้ำยางสดได้รับการเก็บรักษาด้วยสารเคมีหลายชนิดและได้รับการปั้นเพื่อแยก ชั้นให้น้ำยางที่มีปริมาณยางแห้ง(DRC) อยู่ 60% หลังจากนั้นจะได้รับการผสมแอมโมเนียในระหว่างขั้นตอนการผลิตเพื่อเป็นการ ยืดอายุในการเก็บรักษา ซึ่งปริมาณความเข้มข้นของแอมโมเนียที่ผสมเข้ามานี้จะขึ้นอยู่กับความต้องการ ของลูกค้าแต่ละราย

เขายังบอกว่า บริษัทยังยืนยันแผนงานที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากเลื่อนมาตั้งแต่ปี 2555 โดยรอติดตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และภาวะตลาดยางพาราให้กลับมาในระดับที่ดีอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ที่มีการเจรจาอยู่ 3-4 ราย คาดว่าจะตัดสินใจได้ในปี 2559

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าเงินระดมทุนจากการขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) วงเงินระดมทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อจะนำไปใช้ขยายกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบัน 6 แสนตันต่อปี รวมทั้งการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจปลายน้ำ

-----------------------------------

TFEX ทางเลือกนักลงทุน 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม Press Outing เยี่ยมชมกิจการการผลิตยางพาราของ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด จ.ระยอง เนื่องจากกำลังจะควบรวมระหว่างตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ซึ่งสินค้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) เป็นสินค้าที่ใช้อ้างอิงในการลงทุน และเชื่อว่าในอนาคตจะเป็นอีกช่องทางในการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุนได้

“กรกฎ กิตติพล” ผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บอกว่า การที่สินค้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ที่จะเข้าซื้อขายในตลาด สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) คาดว่าจะมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) โดยบริษัทมีโบรกเกอร์ล่วงหน้า คือ บริษัท แอ๊กโกรว์เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งจะเข้ามาเป็นโบรกเกอร์ให้บริการซื้อขายสินค้าดังกล่าว รวมถึงเข้ามาร่วมซื้อขายในตลาดเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องมากขึ้น 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายๆ หน่วยงานต้องช่วยกันผลักดัน โดยบริษัทเราเองก็จะเปิดให้บริการสินค้าชนิดดังกล่าวด้วย เพราะโบรกเกอร์จากฝั่ง AFET เข้ามาอยู่ใน TFEX 

ด้าน “ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX บอกว่า การควบรวมระหว่างตลาด AFET และ ตลาด TFEXอาจจะเกิดขึ้นไม่ทันในปีนี้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอน และหากผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้วจะต้องให้เวลาตลาด AFET เตรียมตัวเคลียร์ตลาดอีกประมาณ 1 เดือน ก่อนจะเข้ามาซื้อขายในตลาด TFEX อย่างเต็มรูปแบบ   

ปัจจุบันมีโบรกเกอร์จากฝั่ง AFET เข้ามาเป็นสมาชิกในตลาด TFEX อีก 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอ๊กโกรว์เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด , บริษัท ดีเอส ฟิวเจอร์ส จำกัด และบริษัท อินฟินิตี้ เวลธ์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ซึ่งรายหลังจะเป็นโบรกเกอร์แบบ Full Licence ที่ซื้อขายสินค้าในตลาด TFEX ได้ทั้งหมด โดยทั้ง 3 บริษัทนี้่จะเริ่มต้นให้บริการหลังจากยางแผ่นรมควันชั้น 3 เข้าซื้อขายในตลาด TFEX    

โดยรายละเอียดของสัญญายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ที่จะซื้อขายในตลาด TFEX 1 บัญชี สามารถซื้อขายได้ 10,000 สัญญา โดย 1 สัญญามีขนาด 5 ตัน และในสัญญาเดือนใกล้มากที่สุดจะซื้อขายได้ไม่เกิน 1,000 สัญญาต่อบัญชี โดยนักลงทุนที่ต้องการส่งมอบสินค้าจริงจะต้องระบุก่อนเทรด ส่วนนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายทั่วไปจะเป็นลักษณะการเก็งกำไรโดยไม่ต้องส่งมอบของจริง 

ทั้งนี้หลังจากนำสินค้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) เข้าซื้อขายในตลาด TFEX แล้ว จากนั้นจะพิจารณาสินค้าอื่นๆ ที่อยู่ในตลาด AFET นำเข้ามาซื้อขายในตลาด TFEX เพิ่ม แต่อย่างไรก็ตามทีมงาน TFEX ต้องวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลอีกครั้งว่าจะเป็นสินค้าชนิดไหน