'เทิร์นอะราวด์' สถานีต่อไป MILL

'เทิร์นอะราวด์' สถานีต่อไป MILL

สารพัดความเสี่ยงในอุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลให้ บมจ.มิลล์คอน สตีล เสียการทรงตัวไป 3 ปี กลับมาครานี้ 'สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล' ย้ำชัดโมเดลใหม่

'ความต้องการสินค้าและราคาเหล็กที่ผันผวนตามฤดูกาล'
ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้ฐานะการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องตกอยู่ใน 'ฐานะติดลบ' หลายรายเลือกที่จะเฟ้นหาพันธมิตรที่โดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีมาช่วยอุดช่องโหว่ หวังพลิกฐานะในอนาคต

เช่นเดียวกับ บมจ.มิลล์คอน สตีล หรือ MILL ของ 'หมู-สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล' โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 'ชายหนุ่มวัย 37 ปี' เลือกที่จะเก็บตัวอย่างเงียบๆ หลังบริษัทต้องเผชิญหน้ากับผลขาดทุน 2 ปีซ้อน

ขณะที่การซื้อทรัพย์สินของ บมจ.อุตสาหกรรมเหล็กกล้าไทย หรือ TSSI ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท มิลล์คอน สเปเชียล สตีล จำกัด หลังประมูลมาจากสำนักงานบังคับคดี จังหวัดระยอง ไม่แล้วเสร็จตามแผนงาน

เมื่อปลายปี 2557 บริษัทเริ่มจัดระเบียบโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการหันมาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าเหล็กเส้นก่อสร้าง ล่าสุด MILLได้เซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท โกเบ สตีล จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษรายใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงทุนธุรกิจเหล็กลวดเกรดพิเศษใน บริษัท มิลล์คอน สเปเชี่ยล สตีล จำกัด

'หมู-สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.มิลล์คอน สตีล หรือ MILL เล่าอนาคตใหม่ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า ก่อนจะพูดเรื่องทางเดินใหม่ ขอแจกแจงเหตุผลที่ทำให้ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา 'ขาดทุน' ก่อนว่า ในอดีตบริษัทต้องเจอทั้งอุปสรรคและวิกฤตในหลากหลายมิติ

เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ ความไม่สงบทางการเมือง บริษัทขยายตัวรวดเร็วเกินไป และบริษัทใช้เวลาในการซื้อกิจการ มิลล์คอน สเปเชียล สตีล ยาวนานเกินคาด จากความตั้งใจเดิมที่จะใช้เวลาปิดดีลนี้เพียง 3 ปี แต่ต้องยืดเวลาออกไปนานถึง 5 ปี จากปัจจัยดังกล่าวทำให้กำไรสุทธิในปี 2555 ปรับตัวลดลงจนเข้าสู่การภาวะขาดทุนในปี 2556-2557

เราโชคดีที่ไม่ได้สต็อกสินค้าไว้จำนวนมาก เพราะไม่เช่นนั้นในช่วงปี 2551 ที่ราคาเหล็กลดลงจาก 40 บาทต่อกิโลกรัม เหลือไม่ถึง 10 บาทต่อกิโลกรัม หลังประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตสินเชื่อซัพไพรม์ บริษัทคงสาหัสมากกว่านี้ ทั้งนี้แม้ราคาเหล็กจะค่อยๆหักหัวขึ้น แต่ความต้องการที่ไม่ได้เพิ่มตาม ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงนั้นซบเซาอย่างมาก

จากอุตสาหกรรมเหล็กที่ผันผวนในครานั้น บริษัทจึงเริ่มออกมองหาผลิตภัณฑ์เหล็กพิเศษที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูง สุดท้ายในเดือนก.ย.2557 บริษัทตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ของ มิลล์คอน สเปเชียล สตีล ผ่านสำนักงานบังคับคดี ซึ่ง MILL ตั้งใจจะสร้างให้บริษัทแห่งนี้เป็น 'ผู้ผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง'

'เมื่อฟ้ากำลังสว่าง หมายความว่า ผลประกอบการของ MILLกำลังจะเข้าสู่ช่วง 'เทิร์นอะราวด์' แน่นอนว่า ทุกคนจะได้เห็นในปีนี้ เพราะเงินหลักพันล้านบาทที่ใช้ซื้อ มิลล์คอน สเปเชียล สตีล จากที่เคยจมอยู่ในสำนักงานบังคับคดี ปัจจุบันได้กลับเข้าสู่ระบบแล้ว' 'สิทธิชัย' บอกอย่างนั้น

'ผู้บริหารหนุ่ม' เล่าถึงโมเดลธุรกิจใหม่ว่า แรกเริ่มเราทำเพียงเหล็กเส้นก่อสร้างอย่างเดียว แต่เมื่อ 1-2 ปีก่อน บริษัทเริ่มหันมาให้น้ำหนักในผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีกำไรขั้นต้นสูงๆ ก่อน จะขยายตัวไปสู่เหล็กลวดเกรดพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น หลังจากกระบวนการซื้อทรัพย์สินของ มิลล์คอน สเปเชียล สตีล เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน MILL มีกำลังการผลิตประมาณ 8 แสนตันต่อปี แต่เมื่อมี มิลล์คอน สเปเชียล สตีล จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.35 ล้านตันต่อปี ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมา 5 แสนตันต่อปี ในช่วงเดือนก.ค.นี้ จะเป็นเหล็กลวดเกรดพิเศษ เพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องของโรงงานมิลล์คอน สเปเชียล สตีล ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมี

'อัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 15%' 

ฉะนั้นในปี 2558 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2557 เรียกว่า แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากเหล็กลวดเกรดพิเศษประมาณ 15-20% จากนั้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้เหล็กลวดเกรดพิเศษจะขยับตัวอย่างรวดเร็วขึ้นมาอยู่ระดับ 40% และอนาคตจะมีสัดส่วน 50-60% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีสัดส่วนการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างอย่างเดียว 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' 

หลัง 'มิลล์คอน สเปเชียล สตีล' เดินเครื่องผลิตเต็มปี จะทำให้ MIIL มีรายได้รวมแตะ 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 หรือเติบโต 50-70% เทียบกับปี 2557 ที่มีรายได้รวมเพียง 1.04 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นรายได้รวมจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ10-15% แต่หากไม่มีเหล็กลวดเกรดพิเศษบริษัทจะขยายตัวเพียงปีละ 5-10% เท่านั้น

'เมื่อสถานการณ์ตลาดเหล็กกลับเข้าสู่ภาวะปกติบวกกับบริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กของบริษัทมีกำไรขั้นต้นดีขึ้น ในปี 2558 บริษัทอาจมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อมราคา หรือ EBITDA ประมาณ 1.1 พันล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มี EBITDA ประมาณ 600-700 ล้านบาท' 

เขา ยอมรับว่า เราไม่มีความเชี่ยวชาญในเหล็กลวดเกรดพิเศษ ฉะนั้นจำเป็นต้องมีพันธมิตร ซึ่งการมีบริษัท โกเบ สตีล จำกัด ผู้ผลิตเหล็ก เหล็กลวดเกรดพิเศษ และธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้า รายใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มาร่วมกันทำธุรกิจเหล็กลวดเกรดพิเศษ ถือเป็นเรื่องที่ลงตัวมากเพราะหากเราต้องทำคนเดียวอาจต้องใช้เวลา 5-6 ปี ในการเดินเครื่องผลิต ซึ่งเราได้คุยกับเขามานานหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ดีเหล็กลวดเกรดพิเศษ เพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.88 ล้านคัน ในปี 2557 เป็นกว่า 3 ล้านคันในปี 2563 (ข้อมูลจาก CSM worldwide) ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมรถยนต์ในแถบประเทศบ้านเพื่อน เช่น อินโดนิเชีย และมาเลเซีย ก็อาจมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน

'การที่บริษัทหันมาทำผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีกำไรสูงๆ จะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E )ลดเหลือเพียง 1 เท่า หลังดอกเบี้ยจ่ายอาจลดจาก 700-800 ล้านบาท เหลือประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี' 

เมื่อถามว่า มีแผนจะขยายตัวเข้าไปสู่ธุรกิจอื่นๆหรือไม่? 'หนุ่มหมู' ยืนยันว่า เรายังคงให้ความสำคัญในธุรกิจเหล็กเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาได้เข้าไปถือหุ้น 36% ในโครงการโรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังการผลิต 27 เมกะวัตต์ ตามคำแนะนำของธนาคารกรุงเทพ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นของบริษัท สยามโซล่าร์ จำกัด ซึ่งเขายังมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกจำนวนมาก และมีแผนจะนำบริษัทเข้าจะตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ฉะนั้นการที่บริษัทมีโอกาสได้เป็นพันธมิตรกับเขา นั่นหมายความว่า หากสยามโซล่าร์มีแผนจะไปทำโครงการโรงไฟฟ้าที่ไหน หากเขาเข้ามาชักชวนแล้วเราเห็นว่า มีผลตอบแทนที่ดี ก็พร้อมจะจับมือไปด้วยกัน ส่วนเรื่องเงินลงทุนนักลงทุนไม่ต้องเป็นห่วง เราตั้งใจจะนำเงินส่วนหนึ่งที่จะได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด จำนวน 500 ล้านหุ้น มาใช้ลงทุนในกิจการนี้ ปัจจุบันมีนักลงทุนหลายรายแสดงความสนใจแล้ว (ยิ้ม)

'การโดดเข้าไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้า เราไม่ได้ต้องการจะปั้นให้เป็นพระเอกเทียบเท่าธุรกิจหลัก แต่ตั้งใจจะกระจายความเสี่ยงของธุรกิจเท่านั้น อย่างน้อยการได้รับเงินปันผลทุกปีก็ทำให้เรามีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีรายได้ปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท' 

'เจ้าของ MILL' เล่าต่อว่า ความคิดของผมในวันนี้แตกต่างไปจากในอดีต เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของคนเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราควรหา 'เพื่อนที่ดีและเก่ง' มาช่วยกันทำงาน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ การที่ MILL มีบมจ.เจนเนอรัล เอนจิเนีย หรือ GEL เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 15.42% (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 2 เม.ย.2558) ทำให้งานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่ผ่านมา MILL กับ GEN ได้จับมือทำงานร่วมกันหลากหลายโครงการ เช่น การเปิดโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเหล็กรูปพรรณในประเทศพม่า มูลค่าลงทุนประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิต 64,397 ตันต่อปี โดย MILL และ GEL ถือหุ้นฝั่งละ 45% ที่เหลือ 10% เป็นพันธมิตรประเทศพม่า

ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนจากรัฐบาลพม่า โดยได้รับการยกเว้นภาษี 7 ปี ล่าสุดอยู่ระหว่างการตอกเสาเข็ม หากไม่มีอะไรผิดพลาดปลายปี 2558 โรงงานดังกล่าวจะเดินเครื่องผลิตได้ ฉะนั้นอาจรับรู้รายได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่เมื่อปี 2559 เดินเครื่องผลิตเต็มปีก็จะรับรู้รายได้ประมาณ 1.2 พันล้านบาท

เราพยายามจะทำเงินให้งอกเงยทุกส่วนงาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท เซนทรา-วาร์ทุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปัจจุบันดำเนินธุรกิจบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร ขณะเดียวกันยังเปิดเป็นโรงเรียนสอนบุคลากรเกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้า

ในอนาคตมีแผนจะรับบริการงานนอกด้วย ซึ่งงานประเภทนี้มีกำไรขั้นต้นค่อนข้างดี ขณะเดียวกันยังมีแผนจะจัดการขายทรัพย์สินที่ไม่ทำเงินออกไป ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ใน 'หลักพันล้านบาท' เช่น ที่ดินจังหวัดระยอง 600 ไร่ ซึ่งเราใช้งานจริงเพียง 500 ไร่ เท่านั้น

'กรรมการผู้จัดการ' ทิ้งท้ายว่า วันนี้ผมจำเป็นต้องลดบทบาทตัวเองลงในบางเรื่อง หลังจากในช่วง 2-3 ปีก่อน ตะลุยทำงานเพียงคนเดียว ผิดบ้างถูกบ้าง ฉะนั้นหากเราได้ทั้งคนดีและคนเก่งมาร่วมกันทำงาน เชื่อว่า องค์กรจะมีแต่ความยั่งยืน ซึ่งคนดีและคนเก่งในมุมของผม คือ เก่งในทุกมิติ โดยเฉพาะงานใหม่ที่ MILL กำลังจะทำ

ที่ผ่านมาผมแทบไม่ได้ซื้อขายหุ้นเลย แม้กระทั่งหุ้นตัวเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ทำไมภาพลักษณ์ของผมจึงกลายเป็น “นักเก็งกำไร” เมื่อภาพออกมาเป็นเช่นนั้นคงทำอะไรไม่ได้ แต่ยอมรับว่า มีผลกระทบต่อการทำงานบ้าง

ขอพูดแบบนี้แล้วกัน วันนี้ผมค้นพบแล้วว่า ตัวเองต้องการอะไร ที่ผ่านมาใช้ความพยายามสูงมากกว่า MILL จะเดินมาถึงจุดนี้ อะไรที่คิดว่าจะเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายก็เป็นไปได้ ซึ่งโมเดลการทำธุรกิจใหม่ของเรา 'เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์' ในฐานะผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 1.93% แกชอบมาก (หัวเราะ)

'ในเมื่อผลิตภัณฑ์เหล็กไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ 'เซ็กซี่' อีกต่อไป เพราะมีกำไรขั้นต้นบางเพียง 6-8% เท่านั้น แถมราคาเหล็กยังผันผวนอีก ฉะนั้นเราจึงต้องปรับตัวเองไปสู่ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีกำไรขั้นต้นสูงๆ หากต้องการอยู่รอดในอุตสาหกรรมต่อไป'

'จากนี้ไปทุกอย่างใน MILL จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เรากำลังจะกลายเป็นคนใหม่' 'สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล' ยืนยันเช่นนั้น