บุญฤทธิ์ มหามนตรี บริหารคนด้วย 'ธรรมะ'

บุญฤทธิ์ มหามนตรี บริหารคนด้วย 'ธรรมะ'

46 ปีชีวิตทำงาน'บุญฤทธิ์ มหามนตรี' วางภารกิจอำลาเก้าอี้ 'ประธาน'สานต่อ 'องค์กรคนดี'จากรุ่นสู่รุ่นตามหลักธรรมะ

เอ่ยปากอยากเกษียณหลายปี แต่เพราะได้รับความ "ไว้วางใจ" จากเจ้านาย "เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ประธานเครือสหพัฒน์ ทำให้ "บุญฤทธิ์ มหามนตรี" ประธาน บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ยังต้องนั่งเก้าอี้บริหารธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค "เบอร์ 2" ของไทยต่อไป

"การเกษียณไม่ได้ขึ้นอยู่ผม ตอนคุณบุณยสิทธิ์ เป็นประธาน ผมบอกว่าปีหน้าผม 60 แล้วนะจะหาใครมาแทน แกบอกไม่รู้ทำไปก่อน" บุญฤทธิ์ เล่าถึงบทบาทของแม่ทัพยักษ์คอนซูเมอร์ในเครือสหพัฒน์ในช่วงชีวิตเลยวัยเกษียณ

จบการศึกษามา มีโอกาสร่วมทำงานกับ "ไลอ้อน" ต้นแบบบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น และเป็นองค์กรแรกองค์กรเดียวที่ทำงานตั้งแต่ตอกเสาเข็มในปี 2511 จนถึงปัจจุบัน 46 ปีแล้ว

"ตอนนั้นผมเข้ามาก็เป็นใหญ่แล้วนะ เป็นผู้จัดการฝ่ายเทคนิค เพราะจบปริญญาตรีคนแรก ที่ได้เข้ามาทำในเครือ จึงมีตำแหน่งงานรองรับ ทั้งที่ไม่รู้เรื่องเลย" เขาหัวเราะ

ช่วงสตาร์ททำงาน ยังโชคดีได้ทำงานกับ "ดร.เทียม โชควัฒนา" ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ ทำให้ได้เรียนรู้เกม กลยุทธ์การทำตลาด การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม จริยธรรมรอบด้าน อีกด้านก็คอยให้ข้อมูลดร.เทียมในด้านต่างๆ ทำงานเกือบ 3 ทศวรรษ ก็ได้รับการโปรโมทให้เป็น "กรรมการผู้จัดการ"

แต่เพียง 1 ปีให้หลัง แม่ทัพเช่นเขาก็ต้องรับมือกับ "วิกฤติต้มยำกุ้ง"

"ปี39 เป็น MD(Manging director) ครั้งแรก อย่างกะทันหัน ไม่มีการเตรียมตัว พอปี40 เกิด Crisis ต้มยำกุ้ง เงินที่กู้มา 700-800 ล้านบาท กลายเป็น 1,700-1,800 ล้านบาททันที แต่ปีนั้นสนุกมาก วิกฤติการเงิน เปลี่ยนเรื่องการตลาด การบริหารทั้งหมด"

ส่วนเหตุที่ทำให้เป็น MD ฉบับเร่งด่วน เขาหัวเราะพร้อมคำตอบ

"เพราะโชคและทำดีมั้ง !"

ตลอดเวลาที่คร่ำหวอดในตลาดคอนซูเมอร์เกือบ 5 ทศวรรษ เขาบอกว่า 10 ปีให้หลัง สภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนในอัตรา "เร่ง" ที่รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งหนึ่งที่ "ไลอ้อน" ยังคงเป็นเบอร์ 2 อย่างเหนียวแน่น เพราะวิสัยทัศน์ของ ดร.เทียม "บุญฤทธิ์" เล่า

"จุดแข็งของไลอ้อน จากอดีตถึงปัจจุบัน ต้องยกเครดิตทั้งหมดให้อดีตท่านประธาน คือคุณเทียม ผมทำงานด้วยสมัยโน้น ได้ตามดูตลาดกับท่านและทำไปเรื่อยๆ ถึงเวลานี้กลับมาทบทวน สิ่งที่ทำสมัยนั้น กระทั่งเติบโตมาแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ ระหว่างอยู่ในเหตุการณ์มันไม่ได้ตื่นเต้น"

ยิ่งย้อนดูกลยุทธ์ที่ไลอ้อนทำมากว่า 40 ปี และนำตำราการตลาดย้อนหลัง 10 ปีก่อนมากางนั่นคือ "Modern Marketing" หรือการตลาดสมัยใหม่ทั้งอีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง การบริการลูกค้าด้วยใจ นำความต้องการของลูกค้ามาพัฒนาสินค้า ต่างกันแค่ข้อจำกัดในอดีตคือ "ทุน" หากไม่หนาพอ ทำธุรกิจยาก เพราะการโฆษณาประชาสัมพันธ์แต่ละครั้งเรียกว่า "สูง" หลักหมื่นหลักแสนถึงหลักล้านบาท เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน

ปัจจุบันจึงเหลือแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ยูนิลีเวอร์, ไลอ้อน, อังกฤษตรางู, คาโอ, พีแอนด์จี, ลอรีอัล, ไอ.พี. เทรดดิ้ง, เบอร์ลี่ยุคเกอร์, เฮ็งเคล และโอสถสภา เป็นต้น

ทว่า..โลกดิจิทัล อาจ "จุดพลุ" ให้หน้าใหม่กลับมาแบ่งเค้กในตลาดอีกครั้ง เพราะ "โอกาส" การโฆษณาประชาสัมพันธ์มีหลากหลายช่องทาง เช่นเดียวกับการทำตลาด ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคก็ "เฉพาะเจาะจง" มากขึ้น ซึ่งรายใหญ่อาจทำไม่ได้

การจะยืนหยัดและเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจ เป็นที่รักของผู้บริโภคได้ในยุคนี้สินค้าจึงต้อง "ดีและมีคุณภาพ" ใช้ประโยชน์ได้จริง "บุญฤทธิ์" ย้ำ

"ตลาดคอนซูเมอร์ในอนาคตไม่แน่อาจมีรายใหม่เข้ามาล้มรายเก่า เช่น กรณีไมโครซอฟท์ซื้อโนเกีย ทุกสิ่งทุกอย่าง การเปลี่ยนแปลงมันเป็นโอกาส มองโอกาสให้ดีๆ จะเห็นช่องทาง แม้ว่าการทำตลาดในโลกดิจิทัล จะยากขึ้น ผู้บริโภครู้ทัน ฉะนั้นการทำธุรกิจและอื่นต้องเป็นคนดี ซื่อสัตย์กับผู้บริโภค อะไรที่เป็นลูกเล่นหมดยุคแล้ว"

ยุคนี้ "ผู้นำ" เช่นเขาจึงมุ่งหนีการแข่งขันแบบ "สงครามทะเลแดงเดือด"(Red Ocean) สู่ "น่านน้ำสีขาว"(White Ocean) มากขึ้น ภายใต้โครงการ "องค์กรคนดี" ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2546 เป็นสิ่งที่เขามุ่งมั่นจะทำทิ้งไว้ก่อนเกษียณ

กลยุทธ์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นความตั้งใจทำเพื่อสังคมแล้ว ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ได้กลับมาคือผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น ยอดขายก็โตเป็นอัตรา 2 หลัก ยิ่งวัดจากปี 2540 ที่มียอดขายราว 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันทะยานเกิน 1.4 หมื่นล้านบาท และหากทำต่อเนื่อง เชื่อว่าการเติบโตของยอดขายจะเพิ่มขึ้นอีก

ตลอดเวลาการทำงาน เขาภูมิใจกับผลงานเด่น "องค์กรคนดี" มาก ซึ่งเชื่อว่าจะต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้อีก เพราะคนดีทำงาน คนดีอยู่ในองค์กรดี บรรยากาศที่ดี ย่อมทำงานด้วยใจ ความรัก ความตั้งใจ ผลงานก็จะเป็นเลิศ ไม่มีอะไรเอาชนะได้

ส่วนวิธีที่จะสร้างผลงานเป็นเลิศ ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะเหนือกว่าการเป็นคนดี ฉะนั้นถ้าใช้วิธีนี้นำไปสู่ความยั่งยืน นั่นอาจเป็นนามธรรม ส่วนรูปธรรมก็มีคือการสร้างหอมนุษยธรรม ที่สวนอุตสาหกรรมศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่ตั้งของโรงงานในเครือสหพัฒน์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความดีต่างๆ

"สิ่งที่ทำองค์กรคนดีก็เหลือกินแล้ว ส่วนยอดขายในอนาคต ถ้าอัตราการสร้างองค์กรคนดีเร็ว ยอดขายก็โตไม่รู้เรื่อง" นี่คือสิ่งที่เขาเชื่อ

และยังเป็นสิ่งที่ต้องการให้ "Successor" หรือผู้บริหารคนถัดไป รักษาและถนอมไว้แบบไม่ต้องพูดก็รู้ใจ

ครั้นถามว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนี้ "บุญฤทธิ์" อมยิ้มแล้วบอกว่า..

"เสี่ย(บุณยสิทธิ์) วางซัคเซสเซอร์ไว้ไหม (หัวเราะ) คือจริงๆ ผมไม่ทราบ เรื่องนี้ถึงเวลาก็รู้เอง อย่าด่วนรู้เลย" ก่อนขยายความว่า

"ซัคเซสเซอร์ ต้องผู้ถือหุ้นเลือก" เช่นเดียวกับตัวเขาที่ได้รับความไว้วางใจมอบตำแหน่ง "ประธาน" ให้เมื่อปี 2553 นับว่าเป็นคนที่ 3 ต่อจาก "เสี่ยบุณยสิทธิ์ และณรงค์ โชควัฒนา"

ตลอดเวลา 46 ปี บุญฤทธิ์ ไม่เคยมีความคิดที่จะย้ายงาน เขามักตั้งคำถามกับลูกน้องที่มาลาออกว่า "ออกไปทำไม?"

คำตอบที่มักได้รับคือ ต้องการไปหาประสบการณ์ใหม่ เขาจึงฝากข้อคิดกลับไปว่า "คุณจะพลาดประสบการณ์ที่ดี ถ้าคุณออกไป"

เขายังบอกว่า การออกจากงานเพราะคับแค้นใจ ไม่ก้าวหน้า ไม่พอใจ เป็นปัญหาที่แก้ได้ทันที แต่หากย้ายงานเพียงเพื่อหลบปัญหาเหล่านี้ไปที่ใหม่ก็เจอปัญหาเดิม นี่จึงเป็นที่มาของหลักธรรมะในการบริหารงานมาตลอด

"ผมเคยสรุปเอาไว้ว่าการบริหารงาน ต้องบริหารคน 3 คน กลุ่มที่ 1 คือผู้ใต้บังคับบัญชา 2.เพื่อนร่วมงาน และ 3.คือเจ้านาย ทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ จะมีปัญหากับการทำงานทันที แต่การบริหาร 3 คนนี้ ใช้ธรรมะคนละข้อ บริหารลูกน้องใช้ธรรมะเมตตากรุณา การจะโปรโมทลูกน้อง ต้องใช้ปัญญา แต่เวลาลงโทษต้องใช้เมตตา

บริหารเพื่อน ต้องใช้ความเสียสละ เขาเอาเปรียบก็ช่าง ถ้าเราไม่เดือดร้อน ส่วนเจ้านาย ต้องบริหารด้วยความไว้วางใจ ถ้าเจ้านายไว้วางใจ เจ้านายจะตามเรา ไม่ใช่สั่งเรา ถ้าทำแบบนี้เราจำนำเจ้านาย นำเพื่อน และนำลูกน้องได้"

เกือบ 5 ทศวรรษขับเคลื่อน "ไลอ้อน" อะไรทำให้รักองค์กรแห่งนี้ เขายิ้มและบอกว่า..

"รักองค์กรไหมไม่รู้ แต่ผมอยู่กับคุณเทียมมา คุณเทียมและคุณบุณยสิทธิ์เหมือนกันคือไว้วางใจและให้เกียรติ" ประกอบกับจำคำคม "อยู่ให้เขารัก จากให้เขาเสียดาย ตายให้เขาคิดถึง" พึงตระหนักไว้เสมอเมื่อ "จากไปต้องคิดถึงผม อยู่ก็ให้เขารัก"

ที่สำคัญการทำงานได้เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ดีๆ จากดร.เทียมมหาศาล กลายเป็นบุคคลต้นแบบในการขับเคลื่อนธุรกิจตราบวันนี้