"พิพิธ เอนกนิธิ" จอมวางฟุตพริ๊นต์เคแบงก์

"พิพิธ เอนกนิธิ" จอมวางฟุตพริ๊นต์เคแบงก์

ยุค “อาเซียนเนื้อหอม” กสิกรไทยส่ง "พิพิธ เอนกนิธิ" เด็กทุนเคแบงก์สู่แม่ทัพธุรกิจข้ามประเทศ ขยายวงแหวนการค้าจากจีนสู่อาเซียนบวกสาม

ก้าวใหม่ที่ใหญ่กว่า ของธนาคารกสิกรไทย กับการปรับทัพธุรกิจ ตั้ง 3 สายงานใหม่ หนึ่งในนั้นคือสายงาน "ธุรกิจข้ามประเทศ" สายงานใหม่เอี่ยมอ่อง โดยมอบหมายให้ "พิพิธ เอนกนิธิ" รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงาน "ธุรกิจข้ามประเทศ" ธนาคารกสิกรไทย (เคแบงก์) เป็นหัวขบวน

แบงก์สายพันธุ์ไทยที่ประกาศความพร้อมสู่การเป็น "เอเชียน แบงก์" (ASIAN Bank) หลังแบงก์ข้ามชาติหลายรายดาหน้าเข้ามาตั้งฐานทัพบุกอาเซียน พร้อมไปกับการมีแบงก์ไทยข้ามไปโตในอาเซียน

ที่มาของการปรับทัพครั้งใหญ่ พิพิธ เล่าว่า เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกันของกลุ่มอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) จนเป็นเป้าหมายสร้างความมั่งคั่งแห่งใหม่บนแผนที่โลก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในสัดส่วน 25% ของโลก

ตามข้อมูลระบุว่า ในปี 2556 อาเซียนบวก 3 ค้าขายกันเอง มูลค่า 1,070,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งสัดส่วนค้ากับจีน 37% อาเซียนค้ากันเอง 26% ค้ากับญี่ปุ่น 25% ค้ากับเกาหลีใต้ 12%

หันไปดูเม็ดเงินลงทุนในอาเซียนบวก 3 ในปี 2556 ก็สูงถึง 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นขนเงินมาลงทุนสูงสุดถึง 49% รองมาเป็นจีน 16% อาเซียนลงทุนกันเอง 29% เกาหลีใต้ 6%

สมรภูมิบริการทางการเงินบนสังเวียนอาเซียนบวกสาม จึงเริ่มร้อนแรง เร่งเครื่องให้เคแบงก์เคลื่อนทัพดักทางเม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้

จากที่ไม่ได้ตั้งเป้าจะปักธงตั้งสาขา เน้นเพียงเชื่อมเครือข่ายพันธมิตรกับแบงก์ในต่างแดน

ทว่า เมื่อ "จังหวะแห่งโอกาส"มาถึง การขยายสาขาจึงเริ่มขึ้น

โดยปี 2554 เคแบงก์ตัดสินใจเปิดสาขาแรกในจีน ณ เมืองเซินเจิ้น ตามมาด้วยการเปิดสาขาสองในปีที่ผ่านมา (2556) ณ เมืองเฉิงตู และมีแผนจะเปิดสาขาที่สามในจีนปีนี้ ยกฐานะการจากการเป็นแบงก์ต่างชาติ เป็นแบงก์ท้องถิ่น (local bank) ตามกฎเกณฑ์ของรัฐบาลจีน ซึ่งจะได้สิทธิ์การทำธุรกรรมการเงินไม่ต่างจากแบงก์จีน

พร้อมกันนี้ ยังมีแผนจะเปิดสาขาในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดจีน ประมาณ 3 สาขาในปีนี้

ปี 2557 จึงถือเป็นการ "รุกใหญ่" ในต่างประเทศ ของเคแบงก์ !!!

“ต้องตีโจทย์ใหม่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป ธนาคารไม่ได้ให้บริการการเงินกับลูกค้าอย่างเดียว ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เมื่อการค้าในภูมิภาคเชื่อมโยงกันมากขึ้น ก็ต้องบริการให้ครบรอบด้าน เพื่อส่งต่อความมั่งคั่ง ขับเคลื่อนชัยชนะให้กับลูกค้า” พิพิธ เล่า

ย้อนกลับไป พิพิธ คืออดีตนักเรียนทุนเคแบงก์ ก่อนจะเป็นหนึ่งในขุนพลเอก ที่ นายใหญ่ "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เลือกใช้ให้ไปกรุยทางเปิดสาขาในจีน ที่เป็นเสมือนกล่องดวงใจของบัณฑูร เพราะหนึ่งมณฑลของจีนมีขนาดประชากรมากว่าหลายประเทศในแผนที่โลก

พิพิธ ก็ไม่ทำให้นายใหญ่บัณฑูร ผิดหวัง เมื่อพาเคแบงก์ในจีนเจาะลูกค้าขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ได้สำเร็จ ทำผลงานเข้าตาจากยอดสินเชื่อลูกค้าในจีนที่พุ่งขึ้น โดยเมื่อ 2-3ปีที่ผ่านมายอดสินเชื่อลูกค้าจีนเติบโตปีละ 200-500% จึงได้รับมอบหมายจากบัณฑูรให้มาบริหารสายงานธุรกิจข้ามประเทศ ที่ครอบคลุมภารกิจในหลายประเทศทั้งอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

พิพิธ ยังเล่าติดตลกว่า เมื่อรู้ตัวว่าจะถูกส่งตัวไปดูแลธุรกิจในจีน ก็ลงทุนไปฝึกปรือภาษาจีนจนคล่องแคล้ว เพราะรู้ดีว่า ภาษาคือด่านหน้าการติดต่อลูกค้า แสวงหาพันธมิตร สานสัมพันธ์ผูกมิตรกับลูกค้า หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการรุกตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเขาถูกส่งตัวข้ามไปชิมลางธุรกิจบริการการเงินในจีนในปี 2554

"โอกาสเจาะตลาดเอสเอ็มอีในจีนยังมีมหาศาล จากขนาดของตลาด" พิพิธ บอกเช่นนั้น

โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก จากทุนต่างชาติที่ดาหน้าเข้าไปลงทุนและทำการค้าในจีน อาทิ เครือข่ายซัพพลายเชนระหว่างไทย-จีน และอาเซียน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการจีนเลือกใช้บริการแบงก์ฮ่องกงกับสิงคโปร์เป็นทางผ่านการเงินถึง 70% เมื่อเคแบงก์ไปตั้งสาขาในจีน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าไปนำเสนอบริการทางการเงินในช่องทางนี้

รองกรรมการผู้จัดการ สายงาน "ธุรกิจข้ามประเทศ" ยังบอกด้วยว่า ความสำเร็จจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจธนาคารในจีน ทำให้เคแบงก์ปฏิบัติการเชื่อมต่อวงแหวนธุรกรรมการเงินไปยังอาเซียน กับเป้าหมายที่จะเพิ่มสินเชื่อเพื่อการลงทุนอาเซียนบวก 3 ให้เติบโตถึง 48% จากมูลค่า 26,000 ล้านบาท เป็น 39,000 ล้านบาท ให้ได้

แม้ว่าปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อลูกค้าในไทยจะยังเป็นสัดส่วนหลักถึง 92.5% ทว่าสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศที่เหลือ อีก6.6% ถือเป็นตลาดแห่งอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น อาทิ ทุนญี่ปุ่นที่ชัดเจนว่าจะปักธงลงทุนในอาเซียนอีกละลอก จึงเป็นเหตุให้เคแบงก์ต้องเคลื่อนตัวเร็วไปพร้อมกับลูกค้าเหล่านี้

"ทั้งญี่ปุ่นและจีน มีเป้าหมายเข้ามาเชื่อมต่อการค้ากับอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นทั้งการค้าและการลงทุน จีน มีนโยบาย "going out" ส่วนชาวญี่ปุ่นมีนโยบาย "Thailand-plus-one” ต่างฝ่ายต่างพุ่งเป้ามายังอาเซียน จังหวะที่ความมั่งคั่งหลั่งไหลเข้าสู่อาเซียนแบบจู่โจมเช่นนี้ เคแบงก์ จึงไม่ยอมตกขบวน ปรับกลยุทธ์ตักตวงโอกาสแบบเคลื่อนให้เร็วที่สุด" พิพิธ เล่า

โดยสาขารอบอาเซียน เคแบงก์จะเน้นลูกค้าญี่ปุ่นเป็นหลัก ส่วนการค้าระหว่างประเทศต้องยกให้จีน

“เราลับกลยุทธ์ธุรกิจให้คมขึ้น ด้วยการไปตั้งสาขาจากเดิมเน้นพันธมิตร เราใช้เวลาคิดเยอะ และเตรียมศึกษานาน เตรียมคนในองค์กร เราไปช้าเพราะรอจังหวะ แต่ถ้ามูฟก็มูฟเร็ว เมื่อเปิดแล้วต้องได้ลูกค้าเลย แบบทำธุรกิจทันที เราไม่ตั้งสำนักงานตัวแทนเพื่อรอลูกค้า หรือบางประเทศกฎหมายยังไม่เปิดก็ไม่เข้าไป"

นอกจากนี้ สิ่งที่แบงก์ต้องเตรียมพร้อมคือการพัฒนานวัตกรรมการเงินบริการ เครือข่าย ทักษะบุคลากร จนถึงเทคโนโลยี เป็นยุคที่แบงก์ต้องคิดนอกกรอบเป็นมากกว่าการบริการการเงิน แต่ต้องให้บริการครอบจักรวาลเพื่อลูกค้า ตั้งแต่ให้คำปรึกษา จับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ให้คำปรึกษา ข้อมูล ทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องการธุรกิจที่ทำได้ พร้อมกับจัดเตรียมบริการด้านธนาคารที่มีเวอร์ชั่นรองรับภาษาอาเซียนบวกสามให้พร้อม รวมถึงเปิดบุคลากรจากกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม จาก 300 คนเป็น 400 คน เพื่อรองรับกับการบริการลูกค้า และการขยายสาขา
-------------------------------------------

เจาะ " 6 กลุ่มลูกค้า" รุกอาเซียนบวก 3

พิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจข้ามประเทศ ธนาคารกสิกรไทย (เคแบงก์) กล่าวถึงการตลาดอาเซียนบวกสาม ด้วยการจัดแบ่ง 6 ธุรกิจเป้าหมายในการเพิ่มลูกค้าที่จะมาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน บริการ และแรงงาน ได้แก่

1.การค้าระหว่างประเทศ รองรับการนำเข้า -ส่งออก สินค้าระหว่างกัน ทั้งซัพพลายเชน การผลิต ขนส่งเคลื่อนย้ายระหว่างกันในภูมิภาคที่จะเพิ่มมากขึ้นมหาศาล

2.ธุรกิจการค้าชายแดน เมื่อมีการเชื่อมโยงการค้ากับเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ตัวเลขการค้าชายแดนจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

3.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยมีการลงทุนญี่ปุ่นเป็นทัพหน้า ตามมาด้วย จีน และเกาหลีใต้ 3 ประเทศเป้าหมายหลักในการเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งผลิต และทรัพยากรใหม่ที่มีต้นทุนต่ำ พร้อมกับขยายตลาดสู่อาเซียน

4.การลงทุนนอกประเทศของธุรกิจไทย เมื่อค่าแรงสูงขึ้นกิจการไทยบางอุตสาหกรรมก็เคลื่อนย้ายฐานไปปักธงแหล่งผลิตประเทศใหม่ๆ รวมถึงหาตลาดใหม่ๆ

5.รายย่อย (กลุ่มนักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติ ที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย) จะมีมากขึ้น ผลจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามมาด้วยการเคลื่อนแรงงานเสรีมากขึ้น

6.ลูกค้าท้องถิ่นในประเทศที่ธนาคารมีสาขา เช่น ในจีน