ถอดรหัส "Thai Wave" คลื่นทุนไทย ฝ่าดงวิกฤติ...ยูโรโซน

ถอดรหัส "Thai Wave" คลื่นทุนไทย ฝ่าดงวิกฤติ...ยูโรโซน

ตามรอยพี่ใหญ่ ทัพหน้าทุนไทย ฝ่าวิกฤติยูโรโซน กรุยทางโตในยุโรป ช้อนซื้อ "สินทรัพย์ดีราคาถูก" สปริงบอร์ดเปิดประตูสู่ "ตลาดยุโรป"

รอยต่อจากการสั่นสะเทือนด้วยพิษเศรษฐกิจขาลงจากซับไพร์มลามมาถึงวิกฤติยูโรโซน ทำให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรป ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ด้วยขนาดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) สูงอันดับ1 ของโลก มูลค่า 17,610,826 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2011 (พ.ศ.2554) เจ็บหนัก กลายเป็นโอกาสของ "กองทัพทุนไทย" พลิกจังหวะ ฝ่าวิกฤติข้ามทวีปพากันไปชอปสินทรัพย์ราคาถูก ยึดฐานแทรกซึมตลาดรอจังหวะเติบใหญ่

ข้อมูลยืนยันจาก ชูลิต สถาวร อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในฐานะหัวหน้าผู้ดูแลกลุ่มประเทศยุโรป เผยให้เห็นการเคลื่อนทัพของทุนไทยครั้งใหญ่ในรอบ 5 ปีผ่านตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ระบุว่า เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากมูลค่าเริ่มต้นที่กว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,240 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)

ไล่เลียงสถิติย้อนหลังเงินลงทุนไทยไหลข้ามทวีปยุโรป ในปี 2552 มีมูลค่า 44.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2553 ปีที่เริ่มเกิดวิกฤติซับไพร์ม รวมถึงสัญญาณวิกฤติยูโรโซน คนไทยเริ่มเพิ่มเงินลงทุนในยุโรปกระโดดมาอยู่ที่มูลค่า 452.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2554 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีก เป็น 576.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งปีที่ 2555 ตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้นมาถึง 1,462.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (45,342.18 ล้านบาท)

ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างเห็นเด่นชัดว่าทุนไทยอพยพตามกันไปในยุโรปเป็น "ระลอกใหญ่"

มาถึงปี 2556 ตัวเลขยังก็สูง แต่ในอัตราที่ต่ำลงหากเทียบกับปีก่อน โดย 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.ปี 2556) มีมูลค่าการลงทุนไทยในยุโรป 608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18,848 ล้านบาท)

ตัวเลขนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา วิกฤติเศรษฐกิจถดถอย (recession) กลับกลายเป็นจังหวะทุนไทยเร่งฝีเท้าเข้ายุโรป

สถิติยุโรปเป็นเพียงหนึ่งตัวชี้วัดได้ว่าทุนไทยเริ่มกระโดดข้ามประเทศเท่านั้น แต่หากนับรวมมูลค่าการลงทุนไทยในต่างประเทศจะพบว่า ทุนไทยขนเงินไปลงทุนทั้งสิ้นในปีที่ 2555 มูลค่าถึง 12,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (392,212 ล้านบาท) จากเดิมปี 2554 มีมูลค่าการลงทุนไทยในต่างประเทศ 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเฉลี่ยปี 2551-2554 เพียงปีละ 4,000 ล้านบาท)

ขณะที่ตัวเลข 9 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 5,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (181,009 ล้านบาท)

ทูตพาณิชย์ ณ กรุงลอนดอน ยังเผยถึงปัจจัยผลักให้ทุนไทยต้องกระโดดไกลข้ามทวีป เพราะยุคของ "โกลบอลไลเซชั่น" ที่นั่งค้าขายอยู่แต่ในบ้านตลาดเดียว ไม่ได้อีกต่อไป

“ยุคนี้แค่เก่งแต่ในบ้านถือว่าไม่โตจริง หากอยากเติบโตจริงต้องก้าวไปลงทุนต่างประเทศ ถึงจะสู้เขาได้” ทูตพาณิชย์ไทย มองยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ

เขามองว่า ปรากฏการณ์ถอนสมอล่องไปนอกบ้าน และทะยานไกลไปขึ้นบกถึงทวีปยุโรป เนื่องจากไทยอยู่ในวัฏจักรที่ต้องเดินตามรอยญี่ปุ่นที่เฮโลหอบธุรกิจมาปักธงผลิตในไทยตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา

ไทยก็เช่นเดียวกันถึงวันที่ต้องบินออกไปเติบโตสร้างความแข็งแกร่งจากตลาดภายนอก ด้วยขนาดธุรกิจที่ขยายขึ้น ตลาดจึงไม่จำกัดแค่เพียงประเทศไทยแห่งเดียวอีกต่อไป

ต้องไปยึดหัวหาดเขาก่อนที่คู่แข่งมากมายจะบุกยึดเรา

คีย์เวิร์ดสำคัญที่เป็นแรงผลักให้ทุนไทยต้องก้าวขาไปออกนอกบ้านท้าทายโลกลงทุน ก็เพื่อเสริม "เขี้ยวเล็บ" ขีดแข่งขันกิจการไทย

นอกจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว อีกหลากเหตุผลที่ทุนไทยรุกออกไปลงทุนข้ามชาติ ยังต้องการติดอาวุธจากทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลง จึงต้องกระโจนหาแหล่งทรัพยากรใหม่ , การออกไปเพื่อต้องการตัดต้นทุนการผลิตให้เบาลงหลังจากต้นทุนค่าแรงและค่าขนส่งในไทยนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตในประเทศที่เริ่มแข่งไม่ไหว จึงต้องออกไปหาฐานการผลิตใหม่ที่ต้นทุนต่ำกว่า

อาวุธถัดมา การที่ทุนไทยออกไปซื้อหรือควบรวมกิจการก่อนแปลงสัญชาติเป็นทุนยุโรป จะทำให้ได้รับสิทธิ์บุกเข้าไปทำในยุโรปได้โดยปริยาย จากฐานตลาดเดิมที่มีอยู่ โดยไม่ต้องออกแรงส่งสินค้าผ่านด่านตรวจที่เข้มงวดด้านมาตรฐานในยุโรป ที่ตั้งไว้ในระดับที่สูงมาก และยุ่งยากซับซ้อน

"ซื้อกิจการ" จึงเป็นทางลัดฝ่าทุกด่าน โดยไม่ต้องมีสินค้าต้องสำแดงเหมือนกับการนำเข้า

อาวุธสุดท้าย คือการ "ยกระดับ" การผลิตอย่างไทยๆไปสู่มาตรฐานยุโรป ด้วยเทคโนโลยีที่มีการวิจัยและพัฒนา "ล้ำหน้า" กว่าไทย

นั่นคือคำตอบของการดิ้นเฮือกใหญ่ เพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรปสำหรับกิจการพี่ใหญ่แบรนด์ดัง "สายป่านยาว" จึงเลือกบุกไปลงทุน โดยเฉพาะห้วงเวลาที่ยุโรปเศรษฐกิจถดถอย มีสินทรัพย์ด้อยค่า การซื้อกิจการและควบรวมกิจการ พร้อมกับหาพันธมิตรจึงแจ่มใสกว่าเดิมค่อนข้างมาก "ทูตพาณิชย์" วิเคราะห์

++สหราชอาณาจักร ฐานที่มั่น "อันดับ1"

ก่อนจะแจกแจงรายละเอียดถึง "ช่องทาง" ของทุนไทย ที่บุกไปในแต่ละประเทศในยุโรปว่า "สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) " คือฐานที่มั่นอันดับ1 ของทุนไทยที่อพยพไปลงทุนในสัดส่วนมากถึง 80 -90% โดยในปี 2012 (2555) เม็ดเงินของทุนไทยเข้าไปลงทุนในอังกฤษ ขยายตัวสูงถึง 19-20% เหตุผลเป็นเพราะได้รับอานิสงส์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรปให้มีอาการดีขึ้น ด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) พ่วงกับนโยบายจากรัฐบาลเมืองผู้ดี ซึ่งใช้วิธีการอัดฉีดเม็ดเงินในระบบไม่ต่างจากมาตรการคิวอีของอเมริกา ส่งผลให้เงินกู้ต้นทุนต่ำไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น การลงทุนจึงพุ่งเป้าหมายมายังสหราชอาณาจักร

เห็นได้จากสถิติของความเนื้อหอมจากการแห่แหนขนเงินไปลงทุนในอังกฤษ จากบรรดานักลงทุนต่างชาติ (FDI - Foreign Direct Investment) อังกฤษครองสถิติติดอันดับที่ 5 ของประเทศที่มี FDI มากที่สุดของโลกในปี 2012(2555 ) เกาะกลุ่ม 5 ประเทศตามดูดเงิน FDI ได้สูงสุดในโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง และบราซิล

กลุ่มทุนไทยที่เป็นนักบุกเบิกในยุคยูโรโซน ทูตพาณิชย์ ณ กรุงลอนดอน เล่าว่า ประกอบด้วย บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (SSI ) ที่เข้าไปซื้อกิจการโรงงานถลุงเหล็กเก่าแก่อายุ 170 ปี Teesside Cast Product -TCP ผู้ผลิตเหล็กครบวงจร ในปี 2554 โรงงานใหญ่ผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 2 ในยุโรป กำลังการผลิตสูงสุด 3.5 ล้านตันต่อปี ด้วยมูลค่า 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าราว 34,000 ล้านบาท) บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ ในเมืองเรดคาร์ ประเทศอังกฤษ

"เอสเอสไอ" ถือเป็นกลุ่มทุนที่เข้าไปฟื้นกิจการโรงงานที่ปิดกิจการ ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ให้กลับมาจุดเตาหลอมเหล็กเดินเครื่องอีกครั้ง เมื่อ 15 เมษายน 2555 ผลิตเหล็กป้อนให้กับความต้องการในประเทศ และส่งออกมาจำหน่ายในไทย ใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยต์ พลังงาน ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์

นักลงทุนรายต่อมาที่เข้ามาปักธงในเกาะอังกฤษ โดยค่อยๆเพิ่มขนาดของกิจการอย่างต่อเนื่อง คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ อีกหนึ่งทุนธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่ของไทยที่เข้าไปชิมลางร่วมทุนนักธุรกิจชาวอังกฤษ เปิดบริษัท CP Food (UK) ตั้งโรงงานบรรจุภัณฑ์อาหาร 2 แห่ง ในเมือง นิวมาร์เก็ต โดยนำเข้าไก่ปรุงสุกและสินค้าอื่นๆ จากไทยเข้าไปแปรรูปบรรจุเป็นอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เน้นการพัฒนาสินค้าสะดวกรับประทาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนปักธงโรงงานแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ รวมถึงการทำฟาร์มเลี้ยงหากจังหวะหรือพื้นที่เอื้ออำนวย ซึ่งถือเป็นการลงทุนครบวงจรจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

ทูตพาณิชย์ ณ กรุงลอนดอน เล่าต่อว่า อีกกิจการไทยที่เข้าไปลงทุนในอังกฤษมานาน คือ ธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เข้าไปซื้อกิจการโรงงานผลิตบรั่นดี จากต้นตำรับสกอตแลนด์ โดยเข้าไปซื้อหุ้นใน Inver House Distillers Limited บริษัทผลิตวิสกี้ และสุราพรีเมี่ยม มีฐานการผลิตใน 5 โรงงานผลิต
โรงงานในสกอตแลนด์สำหรับไทยเบฟ จึงทั้งฐานการผลิตในการกระจายสินค้าไปยังประเทศข้างเคียงในยุโรป ระหว่างที่รอทีมการตลาดเข้ารุกหนักเป็นสปอนเซอร์หลักให้ลีกฟุตบอลในอังกฤษ อย่างทีม "เอฟเวอร์ตัน" ในพรีเมียร์ลีก รวมถึง ทีม "รีลมาดริด" และ "บาร์เซโลน่า" กลายเป็นแรงส่งสำคัญให้แบรนด์ "Chang" ปรากฏสู่สายตาชาวโลกได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากเอสเอสไอ ซีพีเอฟ และไทยเบฟแล้ว อีกกิจการที่ไปได้ดีในอังกฤษ คือ "ธุรกิจร้านอาหารไทย" ด้วยรสชาติอาหารไทยติดแชมป์ชาติเจ้าของอาหารที่คนบริติชนิยมชมชอบ จึงไม่แปลกที่จะมีร้านอาหารไทยถึงเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,500 แห่ง รวมถึงธุรกิจสปา ก็ยังเป็นสินค้าดาวเด่นอีกดวงที่วิ่งตามกันมา โดยเปิดกิจการในอังกฤษแล้วกว่า 60 แห่ง

เขามองว่า "แต้มต่อ" อันทรงพลังมาพร้อมกับการ "เทคโอเวอร์" เพื่อเพิ่ม "แรงลมใต้ปีก" ให้แบรนด์ไทยบินเหนือเมฆ หลุดกับดักรับจ้างผลิตแข่งขันแบบตัดราคา ซึ่งที่ผ่านมาทุนไทยเป็นเพียงกระดูกคนละเบอร์กับทุนยุโรป มาวันนี้ ชื่อชั้นกิจการไทยเริ่มไม่ธรรมดา

ตามรอยแบรนด์ระดับโลก ที่ราคาแพงอย่างไร้เหตุผล คนทั้งโลกแย่งกันซื้อ อาทิ นาฬิกาโรเล็กซ์ (Rolex) และ ปาเต็ก ฟิลิปป์ (Patex philippe) นั่นเพราะมีการลงทุนการตลาดปรับสถานะจากนักผลิต สู่ นักค้า (Trading ) เติมเสน่ห์การตลาดและดีไซน์ให้กับสินค้า เป็นต้น

“เราต้องพลิกประเทศจากที่เคยแข่งขันด้านการผลิต ไปสู่การเพิ่มดีไซน์และสร้างแบรนด์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมถึงการทำวิจัยและพัฒนา(R&D) จึงก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน"

++ข้ามเกาะอังกฤษ สู่ "เมืองน้ำหอม"

จากเกาะอังกฤษข้ามไปดูประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกประเทศคือ "ฝรั่งเศส" ประเทศที่เผชิญกับวิกฤติยูโรโซนเข้าเต็มๆ จนต้องเร่ขายสินทรัพย์ในหลากกิจการ

ก่อนที่ฝรั่งเศสจะประสบชะตากรรมยูโรโซน คนไทยไปลงทุนในฝรั่งเศสน้อยมาก เพราะจัดเป็นอีกประเทศที่ตลาดโหดและหิน แค่พูดกันคนละภาษาก็ยากแล้ว เรื่องที่จะคิดทำธุรกิจยิ่งยากกว่า

"ประกายศักดิ์ สวัสดิสิงห์" ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้ดูแลตลาดฝรั่งเศสและประเทศใกล้เคียง มองว่า ฝรั่งเศส เป็นตลาดที่ถูกทุนไทยมองข้ามมาตลอด เพราะสื่อสารกันคนละภาษา

ทว่า เวลานี้เป็นจังหวะที่เหมาะที่สุดแล้ว ของการซื้อกิจการพร้อมกับสินทรัพย์งามด้วยราคาต่ำ

ยิ่งยามนี้ มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส งอนง้อทุนหน้าใหม่จากทุกสารทิศ ไม่เว้นแม้เป็นทุนเล็กขอให้นำเงินเข้าประเทศ เป็นพอ

"ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะที่สุด เท่าช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา" ประกายศักดิ์ เล่า พร้อมยกตัวอย่างทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในฝรั่งเศส อย่าง "ดั๊บเบิ้ลเอ" แบรนด์กระดาษไทยที่เข้าไปฮุบกิจการโรงงานกระดาษในฝรั่งเศสเมื่อต้นปี 2013 (2556)

ทูตพาณิชย์ ณ กรุงปารีส ยังบอกด้วยว่า แม้สินทรัพย์ในฝรั่งเศสจะด้อยค่าลงจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะซื้อกิจการ เพราะกลุ่มสหภาพแรงงานของฝรั่งเศส นับว่าเข้มแข็ง ขนาดที่เรียกร้องอะไรรัฐบาลต้องหันมาเงี่ยหูฟัง
ก่อนหน้านั้น ยังมีบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ เจ้าของแบรนด์ “Select” ทูน่าของไทย ที่เข้าซื้อกิจการจากผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปอย่าง เอ็ม ดั๊บเบิ้ลยู แบรนด์ (MW Brands)เดือนก.ค.ปี 2553 ด้วยมูลค่า 680 ล้านยูโร (มูลค่า 28,495.74 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน 41.90 บาทต่อ 1 ยูโร )

โดยบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของแบรนด์ทูน่าชื่อดัง “John West” ผู้นำตลาดในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ และแบรนด์ “Petit Navire" ในฝรั่งเศส รวมถึง แบรนด์ "Mareblu" หนึ่งในแบรนด์ทูน่าชั้นนำในอิตาลี
ทียูเอฟ จึงหวังใช้เครือข่ายแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นแขนขาขยายช่องทางการค้าในอนาคต ที่จะเพิ่มสัดส่วน "Select" ทูน่าแบรนด์ไทยไปโผล่ในตลาดที่เป็นเครือข่ายของทียูเอฟทั่วโลก

++จากอังกฤษ ฝรั่งเศส สู่ "มิลาน"

จากอังกฤษ ฝรั่งเศส ลงมาตอนตอนใต้ของยุโรป ศูนย์กลางแฟชั่นโลกอย่าง "มิลาน" แบรนด์เนมดังๆล้วนมายึดหัวหาดบนถนนสายแฟชั่นแห่งนี้ รวมถึงทุนไทย

"วรรณศรี โชติกะพุกกณะ" ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองเมืองนี้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ปูพรมสินค้าไทย ไปสู่ "เมืองหลวงแห่งแฟชั่นโลก" (Fashion Capital City)

กลยุทธ์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองว่าอิตาลี มีเมืองสำคัญอยู่ 2 แห่งคือ กรุงโรม ที่เปรียบเหมือน "ร่างกาย" ส่วนมิลาน คือ “หัวใจ” ในการขับเคลื่อนร่างกาย จากชื่อเสียงด้านแฟชั่นโลก และเป็นตัวชี้วัด (Indicator) เศรษฐกิจของประเทศ

“โรมคือร่างกายที่ขับเคลื่อนด้วยหัวใจสูบฉีดเศรษฐกิจต่างๆ ล้วนมาจากมิลาน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ณ เมืองแฟชั่นแห่งนี้"

ทูตพาณิชย์ บอกว่า คนไทยจึงมอง "มิลาน" เป็นเหมือนต้นแบบ (Role Model) ของโลก ในเรื่องรสนิยม ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เหมาะที่จะประกาศให้ชาวโลกรู้จักสินค้าไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจในยุโรปผันผวน ที่ทุนไทยเร่งฝีเท้าเข้ามา นั่นคือ กลุ่มเซ็นทรัล บิ๊กเนมธุรกิจค้าปลีกของไทย

ทว่า การพลิกข้ามทวีปของกิจการคนไทยในนาม บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CRC) ฉวยจังหวะเศรษฐกิจอิตาลีไม่สู้ดี ส่งทีมบริหารเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า "ลา รีนาเซนเต" (La Rinacente) ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่อันดับหนึ่งในอิตาลี อายุ 150 ปี กลางเมืองมิลาน

นี่คือการเดินธุรกิจค้าปลีกแบบตัดตอน (Short Cut) ของกลุ่มเซ็นทรัล ในการต่อยอดกิจการค้าปลีกในเมืองแฟชั่นโลก ในเวลารวดเร็ว

“หลังจากเซ็นทรัลเข้ามาซื้อกิจการ ผู้บริหารก็เปิดทางรัฐบาลไทยเข้าไปร่วมมือทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น”

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงได้ร่วมมือกับห้างฯดังแห่งนี้ ลงนามความร่วมมือการค้า เพื่อผลักดันสินค้าไทยไปเปิด "มุมการค้า" ในเมืองแฟชั่นแห่งนี้ เปิดประตูสินค้าไทยสู่อิตาลี

โดยใช้ "แต้มต่อ" จากความใหญ่ของเซ็นทรัล เป็นทัพหน้าถางทางสร้างตลาดสินค้าไทย
----------------------------------

"ทุนไทย" บุกสแกนดิเนียเวีย

นอกจาก ลา รีนาเซนเต กลุ่มเซ็นทรัล ยังต่อยอดกิจการค้าปลีกในยุโรป ด้วยการโดดเข้าซื้อกิจการ ห้างฯหรูในยุโรป อายุกว่า 120 ปี “อิลลุม”(Illum) ในเดือน มีนาคมปี 2556 ทำเลทองใจกลางเมืองโคเปเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ศูนย์กลางสแกนดิเวียน ตลาดของคนมีรวยมีกำลังซื้อ

สุจิตรา ถนอมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ศูนย์กลางการค้าและประตูสู่กลุ่มประเทศนอดิก (สแกนดิเนเวียน) ทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และไอส์แลนด์

ความโดดเด่นของเดนมาร์กอยู่ตรงที่ เป็นกลุ่มตลาดสแกนดิเนเวียน ที่มีอนาคตไกล แม้จะเป็นเมืองเล็ก ประชากรน้อย ไม่ใช่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่เป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง จึงเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติยูโรโซนน้อยที่สุดก็ว่าได้

นั่นจึงทำให้จำนวนบริษัทเข้ามาลงทุนในเดนมาร์กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2556 ธนาคารโลก (World Bank) จัดอันดับให้เมืองโคนมแห่งนี้ เป็นเมืองที่น่าลงทุนที่สุดในยุโรป และอยู่อันดับ 5 ของโลกถึง 2 ปีซ้อน วัดจากโครงสร้างพื้นฐาน โอกาสทางเศรษฐกิจ การขนส่ง คมนาคม อินเทอร์เน็ต รวมถึงความแข็งแกร่งของตลาดเงิน ตลาดทุน แม้กระทั่งกฎหมายก็ยังเปิดกว้างอ้าแขนรับต่างชาติ แรงงานในประเทศนี้ยังจัดว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก (World Best Work Force) ที่เป็นผลิตผลจากการปูรากฐานการศึกษามานานกว่า 100 ปี มีสวัสดิการเรียนฟรีจนจบปริญญาโท

"เดนมาร์กพร้อมทุกอย่างด้านการลงทุนที่สะดวก ง่าย และรวดเร็ว แม้กระทั่งการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ยังทำได้รวดเร็วทางออนไลน์ในราคา 8 หมื่นโครน หรือราว 4 แสนบาท เปลี่ยนใจเลิกทำกิจการก็สามารถขนย้ายเงินได้ทันที" ทูตพาณิชย์ เล่า

"คลื่นทุนไทย" จึงแห่ไปปักธงในยุโรป โดยเฉพาะ "กลุ่มทุนขนาดใหญ่" ที่นำร่องไปก่อน กลายเป็น "กรณีศึกษา" ให้กับทุนไทยที่มีขนาดธุรกิจใหญ่รองๆลงมาติดตามไป นั่นเพราะประเทศไทยเป็นเวทีการแข่งขันที่เล็กไปแล้ว ภายใต้โลกการค้าเสรี