“Young Citizen”กิจการเพื่อสังคมของคนหนุ่มสาว

“Young Citizen”กิจการเพื่อสังคมของคนหนุ่มสาว

“ข้าวหอมสุข”ส่งกลิ่นหอม และความสุขอยู่ในบูธเล็กๆ ของงาน“คนไทยขอมือหน่อยฯ”นี่คือหนึ่งกิจการเพื่อสังคมจากพลังของคนหนุ่มสาว..Young Citizen

“พวกเราไม่อยากเป็นเหมือนหลายคน ที่เมื่อเรียนจบออกไป ต่างก็ไปทำงานของตัวเอง แล้วแบ่งเศษเสี้ยวของเวลามาช่วยเหลือสังคม แต่จะคิดสวนทาง คือ ทำอย่างไรให้งานเพื่อสังคมสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง แล้วพลิกเอาเวลาส่วนใหญ่ของเรามาทำงานเพื่อสังคม โดยการทำกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสังคม สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ ขณะที่พวกเราเองก็ยังอยู่ได้ในเชิงอาชีพด้วย”

กอล์ฟ-วิชิต วราศิริกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Young Citizen บอกเล่าจุดกำเนิดของกิจการเพื่อสังคมน้องใหม่

พวกเขาเติบโตจากการเป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวในนาม "กลุ่มนักศึกษาใส่ใจไทย" ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และมุ่งเน้นทำงานเพื่อส่งเสริมการศึกษาภาคพลเมือง ซึ่งการมีโอกาสได้ทำกิจกรรม ไปออกค่ายอาสา ทำแผนพัฒนาต่างๆ กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม ค่อยๆ ปลูกฝังความคิดบางอย่างให้กับพวกเขา

“ปัญหาในสังคมมีเยอะมาก ทุกคนเรียกร้องอยากแก้ปัญหา มีแต่เสียงบ่น เสียงว่า แต่ไม่เห็นมีใครลงมือทำจริงๆ”

เมื่อเรียนจบ แต่ไฟยังล้นปรี่ เขาและเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ จึงได้ก่อตั้ง Young Citizen ขึ้น ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อให้การลงมาทำงานภาคสังคมครั้งนี้ ยังสามารถเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้องพวกเขาได้ด้วย

Young Citizen ไม่ได้เริ่มคิดจากว่า พวกเขาจะอยู่รอดและหาเงินได้จากงานอะไร แต่คิดจากสังคม ว่า ด้วยกำลังของพวกเขา จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาสังคมด้านใดได้บ้าง จนมาสรุปที่ผลิตภัณฑ์ “ข้าวออร์แกนิกส์”

“จุดแข็งของประเทศเรา คือ เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ทั้งๆ ที่เรามีจุดแข็งนี้ แต่ทำไมเกษตรกรถึงยังยากจนและมีปัญหาอยู่” พวกเขาตั้งคำถาม และไม่ได้นั่งเทียนหาคำตอบ แต่เริ่มลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวนา จนพบความจริงที่สะเทือนใจใครหลายคนว่า

“ชาวนา ไม่มีความรู้เรื่องการทำนาเลย เพราะว่าเขาเรียนรู้ทุกอย่างจากแค่ที่บอกไว้ในกระสอบปุ๋ย”

จริงแค่ไหนที่ชาวนาไทยปลูกข้าวมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทว่าต้องมาถูกครอบงำ “วิชาปลูกข้าว” จากกลุ่มนายทุนที่ขายปุ๋ยเคมีให้ พร้อมสูตรยาที่ระบุไว้อย่างแจ่มชัด พวกเขาบอกว่า พอได้คุยกับนักวิชาการ และปราชญ์ชาวนา ถึงได้คำตอบว่า

“ข้าวแต่ละชนิดมีวิถีและมีกระบวนการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว เพิ่ม Productivity ไม่ได้”

ลงทุนสูง ผลผลิตไม่ดี หนี้สินก็ท่วมตัว “ยิ่งปลูก ยิ่งจน” คือ สารพัดคำตอบที่ได้ฟังจากชาวนา ก่อนการชี้ชวนให้ลองมาปลูกข้าวออร์แกนิกส์ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่า ซ้ำยังลงทุนไม่หนัก เพราะไม่ต้องพึ่งพิงปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลง แต่สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ดูแลข้าวจากธรรมชาติ ทั้งยังดีกับสุขภาพชาวนา และคนไทยที่จะได้ทานข้าวดีๆ ตามไปด้วย

“เราไม่ได้บังคับให้เขามาทำ แต่ยื่นข้อเสนอให้ เช่น การปลูกวิธีนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตเขาลดลงนะ และผลผลิตที่ได้เราจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าที่เขาเคยได้ ใช้วิธีถามความคิดเห็นเขา เหมือนเรายื่นมือไป เขาก็ต้องยื่นมือกลับมาด้วย ต้องมีทัศนคติที่ตรงกัน แล้วเราก็จะให้ทีมงานที่มีประสบการณ์ พร้อมผู้เชี่ยวชาญลงไปช่วยเหลือเขา”

หน้าที่ของ Young Citizen คือ เริ่มจากนำความรู้ลงไปให้ชาวนา พวกเขาเริ่มที่ผืนนาใน จังหวัดนครปฐม และคัดเลือกพันธุ์ข้าวโดยมองที่คุณประโยชน์ที่จะได้เป็นหลัก อย่างเช่น ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ , ข้าวหอมมะลิแดง กระทั่งข้าวนครชัยศรี ที่มีชื่อเสียงมากในอดีต แต่หายไปเพราะกระแส “ข้าวตลาด” พวกเขาก็สามารถฟื้นชีวิตพันธุ์ข้าวชนิดนี้กลับมาได้

มีข้าวสายพันธุ์ดี ก็มาพร้อมแบรนด์สินค้า ในชื่อ “ข้าวหอมสุข” ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ สุขกาย สุขภาพดี และมีความสุข รับเทรนด์ของผู้บริโภคที่สนใจความเป็นอินทรีย์มากขึ้น และเริ่มทำตลาด โดยอาศัยช่องทางที่คุ้นกับคนรุ่นใหม่อย่างเฟชบุ้ค ในชื่อ “YoungCiz” กับการออกงานบ้างตามแต่โอกาส เป็นการแนะนำข้าวคุณภาพให้เป็นที่รู้จักของตลาด

หลายคนคิดว่าทำเท่านี้ ก็น่าจะตอบความเป็นกิจการเพื่อสังคมได้แล้ว เมื่อธุรกิจและสังคม ต่างก็ยั่งยืนไปด้วยกันได้ แต่พวกเขากลับคิดอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น กับโครงการ “พี่อิ่มสุข น้องอิ่มท้อง”

"เราร่วมกับ มูลนิธินิมิตใหม่เพื่อชีวิต ซึ่งเป็นมูลนิธิช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเด็กๆ ที่นั่นได้ทานข้าวแค่วันละสองมื้อ เราเลยมาคิดโครงการ พี่อิ่มสุข น้องอิ่มท้อง คือ การซื้อข้าวหอมสุข 1 ถุง จะเท่ากับมอบ 1 มื้อให้กับน้องๆ เรียกว่านอกจากจะได้ซื้อข้าวที่ดีมีประโยชน์แล้ว ยังได้ทำบุญให้กับเด็กๆ ด้วย”

เมื่อปัญหาสังคมไม่ได้มีแค่ ชาวนา แต่เด็กตัวเล็กๆ ในอีกมุมหนึ่งของประเทศยังขาดแคลนข้าว ในฐานะคนที่ทำธุรกิจข้าว ก็ต้องแบ่งปันความช่วยเหลือนี้ไปถึงพวกเขาด้วย สำคัญกว่านั้น คือ พลเมืองของสังคมยังได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันไปสู่ผู้ด้อยโอกาส ด้วยการสนับสนุนสินค้าดีๆ จากพวกเขา

“ย้อนกลับไปที่ความเป็นตัวตนของเรา การรวมกลุ่มกันขึ้นมา เพราะเราอยากช่วยสังคมไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง และอยากไปไกลกว่าแค่ ช่วยในบางสิ่ง แต่อยากให้ครบองค์ประกอบในการทำธุรกิจเพื่อสังคม คือ ทั้งต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทาง เมื่อคุยกันว่า ทำแค่นี้พอไหม ไม่พอก็ทำเพิ่ม มีกำไร เอาแค่พออยู่ได้ แล้วตัดบางส่วนไปให้กับน้องๆ”

ความคิดต่อไปของพวกเขา คือ เข้าไปยังโรงเรียนนานาชาติ กับกลุ่มเด็กซึ่งมีต้นทุนชีวิตที่ดีในสังคม โดยนำข้าวของพวกเขาไปนำเสนอให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ เพื่อสร้างการเรียนรู้และสำนึกแห่งการแบ่งปัน ให้กับน้องๆ

“นี่จะช่วยสะกิดให้เด็กๆ และอาจารย์ ได้รู้ว่าทุกสิ่งที่พวกเขาทำ นอกจากจะได้กับตัวเขาเอง ยังส่งไปถึงเด็กด้อยโอกาสในสังคมด้วย เป็นการให้ความรู้ และปลูกจิตสำนึก ว่าแค่การทานข้าว ก็ได้ช่วยเหลือสังคมแล้ว ผมเชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากความคิด เมื่อความคิดเปลี่ยน การกระทำก็เปลี่ยน และสิ่งเหล่านี้ก็จะติดตัวเขาไปจนวันที่เติบใหญ่”

เริ่มจากเด็กๆ และจุดเล็กๆ ในสังคม เหมือนที่พวกเขาก็เรียนรู้ จนมาเป็นกลุ่ม Young Citizen อย่างวันนี้..

เป้าหมายของพวกเขาไม่ได้มีแค่ข้าว แต่มองที่จะขยายไปสู่การแก้ปัญหาด้านอื่นๆ เท่าที่ทำได้ เช่นเดียวกับบทบาทของ Young Citizen ก็ไม่ได้มีแค่กิจการเพื่อสังคมเช่นกัน ทว่ารวมถึง การส่งเสริมผลักดันแนวคิดการศึกษาภาคพลเมือง สร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายแนวร่วมเพื่อสังคม และยังคงต้องทำงานหนักต่อไปจากนี้

“อยากให้กำลังใจน้องๆ ว่าการทำงานเพื่อสังคมจะเกิดแรงต้านเยอะมาก ไม่ว่าจะจากตัวเรา คนรอบข้าง กระทั่งครอบครัว แต่ถ้าสามารถทะลุทะลวงปัญหาที่เจอไปได้ ก็จะได้รับสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าปราการบางๆ ที่กั้นเราอยู่ นั่นคือ จะเห็นคุณค่าในชีวิต และความคิดใหม่ๆ จากการเข้าไปแก้ปัญหาบางสิ่งบางอย่างในสังคม”

ก็คงเหมือนกับ “คุณค่า” ที่พวกเขาได้รับ จนยังยืนหยัดในกิจการเพื่อสังคมอย่างเต็มภาคภูมิถึงวันนี้