ใครอยากทำความดี “ยกมือขึ้น”

ใครอยากทำความดี “ยกมือขึ้น”

“คนไทยขอมือหน่อยฯ”เทศกาลรวมพลจิตอาสาครั้งยิ่งใหญ่ที่จุดประกายให้ผู้คน รับรู้ เข้าถึงและมองเห็นต้นแบบงานพัฒนาสังคมเพื่อร่วมสร้างสังคมน่าอยู่

การลุกขึ้นมาชูมือสุดตัว ของมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” ร่วมกับ เครือข่ายมหามวลมิตรการพัฒนาประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย นับ 200 องค์กร เพื่อร่วมกันจัดงาน "คนไทยขอมือหน่อย คนละไม้ คนละมือ เพื่อสังคมน่าอยู่" ในวันที่ 2-3 มีนาคมนี้ ณ ลานเซ็นทรัลเวิร์ล

มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่เผยแพร่กิจกรรมด้านการพัฒนาสังคม สร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนในกลุ่มผู้ทำงานด้านสังคม และเปิดโอกาสให้ประชาชนคนธรรมดา ได้รับรู้ เข้าถึง เกิดแรงบันดาลใจอยากเข้ามาร่วมด้วยช่วยสังคม ตลอดจนมองเห็นช่องทาง และกลไก ในการเข้ามาแสดงพลังได้มากขึ้นทำไมเรื่องของ “พลเมืองอาสา” (Active Citizen) หรือผู้ที่พร้อมช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในทุกสถานการณ์ ถึงสำคัญกับบ้านเรามากขึ้นทุกวี่วัน ลองดูผลสำรวจคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนไทย ปี 2555 ในโครงการ “คนไทย” มอนิเตอร์ เสียงนี้มีพลัง ที่สำรวจความคิดเห็นของคนไทยนับแสนรายทั่วประเทศ พบว่าสังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาสารพัน

ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจครัวเรือน มีรายได้ไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัญหามลภาวะจากสภาพแวดล้อม และภัยพิบัติ ไล่ไปจนความขัดแย้งทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแม้แต่ปัญหาการใช้เวลากับคนในครอบครัว เหล่านี้เป็นต้น

และเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นถึงการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น พบว่าคนถึงร้อยละ 71 เห็นว่าการมีส่วนร่วมคือออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่สร้างปัญหาให้แก่สังคม ประพฤติตนให้ถูกต้องเหมาะสม ยึดถือในศีลธรรม จริยธรรมและคุณงามความดี เป็นต้น โดยมีเพียงร้อยละ 16 ที่บอกว่าจะให้ความร่วมมือในกิจกรรมการพัฒนาชุมชน/สังคม

“เสียงสะท้อนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยยังต้องการคนไทยจากทุกภาคส่วนมาร่วมมือ ลงมือปฏิบัติ ให้เกิดการพัฒนาเพื่อความอยู่ดีมีสุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย” วิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิเพื่อ“คนไทย” บอก และนี่คือที่มาของการจัดงาน คนไทยขอมือหน่อยฯ โดยดึงความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อเปิดไอเดียใหม่ๆ ให้กับการ “ลงมือทำ” เพื่อสังคม

เช่นเดียวกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้พัฒนาระบบสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงงานอาสา ในรูปของ “ธนาคารจิตอาสา” (TIMEBANK) ไอเดียสุดเจ๋งที่จะรับฝากเวลาของอาสาสมัครจิตอาสา ที่เว็บไซต์ www.jitarsabank.com <http://www.jitarsabank.com> มาแบ่งปันเพื่อสังคม

“ธนาคารจิตอาสา” เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาใช้เพื่อประกาศความตั้งใจที่จะแบ่งปันเวลาให้กับสังคม โดยมีระบบแนะนำกิจกรรมอาสาที่เหมาะกับความสนใจ ความสามารถ และแบบแผนการใช้ชีวิต/เวลาว่าง อีกทั้งบริการเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ เตรียมความพร้อม ให้กับทั้งอาสาและองค์กรต่างๆ ซึ่งนี่จะเป็นอีกช่องทางการเข้าถึงของประชาชนที่สนใจอยากทำงานช่วยเหลือสังคม

โดยขณะนี้มีอาสาสมัครมาลงทะเบียนฝากจำนวนเวลาที่อยากทำงานอาสาสมัครแล้วกว่า 70,000 ชั่วโมง รวมถึงปัจจัยเอื้ออย่างการที่ รัฐบาลได้ออกระเบียบสนับสนุนให้ข้าราชการมีสิทธิลางานไปทำงานอาสาสมัครได้

ขณะที่โรงเรียนก็กำหนดชั่วโมงการทำงานอาสาให้แก่นักเรียนในโรงเรียน หรืออย่างหลายบริษัทก็มีนโยบายให้พนักงานใช้ชม.ลาไปทำงานเพื่อสังคมได้เช่นกัน .. ปลดล็อกข้ออ้าง “ไม่มีเวลา” ของใครหลายคนลงได้บ้าง

กลไกเหล่านี้ จะเข้ามาเพื่อเปลี่ยนความคิด ให้ทุกคนรู้ว่า คนเราสามารถทำงานอาสาได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องออกไปต่างจังหวัด และไม่ขึ้นกับเวลาที่มี บางคนอาจมีเวลาว่างเป็นเดือน ขณะที่บางคนมีเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้าใจอยากทำงานเพื่อสังคมซะอย่าง ก็ลองมาลงทะเบียนที่ธนาคารจิตอาสา แล้วผู้มีจิตอาสาทุกคนก็จะถูกจับคู่ให้เจอกับองค์กรพัฒนาสังคมที่ “คลิก” กันได้ เรียกว่าสานต่ออุดมการณ์ก่อการดี ได้อย่างลงตัว “คุณสมบัติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย คือ ความมีน้ำใจ ใจกว้าง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น สสส. มีส่วนร่วมผลักดันสังคมไทยเป็น “สังคมจิตอาสา” ปลูกฝังแนวคิดจิตอาสาให้กับประชาชนให้เป็น“พลเมืองอาสา” ที่พร้อมจะช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในทุกสถานการณ์” ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกความมุ่งมั่นของพวกเขา ที่พร้อมชูสองมือให้กับโครงการนี้อย่างเต็มที่

ขณะที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะประธานการจัดงาน บอกว่า คนไทยมีลักษณะของจิตสาธารณะอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยเห็นได้จากองค์กรเพื่อสังคมมีมากว่า 30-40 ปี ซึ่งสังคมที่ประชากรนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ย่อมเป็นสังคมที่เข้มแข็ง สามัคคี แต่หากเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนก็จะอ่อนแอ เพราะต่างคนต่างทำเพื่อตนเอง และการจัดงานนี้ จึงเป็นการย้ำเตือนให้พวกเราเห็นความสำคัญของการมี “จิตสาธารณะ” อย่างเป็นรูปธรรม

คือ ต้อง พูด คิด และลงมือทำ

“คนไทยยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีของตน คือการให้และความรัก .. คนไทยบริจาคมากที่สุดในโลก ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น และเชื่อว่าจะช่วยให้ไทยเป็นมหาอำนาจแห่งความดีได้”

ธวัชชัย แสงธรรมชัย ผู้พัฒนาสังคมรุ่นใหม่ และครีเอทีฟภาพยนตร์โฆษณา “คนไทยขอมือหน่อย” บอกว่าทุกคนสามารถทำงานเพื่อสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหนก็ตาม ขอเพียงรู้ความสามารถของตนเอง รู้ว่าสังคมของตนเองกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร แล้วลงมือช่วยแก้ปัญหานั้นอย่างจริงจัง ก็ถือว่าเป็นการทำเพื่อสังคมแล้ว

“คนทุกคนช่วยสังคมได้ แม้ไม่มีแรงยกของ แต่เราก็สามารถเอาหัวครีเอทีฟของเรามาทำงานได้ ไม่ว่าจะมีความสามารถในด้านไหน แต่เราก็ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ ในมิติของเราเอง”

เหล่ามุมคิดของการทำงานเพื่อสังคม ที่ไม่จำเป็นต้องทำมากมาย ขอเพียงทำด้วยความตั้งใจ และจริงใจ ลงมือแก้ปัญหาอย่างเข้าใจ ด้วยความสามารถที่มี ก็ถือว่าเป็นการช่วยสังคมให้ดีขึ้นได้ทั้งนั้น

ใครที่ยังไม่เห็นไอเดียเพื่อสังคม ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ และใกล้ตัวแค่ไหน ที่งาน “คนไทยขอมือหน่อยฯ” เทศกาลรวบรวมคนลงมือครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ ยังมีพื้นที่ให้เรียนรู้ และเติมเต็มแรงบันดาลใจ เพื่อร่วมกันทำในสิ่งที่เราทำได้ กับองค์กรเพื่อสังคมที่สนใจ หรือจะลงแรงกาย แรงคิด กับเหล่าหัวข้อดีๆ ในเวทีเสวนา อาทิ ปาฐกถาจากอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มหามวลมิตรการพัฒนาประเทศไทย นพ.ประเวศ วะสี เป็นองค์ปาฐก การต่อต้านคอร์รัปชั่น การให้เพื่อสังคม การจัดการภัยพิบัติ โดยชุมชน ศาสนาร่วมสมัย เหล่านี้เป็นต้น พร้อมจุดประกายความคิด ด้านการมีส่วนร่วมให้มีมากขึ้นในสังคมไทย

หรือใครอยากจะแวะมา เลือก ช้อปสินค้าดีๆ จากกิจการเพื่อสังคม ตลอดจนชมการแสดงจากศิลปินดาราจิตอาสาที่ชื่นชอบ ก็สามารถร่วมสนุกได้ที่งานเดียวกันนี้

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ กิจการเอสเอ็มอี หรือแม้แต่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ก็สามารถใช้ “คนละไม้ คนละมือ” ของทุกคน ร่วมสร้างสรรค์สังคมเราให้น่าอยู่ขึ้นได้ทั้งสิ้น