‘เอไอ’ เปลี่ยนโลก ระบบราชการก้าวตามให้ทัน

‘เอไอ’ เปลี่ยนโลก ระบบราชการก้าวตามให้ทัน

ในปัจจุบันภาคเอกชนได้ก้าวนำไปแล้วในการนำเทคโนโลยี “เอไอ” มาขับเคลื่อนภาคธุรกิจ ขณะที่ภาครัฐต้องไม่ทำแผนหรือยุทธศาสตร์อย่างเดียว แต่ระบบราชการทั้งหมดต้องตามให้ทัน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ไม่ได้คุกคามเฉพาะด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ แต่จะมีบทบาทไปทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงภาครัฐที่จำเป็นจะต้องปรับตัวให้ทันตามเทคโนโลยีทั้งในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน การกำกับดูแลเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ขับเคลื่อนนโยบายเอไอ รวมถึงการเจรจากับบริษัทข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการลงทุนปัญญาประดิษฐ์ และเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะให้ความสำคัญ

หากย้อนดูจะพบว่าปัญญาประดิษฐ์ถูกนำเสนอมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2565-2570) เมื่อปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ แต่ดูเหมือนว่าความตื่นตัวในภาครัฐจะยังไม่เห็นการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินมากนัก ในขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลยังต้องมีแรงสนับสนุนมากกว่าปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการเข้าไปเพิ่มบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงพลังงานหมุนเวียนและภูมิรัฐศาสตร์ จึงทำให้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุมเพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือพัฒนาได้เป็นรูปธรรม สอดคล้องบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนรวดเร็วในปัจจุบัน โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติให้ทันบริบทการพัฒนาโลกสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศที่ยืดหยุ่น ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

ระบบราชการมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ดังนั้น ระบบราชการมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจและใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์ และต้องตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการดูแลจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์ใช้ในการตัดสินใจ เพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งทางจริยธรรม รวมทั้งทำให้มีการวิจัยและพัฒนาหรือการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ภายใต้กรอบจริยธรรม

ปัญญาประดิษฐ์จึงไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ แต่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของทุกคนในอนาคตไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวก การขนส่งคมนาคม การบริหารจัดการด้านต่างๆ ดังนั้น ปัญญาประดิษฐ์จึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันภาคเอกชนได้ก้าวนำไปแล้วในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาขับเคลื่อนภาคธุรกิจ ขณะที่ภาครัฐต้องไม่ทำแผนหรือยุทธศาสตร์อย่างเดียว แต่ระบบราชการทั้งหมดต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน