รู้จัก ‘Luxottica’ ต้นเหตุ 'แว่นตาแพง' ? เป็นเจ้าของแบรนด์แว่น 80% ทั่วโลก

รู้จัก ‘Luxottica’ ต้นเหตุ 'แว่นตาแพง' ? เป็นเจ้าของแบรนด์แว่น 80% ทั่วโลก

เปิดสาเหตุที่ทำให้ “แว่นตา” ทุกวันนี้มีราคาแพง ทั้งที่ในการผลิตก็ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พบว่าเกิดจาก “Luxottica” บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าของ 80% ของแบรนด์แว่นตาทั่วโลก คุมราคาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

Key Points

  • Luxottica” เป็นเจ้าของแบรนด์แว่นตาในสัดส่วนมากถึง 80% ของโลก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Prada, Chanel, Dolce & Gabbana, Versace, Burberry, Ralph Lauren ฯลฯ
  • ในปี 2561 Luxottica เข้าซื้อกิจการ Essilor บริษัทผลิตเลนส์สายตาและคอนแทคเลนส์ของฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนกลายเป็นชื่อหลังการควบรวมว่า “EssilorLuxottica
  • ไม่เพียงกว้านซื้อกิจการผลิตแว่นตา Luxottica ยังขยายไปสู่การซื้อร้านขายปลีกแว่นที่มีสาขามากมายด้วย เช่น LensCrafters, Pearle Vision, Sears Optical, Sunglass Hut ฯลฯ


หลายคนอาจมีคำถามขึ้นในใจว่า ทำไม “แว่นตา” ทุกวันนี้ถึงมีราคาแพง ทั้งที่แว่นตาหลายแบรนด์ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง วัสดุส่วนใหญ่ประกอบด้วยแก้วหรือพลาสติกที่ทำเป็นเลนส์ และกรอบโลหะ ขณะที่ชิป แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า กลับมีราคาต่ำลงเรื่อย ๆ พร้อมความจุและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าไปช้อปปิ้งแว่นตาในห้าง จะพบแว่นตาในหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Chanel, Ray-Ban, Burberry ฯลฯ เหมือนมีตัวเลือกมากมายให้ผู้บริโภค

แต่รู้หรือไม่ว่า แบรนด์เหล่านี้กลับอยู่ภายใต้ “บริษัทเดียว” นั่นคือ “Luxottica” (ลักซ์โซติก้า) ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์แว่นตาในสัดส่วนมากถึง 80% ของโลก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Prada, Chanel, Dolce & Gabbana, Versace, Burberry, Ralph Lauren, Tiffany, Bulgari, Vogue, Armani, Coach, DKNY, Ray-Ban, Oakley ฯลฯ ซึ่งบริษัททั้งเข้าซื้อกิจการ เป็นหุ้นส่วน ไปจนถึงซื้อลิขสิทธิ์ในแบรนด์เหล่านี้มาใช้เป็นแบรนด์แว่นตาของตัวเอง จนคล้ายกับการ “ครอบครองตลาดแว่น” ก็ว่าได้

รู้จัก ‘Luxottica’ ต้นเหตุ \'แว่นตาแพง\' ? เป็นเจ้าของแบรนด์แว่น 80% ทั่วโลก

  • Luxottica ครองตลาดแว่นตาแทบทั้งโลกได้อย่างไร

เริ่มแรก บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2504 ในเมืองอากอร์โดของอิตาลีโดย ลีโอนาร์โด เดล เวคคิโอ (Leonardo Del Vecchio) ซึ่งในช่วงนั้นแว่นตาที่ผลิตออกมายังใช้ชื่อแบรนด์ว่า Luxottica และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ในแง่ของคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม เวคคิโอคิดไกลกว่านั้น เพราะไม่ต้องการเป็นเพียงบริษัทผลิตแว่นอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ใฝ่ฝันถึงการคุมทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ นั่นหมายความว่า เขาจำเป็นต้องเข้าเป็นเจ้าของตั้งแต่ร้านออกแบบ ร้านผลิต ร้านค้าส่ง ไปจนถึงร้านค้าปลีกแว่น

ด้วยเหตุนี้ เวคคิโอจึงเข้าซื้อบริษัท Scarrone ร้านขายปลีกแว่น เมื่อปี 2517 เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง จากนั้นเขาก็นำกำไรบริษัทที่ได้ไปต่อยอด กว้านซื้อบริษัทแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาเป็นของตัวเอง ตั้งแต่การซื้อแบรนด์ Vogue ในปี 2533, Persol และ LensCrafters ในปี 2538, RayBan ในปี 2542 ฯลฯ

รู้จัก ‘Luxottica’ ต้นเหตุ \'แว่นตาแพง\' ? เป็นเจ้าของแบรนด์แว่น 80% ทั่วโลก

- แว่นตา RayBan ชื่อดังก็เป็นของ Luxottica ด้วย (เครดิต: RayBan ) -

ในปี 2561 เกิดข่าวครึกโครมระดับโลก เมื่อ Luxottica เข้าซื้อกิจการ Essilor บริษัทผลิตเลนส์สายตาและคอนแทคเลนส์รายใหญ่ที่สุดในโลกของฝรั่งเศส และเปลี่ยนชื่อหลังการควบรวมว่า “EssilorLuxottica

ไม่เพียงกว้านซื้อกิจการผลิตแว่นตา Luxottica ยังขยายไปสู่การซื้อร้านขายปลีกแว่นที่มีสาขามากมายด้วย เช่น LensCrafters, Pearle Vision, Sears Optical, Sunglass Hut และ Target Optical รวมถึงเข้าเป็นเจ้าของ EyeMed Vision Care ยักษ์ใหญ่ประกันภัยด้านสายตา จนมีอำนาจคุมอุตสาหกรรมแว่นตาอย่างเบ็ดเสร็จมาจนถึงทุกวันนี้

  • จากแว่นหลักสิบดอลล์พุ่งเป็นหลายร้อยดอลล์!

เมื่อปี 2520 ที่ชุมชนโปโตแมค (Potomac) รัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐ ชาลส์ ดาฮัน (Charles Dahan) นักออกแบบแว่นซึ่งคลุกคลีในวงการนี้มาอย่างยาวนาน ได้ก่อตั้งบริษัท Custom Optical ขึ้นมา เพื่อขายเครื่องจักรผลิตเลนส์ รวมถึงจัดส่งกรอบแว่นที่เขาออกแบบเอง ให้ร้านขายแว่นชื่อดังอย่าง LensCrafters ที่มีหลายร้อยสาขาในสหรัฐอยู่เป็นประจำ

ในปี 2538 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อ Luxottica เข้าซื้อกิจการ LensCrafters ด้วยมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่นั้นมา ยอดสั่งกรอบแว่นและเลนส์จาก Custom Optical ก็ตกลงเรื่อย ๆ  เนื่องจาก Luxottica สามารถผลิตเองได้อย่างครบวงจร จนบริษัทของดาฮันไปต่อไม่ไหว และต้องปิดกิจการลงในปี 2544

ดาฮันเผยเรื่องราวกับสำนักข่าว Los Angeles Times ว่า แต่ก่อนในช่วงปี 2523 และ 2533 ต้นทุนกรอบแว่นระดับคุณภาพไม่ว่าจะเป็นกรอบโลหะหรือพลาสติก อยู่ที่ราวคู่ละ 10-16 ดอลลาร์ ส่วนเลนส์อยู่ที่ราวคู่ละ 5 ดอลลาร์ และเมื่อมีการใส่สารเคลือบเข้าไป ก็จะอยู่ที่ราว 15 ดอลลาร์

ก่อนหน้านั้น ร้าน LensCrafters ที่รับซื้อแว่นจากเขาจะขายในราคาปลีกที่ราว 99 ดอลลาร์ จากต้นทุนราว 20-30 ดอลลาร์ แต่ในปัจจุบัน หลังจากที่ Luxottica กว้านซื้อบริษัทแว่นต่าง ๆ ก็ทำให้ราคาปัจจุบันจาก “หลักสิบ” ขึ้นมาเป็น “หลักหลายร้อยดอลลาร์” แทน

“ไม่มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้อีกต่อไป Luxottica ซื้อทุกอย่าง พวกเขาตั้งราคาขายตามใจชอบ” ดาฮันกล่าว

ขณะที่ อี ดีน บัตเลอร์ (E. Dean Butler) ผู้ก่อตั้งร้านขายแว่น LensCrafters กล่าวว่า ตัวเขาไปชมโรงงานที่จีนอยู่หลายครั้ง ซึ่งแว่นตาแบรนด์สหรัฐก็ถูกผลิตจากที่นี่ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยพร้อมกำลังการผลิตครั้งละจำนวนมาก จึงทำให้ราคาที่แท้จริงในปัจจุบันต่ำกว่าที่ดาฮันเล่า

“คุณสามารถซื้อกรอบแว่นอย่างดีด้วยคุณภาพระดับแบรนด์ Warby Parker ที่ 4-8 ดอลลาร์ และสามารถซื้อกรอบคุณภาพระดับ Prada ที่ราคา 15 ดอลลาร์ ส่วนเลนส์คุณภาพอย่างดี คุณสามารถซื้อได้ในราคา 1.25 ดอลลาร์/ชิ้น แต่ปรากฏว่าตอนนี้ ทั้งกรอบและเลนส์ในระดับคุณภาพเดียวกัน กลับขายกันที่ราคาสูงถึง 800 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลกอย่างยิ่ง” บัตเลอร์เสริม

ส่วน ทิม อู๋ (Tim Wu) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐ ให้ความเห็นว่า โครงสร้างของ Luxottica ที่กลับกลายเป็นการผูกขาดตลาดเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ค่อนข้าง “น่ารังเกียจ”

  • ผลประกอบการยังคงโตต่อเนื่อง

เมื่อดูผลประกอบการของบริษัท EssilorLuxottica ซึ่งเกิดจากการที่ Luxottica เข้าซื้อกิจการ Essilor จะพบว่าทั้งรายได้ (Revenue) และกำไรสุทธิรวม (Consolidated Net Income) เติบโตอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นช่วงปี 2563 ที่กำไรสุทธิมีการสะดุดในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19) ดังนี้

ปี 2565 รายได้ 24,494 ล้านยูโร และมีกำไรสุทธิรวม 2,281 ล้านยูโร

ปี 2564 รายได้ 19,820 ล้านยูโร และมีกำไรสุทธิรวม 1,598 ล้านยูโร

ปี 2563 รายได้ 14,429 ล้านยูโร และมีกำไรสุทธิรวม 149 ล้านยูโร

ปี 2562 รายได้ 17,390 ล้านยูโร และมีกำไรสุทธิรวม 1,185 ล้านยูโร

เรื่องราวของ “Luxottica” เหล่านี้ ทำให้หลายฝ่าย รวมถึงผู้บริโภคกังวลว่าอาจเป็นตัวอย่างการผูกขาดอุตสาหกรรมแว่นตาอย่างครบวงจร ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีอำนาจในการกำหนดราคาขายด้วย เพราะไม่ว่าผู้บริโภคจะซื้อจากแบรนด์ใดก็ตาม กว่า 80% ก็อยู่ภายใต้ Luxottica ทั้งนั้น เหล่าผู้คลุกคลีในวงการนี้จึงมองว่า นี่ได้ทำให้ราคาแว่นตาโดยรวมทั้งโลกแพงขึ้น

อ้างอิง: forbestheguardianlatimesbbcessilwsj