จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น 'Airasia' พ้นหนี้ท่วม

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น 'Airasia' พ้นหนี้ท่วม

ถอดสูตรสำเร็จ ซื้อสายการบินแอร์เอเชีย (Airasia) ในราคา 1 ริงกิตเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ก่อนพลิกฟื้นบริษัทที่ใกล้ล้มละลายเพราะหนี้ท่วมหลายร้อยล้านบาท ให้กลายเป็นบริษัทมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ต้องใช้กลยุทธ์พลิกฟื้นอย่างไร?

Key Points

  • ก่อนปี 2544 บริษัท Airasia มีหนี้สูงราว 300 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของ (Equity) ก็ติดลบ แทบไม่มีมูลค่าอะไรเหลือ
  • Airasia พยายามขยายฐานลูกค้าผ่านการสนับสนุนสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ และงานแข่งขัน E-Sports
  • Airasia ริเริ่มสายการบินราคาประหยัด ตอบโจทย์คนยุคใหม่และเข้าถึงง่าย จึงทำให้งบการเงินพลิกกลับมาเป็นบวก และกำไรสุทธิก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โดยทั่วไป การทำข้อตกลงซื้อขายกิจการต่าง ๆ เรามักเห็นบรรดาธุรกิจซื้อขายกันเป็นหลักล้านขึ้นไป ซึ่งรวมไปถึงหลักร้อยล้านถึงหมื่นล้าน ไม่ว่าสกุลเงินใดก็ตาม 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวธนาคารสหรัฐล้มติดต่อกันหลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคาร Silicon Valley หรือ SVB ทางธนาคาร HSBC จึงตัดสินใจเข้าซื้อธนาคาร SVB ในสหราชอาณาจักร ด้วยราคาเพียงแค่ 1 ปอนด์หรือราว 42 บาทเท่านั้น!

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ยังเคยเกิดขึ้นกับ Airasia บริษัทสายการบินของมาเลเซีย ที่ถูกขายเพียง 1 ริงกิตเช่นกัน และที่น่าสนใจคือ ผู้ซื้อบริษัท Airasia ที่ชื่อ โทนี เฟอร์นานเดส (Tony Fernandes) นักธุรกิจมาเลเซีย วัย 58 ปี สามารถพลิกฟื้นบริษัทจากการลงทุนเพียง 1 ริงกิต มาสู่บริษัทมูลค่าหลักพันล้านได้อย่างไร

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น \'Airasia\' พ้นหนี้ท่วม

- โทนี เฟอร์นานเดส (เครดิต: Airasia) -

 

  • ทำไมต้องขายบริษัท Airasia แค่ 1 ริงกิต 

เดิมทีบริษัทสายการบิน Airasia เป็นของรัฐวิสาหกิจมาเลเซีย ที่ชื่อ DRB-Hicom โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2536 ประสบผลขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี และมีแนวโน้มว่าจะไปต่อไม่ไหวอีกต่อไป

เฟอร์นานเดส เจ้าของบริษัท Tune Air Sdn Bhd มองเห็นโอกาส จึงตัดสินใจซื้อบริษัท Airasia ต่อจากรัฐบาลเมื่อปี 2544 ซึ่งช่วงนั้นเอง บริษัท Airasia มีหนี้สูงมากถึง 40 ล้านริงกิตหรือราว 300 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของ (Equity) ก็ติดลบ แทบไม่มีมูลค่าอะไรเหลือแล้ว มีแต่หนี้กองโตที่ต้องใช้คืน แต่เพราะการซื้อขายต้องมีราคา จึงกำหนดราคาขั้นต่ำที่สุดคือ 1 ริงกิตนั่นเอง

ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียก็ยินดีมากที่มีผู้รับภาระใช้หนี้ต่อ และแม้ว่าเฟอร์นานเดสจะซื้อบริษัทนี้เพียง 1 ริงกิต แต่ก็พ่วงมากับภาระหนี้อีก 40 ล้านริงกิตที่เขาต้องตามสะสาง

 

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น \'Airasia\' พ้นหนี้ท่วม

- เฟอร์นานเดส เจ้าของบริษัท Tune Air Sdn Bhd ซื้อ Airasia แค่ 1 ริงกิตจาก DRB-Hicom ของรัฐบาล (เครดิต: Airasia) -

 

  • ภารกิจกอบกู้ Airasia มาพร้อมหนี้ก้อนโต 

ช่วงแรกของการซื้อกิจการ Airasia มา บริษัทมีเครื่องบินเพียง 2 ลำ และหนี้อีก 40 ล้านริงกิต เฟอร์นานเดส จึงตัดสินใจเปลี่ยนแบรนด์ Airasia ใหม่ จากเดิมที่ใช้นกสีน้ำเงิน ก็เปลี่ยนเป็นอักษร Airasia โดยใช้สีแดง ที่สื่อถึงพลัง ความกล้าหาญ ความมีชีวิตชีวา และทันสมัย พร้อมสโลแกน “Everyone can fly ทุกคนบินได้” ที่หลายคนคุ้นเคยกันถึงทุกวันนี้

 

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น \'Airasia\' พ้นหนี้ท่วม

- แบรนด์ Airasia (เครดิต: 1000logos.net) -

 

ประการต่อมา เฟอร์นานเดสกำหนดจุดแข็งของ Airasia ว่า จะเป็น “สายการบินราคาประหยัด” และเขาก็ทำเช่นนั้นจริง ด้วยการลดราคาตั๋วให้ต่ำกว่าคู่แข่งเจ้าตลาดในประเทศอย่างสายการบินมาเลเซีย (Malaysia Airlines) ส่งผลให้ลูกค้าแห่กันเข้ามาใช้บริการสายการบิน Airasia มากขึ้น

ประการที่สาม เฟอร์นานเดสกำหนดกลุ่มลูกค้า Airasia เป็นชาวเอเชีย เนื่องจากเป็นตลาดที่เขาคุ้นเคยที่สุด ไม่ไกลจากมาเลเซียด้วย โดยเริ่มต้นเที่ยวบินภายในมาเลเซียก่อน จากเมืองสุบัง ไปเมืองปีนัง ไปยังเมืองกูชิง จากนั้น ขยายฮับเพิ่มเป็นแห่งที่ 2 สนามบินนานาชาติเซไน เมืองยะโฮร์บาห์รู จนมีฐานในมาเลเซียที่แข็งแกร่ง

ต่อมา เฟอร์นานเดสก็ขยายเที่ยวบินจากมาเลเซียไปสู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ“เที่ยวบินแรกของ Airasia” พร้อมกับขยายไปสู่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ภูเก็ต มาเก๊า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม คุนหมิง ฯลฯ

 

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น \'Airasia\' พ้นหนี้ท่วม

- สายการบินเริ่มต้นของ Airasia (เครดิต: Airasia) -

 

แผนธุรกิจ Airasia ที่ทำราคาประหยัดกว่าคู่แข่ง ทำให้ภาพจำเที่ยวบินที่แต่เดิมมีราคาแพง และมีแต่กลุ่มลูกค้าที่มีฐานะใช้บริการ เปลี่ยนมาเป็นบริการที่เข้าถึงคนทั่วไปได้

ด้วยเหตุที่ Airasia เป็นผู้ริเริ่มสายการบินราคาประหยัด ดังสโลแกนที่ว่า “Everyone can fly” อีกทั้งเส้นทางบินก็ไม่ไกลมากนัก ภายในไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง และครอบคลุมไปถึงเมืองเล็กทั่วเอเชีย ช่วยตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ชอบบริการรวดเร็ว เข้าถึงง่าย จึงทำให้งบการเงินจากหนี้ก้อนโต และส่วนของเจ้าของติดลบนับตั้งแต่ซื้อ Airasia เมื่อปี 2544 พลิกกลับมาเป็นบวก และกำไรสุทธิก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนี้

ปี 2544 ขาดทุน 19.1 ล้านริงกิต, ส่วนของเจ้าของติดลบ 105 ล้านริงกิต, และส่วนหนี้ 154.3 ล้านริงกิต

ปี 2545 ขาดทุนน้อยลงเป็น 1.7 ล้านริงกิต, ส่วนของเจ้าของเปลี่ยนเป็นบวก 2.6 ล้านริงกิต, และส่วนหนี้ 48.8 ล้านริงกิต

ปี 2546 มีกำไรสุทธิครั้งแรก 18.8 ล้านริงกิต, ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้นเป็น 49 ล้านริงกิต, และส่วนหนี้ 75.3 ล้านริงกิต

ปี 2547 กำไรสุทธิ 49.1 ล้านริงกิต, ส่วนของเจ้าของบวก 150.3 ล้านริงกิต, และส่วนหนี้ 199.7 ล้านริงกิต

ปี 2548 กำไรสุทธิ 111.6 ล้านริงกิต, ส่วนของเจ้าของบวก 952.9 ล้านริงกิต, และส่วนหนี้ 170.1 ล้านริงกิต

 

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น \'Airasia\' พ้นหนี้ท่วม

- งบการเงิน Airasia ปี 2001-2005 (เครดิต: Airasia) -

 

เมื่อบริษัทพลิกมีกำไรได้สำเร็จ ก็นำรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นมาลงทุนต่อจนกระทั่งปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นเครื่องบิน 2 ลำเมื่อปี 2544 ก็ขยายเป็น 213 ลำเมื่อปี 2564 กลายเป็นสายการบินรายใหญ่อันดับ 4 ในเอเชีย มีมูลค่าแบรนด์ 1,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.77 หมื่นล้านบาท และมีผู้โดยสารใช้บริการทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน ครอบคลุมจุดหมายปลายทาง 165 แห่งใน 25 ประเทศ

 

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น \'Airasia\' พ้นหนี้ท่วม

- Airasia ในมาเลเซีย (เครดิต: Airasia) -

 

  • ลดต้นทุนเพิ่มด้วยเทคโนโลยี

เพื่อให้บริษัท Airasia สามารถรักษาเที่ยวบินราคาประหยัด จึงใช้วิธีลดต้นทุนแรงงานให้น้อยลง ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดย Airasia ถือเป็นหนึ่งในบริษัทแรกที่ทำให้ผู้โดยสารจองตั๋วออนไลน์ได้ มีการอัปโหลดข้อมูลลูกค้าไปยังระบบคลาวด์ ที่บริษัทสามารถนำมาปรับปรุงการให้บริการได้อีกด้วย และทาง Airasia ยังพัฒนามาสู่ระบบจดจำใบหน้าในการจัดการเที่ยวบิน

ยิ่งไปกว่านั้นยังเปิดใช้น้อง AVA เป็นแชตบอตให้บริการคอลเซ็นเตอร์ และยังมี Airasia Super App ที่สามารถจองตั๋ว บริการเรียกรถ จองโรงแรมที่พัก ช้อปปิ้งออนไลน์ได้

ล่าสุดเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา Airasia ได้เปิดตัว AI โฉมใหม่ที่ชื่อ “Ask Bo” แทนน้อง “AVA” ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

 

  • ขยายฐานลูกค้าสู่แฟนบอล-แฟนเกม

ในยุคปัจจุบัน พวกเราคงต้องเคยผ่านการดูถ่ายทอดบอล หรือไม่ก็เคยเล่นเกมมาก่อน ซึ่งนับวันฐานแฟนบอลและแฟนเกมก็ยิ่งขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ

เฟอร์นานเดสเล็งเห็นจุดนี้ จึงทุ่มเงินเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในอังกฤษ ปี 2548-2550 ที่มีฐานแฟนคลับจากทั่วโลกสูงถึง 1,100 ล้านคน (อ้างอิงจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Kantar ในอังกฤษ) อีกทั้งยังให้เงินสนับสนุนลีกฟุตบอลมาเลเซียปี 2562-2563 สมาคมฟุตบอลแห่งสิงคโปร์ปี 2556-2559 ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัทแข่งกีฬาเกมหรือ E-Sports ไม่ว่าจะเป็นเข้าถือหุ้นใหญ่ในองค์การเกมแข่งขันมือถือ Team Saiyan และเปลี่ยนชื่อเป็น “AirAsia Saiyan” รวมไปถึงเป็นผู้สปอนเซอร์งานแข่ง ASIAN World Electronic Sports Games และทีมเกม Mineski Pro Team เพื่อให้แบรนด์ Airasia เป็นที่คุ้นเคย และขยายฐานลูกค้ามากขึ้นผ่านกลุ่มแฟนบอล และแฟนเกม

 

  • มรสุมโควิด กับ การปรับตัวของ Airasia

คลื่นสึนามิโควิด จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก ทำให้บริษัท Airasia จากที่มีกำไรมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2546 (ยกเว้นปี 2551 ช่วงวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์) พลิกกลับมาขาดทุนช่วงโควิด-19 โดยขาดทุนหลายพันล้านริงกิต จากการที่หลายประเทศปิดพรมแดน เพื่อสกัดการแพร่ระบาด และทางบริษัทก็มีต้นทุนพนักงาน นักบิน การดูแลรักษาเครื่อง ค่าเช่าที่สนามบิน ฯลฯ ที่ไม่อาจหยุดตามได้

ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นมรสุมอันหนักอึ้งที่ซีอีโออย่างเฟอร์นานเดสมองว่า “มันเป็นความท้าทายใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต” Airasia จึงพยายามปรับตัวด้วยการลดต้นทุนต่าง ๆ ลง ปรับเครื่องบินให้ขนส่งสินค้าได้มากขึ้นแทนผู้โดยสารที่หดหายไป

นอกจากนี้ บริษัทยังพบว่า ลูกค้า Airasia ถูกใจในรสชาติ และบรรยากาศอาหารบนเครื่องบิน ดังนั้น บริษัทจึงตั้งภัตตาคารอาหารที่ชื่อ “Santan Eateries” นำเมนูบนเครื่องบินให้ลูกค้าได้ลิ้มรสในร้านภาคพื้นดินได้ โดยทั้งรสชาติและบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ก็จะพยายามทำให้คล้ายกับที่เสิร์ฟบนเครื่องบิน และสามารถสั่งออนไลน์ได้อีกด้วย

 

จาก 1 ริงกิต สู่บริษัทหมื่นล้าน! ถอดกลยุทธ์ฟื้น \'Airasia\' พ้นหนี้ท่วม

- อาหารและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้คล้ายที่เสิร์ฟบนเครื่องบิน (เครดิต: Airasia) -

 

ผลปรากฏว่า ผลตอบรับของร้านนี้เป็นไปได้สวยในช่วงโควิด จึงมีแผนว่าจะขยายเพิ่มอีก 100 สาขา ซึ่งรายได้จากการปรับธุรกิจนี้ จะช่วยลดการขาดทุนช่วงโควิดลงได้ระดับหนึ่ง

 

จากปัจจัยเหล่านี้ สรุปได้ว่า การที่เฟอร์นานเดสซื้อบริษัท Airasia มาเพียง 1 ริงกิตพร้อมหนี้มหาศาล ถ้าเขาพลิกฟื้นบริษัทนี้ไม่ได้ มันจะกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงที่อาจฉุดเขาล้มละลายได้ แต่ปรากฏว่าเขาสามารถคืนชีพบริษัท ผ่านการทำให้ Airasia เป็นสายการบินราคาประหยัดกว่าคู่แข่งอื่น พร้อมรางวัลสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดติดต่อกัน 13 ปีเมื่อปี 2565 จากสถาบันจัดอันดับสายการบินแห่งอังกฤษที่ชื่อ Skytrax รวมไปถึงมีสายการบินที่ครอบคลุม พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจนทำให้ Airasia กลายเป็นบริษัทพันล้านได้สำเร็จ

 

อ้างอิง: tunegroup museum.airasia newsroom.airasia 1000 capitala campaignindiainsider statista statista newsroom fas newsroom(2) positioningmag esportsinsider