ท่องเที่ยวฟื้นดัชนีเชื่อมั่นเดือนธ.ค.ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ท่องเที่ยวฟื้นดัชนีเชื่อมั่นเดือนธ.ค.ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนธ.ค.65 ขึ้นสูงสุดในรอบ 25 เดือน จากเศรษฐกิจฟื้น ท่องเที่ยวกลับมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยดีขึ้นเช่นกัน แต่ยังกังวลภาวะค่าครองชีพ ขอรัฐดูแลค่าเงินบาท ดูแลต้นทุนการผลิต ชี้ จีดีพีปีนี้ ขยายตัวได้ในกรอบ 3.5 - 4.0%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า จากการสำรวจตัวอย่างประชาชน 2,240 ตัวอย่าง พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 49.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 43.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 47.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 58.1

ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา, จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นหลังเปิดประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศและกิจกรรมเศรษฐกิจ, ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้น, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับดี ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากการไหลเข้าของเงินต่างประเทศ

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน และเมื่อดูดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละรายการดีสุดในรอบ 2-3 ปี  ซึ่งดีขึ้นเกือบเท่ากับปี 62 ที่ก่อนเกิดโควิด ปัจจัยสำคัญที่สุดมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนและโดดเด่น ซึ่งประเทศไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเสรี และใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้เกิดจับจ่ายใช้สอย ภาคบริการฟื้น ประชาชนมารายได้เพิ่มขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

นอกจากนี้ การที่จีนผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องมาตรการโควิด และเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในไทยเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปี 66 จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และรายได้ในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม รวมทั้งกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะกลับมาอีกครั้ง ทำให้ประชาชนยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยแต่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 ดัชนีจะขึ้นสู่ใกล้ระดับ 100

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีในครึ่งปีหลัง โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะโตประมาณ 3.4-3.5 % และครึ่งปีหลังจะโตประมาณ  3.7-3.8 % และทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะโต 3.6 % ซึ่งจุดสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีคือการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเดิมเรามองไว้ปีนี้ที่ 20-25 ล้านคน โดยในนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งจะเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2 แต่ล่าสุด นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเร็วกว่าที่เราคาดไว้ คือเริ่มเข้ามาแล้วในช่วงนี้ ดังนั้น ขอรอดูสถานการณ์ช่วงไตรมาสแรกนี้อีกครั้ง เพราะมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยทั้งปีที่ 7-8 ล้านคนได้ ซึ่งก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้ ทะลุ 25 ล้านคน อาจจะขึ้นไปที่ 26-27 ล้านคนได้

สำหรับบรรยากาศเศรษฐกิจโลก แรงกดดันของเงินเฟ้อสหรัฐอาจจะไม่ได้เป็นแรงกัดดันมากเท่าไร  ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยจะปรับขึ้นไม่มากจนเกินไป และราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวไม่รุนแรง ซึ่งก็จะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัว 1-2 %  ส่วนการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้นั้น จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดที่เกิดจากกิจกรรม และการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ราว 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.3% และมีโอกาสจะดันให้ จีดีพีในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ เพิ่มขึ้นอีก 0.5-0.6% จากฐานเดิม ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5 - 4.0% และมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะไปถึง4%

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 26-30 ธ.ค. 65 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 45.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 43.9 ในเดือนพ.ย. 65 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และปรับดีขึ้นทุกภาค โดยภาคธุรกิจ และหอการค้าจังหวัดส่วนใหญ่ของทุกภาค เห็นว่า การที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทสมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้น โดยธุรกิจในพื้นที่เริ่มมีการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจกบริการการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กลับมา ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญ

 อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคธุรกิจยังกังวลคือ ค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น ที่ได้รับผลจากต้นทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด   เงินบาทแข็งค่าเร็ว จึงต้องการให้หน่วยงานที่กำกับดูแล ช่วยดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เหมาะสม และเอื้อต่อการส่งออกของไทย เพราะภาคการส่งออกยังเป็นตัวช่วยค้ำยันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้อยู่ รวมทั้งการดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไปจะเป็นประโยชน์ต่อสภาพคล่องของภาคธุรกิจ และกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ