เวทีเอเปกภาคเอกชน ปูทางรับท้าทายแห่งอนาคต
ปลายปีนี้ ไทยมีงานใหญ่ คือการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC)ซึ่งไม่เพียงภาครัฐที่ได้รับบทบาทเจ้าภาพจัดงานเท่านั้น ภาคเอกชน ก็มีบทความในเวทีการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นเวทีของภาคเอกชนในชื่อว่า ‘APEC CEO Summit 2022’
ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565 ภายใต้แนวคิด‘Embrace Engage Enable’
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนหลักสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประเทศไทย และประธาน APEC CEO Summit 2022 กล่าวว่าประเทศไทยให้การส่งเสริมความมั่งคั่งและการเติบโตของประชาชนและสังคมในเอเชียแปซิฟิกสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนการแบ่งปันแง่มุมทางนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตร่วมกันนับเป็นการประชุมชั้นนำของผู้นำเศรษฐกิจเอเปคและผู้นำชุมชนธุรกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ
“ ในโอกาสนี้จะมีการพบปะ อภิปราย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และมีส่วนร่วมกับผู้นำโลก เพื่อร่วมกันพิจารณาทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องและประเด็นที่เร่งด่วนในการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายของการประชุม คือการแสวงหาแนวทางการแก้ไขในประเด็นสำคัญระดับโลก ตลอดจนการจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั้งโลกกำลังเผชิญทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต”
สำหรับเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกมีขนาด 60 % ของจีดีพีโลกและส่งออก 69 % ของการค้าโลก โดยจุดแข็งของเอเปคคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทางการเงิน ตลอดจนจุดแข็งด้านอาหาร ที่ไทยมีจุดเด่นด้านความมั่นคงของอาหารในเวทีโลกซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและสอดคล้องกับหัวข้อการประชุมทั้งเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green) , นวัตกรรม, เศรษฐกิจโลกและอนาคตของเอเปก, การค้าและการลงทุน, เศรษฐกิจหมุนเวียนในทางปฏิบัติ, เศรษฐกิจดิจิทัล, อนาคตของการทำงาน, การเติบโตแบบมีส่วนร่วม, การดูแลสุขภาพหลังเกิดโรคระบาด
“จะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ทางธุรกิจร่วมกัน โดยนอกเหนือจากประเด็นที่น่าจับตาในการผลักดันทางเศรษฐกิจ ความพิเศษของการประชุมในปีนี้ คือมีกิจกรรมที่บุคคลผู้มีชื่อเสียงจากภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้นำเอเปคหลายท่านขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่างๆ ที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจและการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมแบบพบปะกัน ทำให้แสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความมั่นใจของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่นหลังการแพร่ระบาดของโควิดอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความมั่นคงอาหารนั้น สำหรับประเทศไทย ยืนยันว่าคนไทยไม่ขาดแคลนอาหาร แม้จะมีเรื่องที่ต้องกังวลอย่างราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งภาครัฐได้ดูแลราคาสินค้าให้ประชาชนแล้ว ส่วนการปรับค่าเเรงต้องยึดตามสภาพตลาดทั้งหมด รวมถึงภาวะน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจ ก็มีทั้งประเด็นภาษีและเงินเฟ้อต่างๆ
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า ไอคอนสยามจึงมีความพร้อมที่จะนำเสนอประสบการณ์เหนือความคาดหมายให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สัมผัสถึงศิลปะวัฒนธรรมของไทย ทำให้นักธุรกิจทั่วโลกได้ตระหนักถึงศักยภาพและความก้าวล้ำนำสมัยของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2565 นี้ ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค (APEC) โดยมีแนวคิดหลัก คือ OPEN – CONNECT – BALANCE หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” สะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวของทุกภาคส่วนทางธุรกิจในทุกระดับเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจที่ยั่งยืน พร้อมการผลักดันแนวคิด BCG Economy Model ที่ประกอบไปด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งนับเป็นวาระแห่งชาติ
ขณะที่ APEC CEO Summit 2022 ของประเทศไทย ที่ดำเนินการภายใต้ 3 แนวคิดหลัก นั่นคือ “EMBRACE ENGAGE ENABLE” โดย EMBRACE สื่อถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ, ENGAGE สื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรค์สร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตร่วมกัน และ ENABLE สื่อถึงการขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ให้การดำเนินการทางธุรกิจสามารถเป็นไปได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับ เอเปคก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2532 มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ มีสมาชิกรวมทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก