"นริศ สถาผลเดชา ttb analytics" มอง วิกฤติรายย่อย เสี่ยงฉุด ศก.ไทย ซึมยาว
“ทีทีบี” ส่องเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติรายย่อย” สู่ความเสี่ยง "ศก.ไทยไม่ฟื้น-ซึมยาว” ย้ำไม่เกิดวิกฤติศก. เหตุผลกระทบเบากว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 แนะเร่งสางหนี้ครัวเรือน อาจสูงกว่า 90% ทั้งมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายและลดภาระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้หรือรวมหนี้
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ คือ “วิกฤติรายย่อย” ไม่ใช่ “วิกฤติรายใหญ่” เหมือนตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540
“วิกฤติรายย่อย” คือ คนตัวเล็กๆ ที่มีปัญหาหนี้เยอะ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงถึง 90% ของจีดีพี และยังต้องเจอรายจ่ายที่สูงขึ้น ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ดี และนโยบายการจัดการแก้วิกฤติรอบนี้ โดยเฉพาะนโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
รวมถึงมีโครงสร้างของระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นมากกว่าในอดีต โดยมีระบบธนาคารพาณิชย์ มีกองทุนทุนและสภาพพคล่องที่สูงมาก อีกทั้งยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้สูงมาก
ดังนั้น "สถานการณ์วิกฤติรายย่อย" ที่เราเผชิญในตอนนี้ จึงไม่ได้อ่อนไหว ทำให้ผลกระทบของวิกฤติยังเบากกว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 และในระยะถัดไปมองว่า ไม่น่าจะมีโอกาสที่จะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ หรือเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากกว่า ปี 2540 เพราะวิกฤติต้มยำกุ้ง เกิดจากคนละปัญหา เป็นปัญหาของหนี้ธุรกิจรายใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลงอย่างมากและยาวนานต่อเนื่องหลายปี
แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัญหา “วิกฤติรายย่อย” จะทำให้เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ อาจเรียกได้ว่า “เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นและซึมยาว” ซึ่งไม่ได้นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ เพราะว่า หากจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งได้ จีดีพีต้องติดลบมากกว่า 6% และโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยสำหรับเศรษฐกิจไทยยังน้อย
"มองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไม่น่าปรับตัวลงไปลึก จากในช่วงวิกฤติโควิด ปรับตัวลงไปค่อนข้างมากแล้ว จีดีพีติดลบถึง 6% และจีดีพีกลับมาฟื้นตัวที่ 1% ทำให้เศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า มองว่า จีดีพีจะไม่ได้กลับมาขยายตัวระดับ 4-5% อีกต่อไป แต่เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวแบบซึมๆ จีดีพีน่าจะกลับมาเติบโตในระดับ 2-3% เท่านั้น"
ทั้งนี้ สาเหตุของวิกฤติรายย่อย เกิด 2 ปัญหาหลัก ดังนี้ ปัญหาแรก ภาระหนี้ครัวเรือนสูง ฉุดกำลังการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลงได้ในตอนนี้
ขณะที่ เงินเฟ้อปรับสูง จากราคาพลักงานและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นอีกปัญหาที่ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กดดันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เพราะว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้รายได้ที่มีอยู่ลดลงมากเช่นกัน ความสามารถในการชำระหนี้และการดำรงชีพชีวิตต่อไป จะถูกกดดัน ระดับหนี้ครัวเรือนมีโอกาสที่จะเร่งตัวเพิ่มขึ้น
นายนริศ แนะการแก้ไขปัญหาวิกฤติรายย่อยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องได้รับการจัดการ ทั้งมาตรการช่วยเหลือการลดภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือน เพื่อให้ภาคครัวเรือนยังสามารถไปต่อได้ และมาตรการลดภาระหนี้ภาคครัวเรือน ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้หรือการรวมหนี้ เพื่อทำให้ภาระการผ่อนชำหนี้ของครัวเรือนลดลง