"ประยุทธ์" เรียกประชุมสภาความมั่นคงฯ 4 ก.ค.เคาะแผนรับมือ "วิกฤตพลังงาน"

"ประยุทธ์" เรียกประชุมสภาความมั่นคงฯ 4 ก.ค.เคาะแผนรับมือ "วิกฤตพลังงาน"

“ประยุทธ์” เรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ จันทร์หน้าตามความคืบหน้าแผนรับมือวิกฤตพลังงาน - อาหาร เลขาฯสมช.วางแผน 3 ระยะเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน 3 เดือน ส่วนระยะกลาง 6 เดือน – 1 ปี ก่อนชงแผนเข้า ครม.ให้ทุกหน่วยงานรับทราบบทบาท แย้มตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ-กลไกพิเศษรับมือวิกฤต

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่าในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแผนรับมือวิกฤตพลังงานและอาหารทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

โดยในระยะสั้นจะครอบคลุมระยะเวลา 3 เดือน ส่วนในระยะกลางจะประเมินสถานการณ์ในช่วง 6 เดือน และในระยะยาวจะครอบคลุมระยะเวลาตลอดปี 2566 ทั้งปีว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร ซึ่งทุกหน่วยงานต้องเตรียมการรองรับ เพื่อรองรับสถานการณ์และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น โดยแผนที่จะเสนอจะเป็นเรื่องของการเตรียมข้อมูลและความพร้อมต่างๆ ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานที่กระทบคนเป็นวงกว้าง เพราะจากราคาพลังงานจะมีการกระทบไปยังภาคขนส่ง ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ โดยขณะนี้เรื่องของพลังงานเป็นเรื่องอันดับแรกที่จะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของปัจจุบัน โดยในระยะเร่งด่วน 3 เดือนที่จะกระทบแน่ๆที่ต้องเร่งทำแผนออกมา เพื่อให้สามารถที่จะแก้ไขได้ โดยในส่วนของราคาสินค้ามีการกระทบอยู่ทุกวันอยู่แล้วก็มีการแก้ไขมาโดยตลอด โดยเรื่องของการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเปราะบางในตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สมช.ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และมีการปรับปรุงข้อมูลโดยตลอด รวมทั้งในเสาร์-อาทิตย์นี้จะมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยเป็นปัจจุบันมากที่สุด

โดยแผนที่ออกมาจะครอบคลุมทั้งเรื่องของพลังงาน ไฟฟ้า และอาหาร ถือเป็นแผนที่ครอบคลุมทั้งหมด โดยจะเป็นข้อเสนอไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  โดยข้อเสนอของ สมช.จะเน้นไปที่เรื่องความมั่นคงเพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลน ขณะที่เรื่องของราคากระทรวงพาณิชย์นั้นดูแลอยู่แล้ว และในขั้นต่อไปจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ทุก กรม และกระทรวงต่างๆรับทราบแนวทางในการปฏิบัติหลังจากที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเห็นชอบแล้ว  

 

 

 

นอกจากนี้อาจมีการตั้งกลไกพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมาให้ปฏิบัติหน้าที่รองรับวิกฤต โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเข้ามาเพื่อรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นก็เป็นได้

“แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกระแสบอกว่า สมช.จะไม่เชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ขอเรียนว่าเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ผมได้พบกับรมว.กระทรวงเศรษฐกิจทุกคนเพื่อรับทราบปัญหา และเชิญหน่วยงานเศรษฐกิจมาพูดคุย เพื่อให้ได้แผนที่จะรองรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขอให้รอฟังหลังประชุมวันจันทร์หน้า”

เมื่อถามว่าในส่วนของโรงกลั่นนั้นเป็นอำนาจที่ สมช.จะกำหนดเรื่องข้อกฎหมายมากำหนดเพดานการกลั่นหรือไม่ เลขาฯสมช.บอกว่าเรื่องนี้ต้องใช้กลไกตามกฎหมายที่แต่ละกระทรวงมีอยู่ โดยยังไม่ถึงขั้นต้องใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่กระทรวงที่มีอำนาจตามกฎหมายต้องไปหารือกับเอกชน หรือเป็นการเจรจาซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้