รัฐบาลเตรียมคลอดมาตรการอุดหนุนจุดชาร์จแบตเตอรี่รถอีวี

รัฐบาลเตรียมคลอดมาตรการอุดหนุนจุดชาร์จแบตเตอรี่รถอีวี

โฆษกกรมสรรพสามิตเผย รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการสนับสนุนรถยนต์อีวีเพิ่มเติม หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนจุดชาร์จแบตเตอรี่ เชื่อว่า จะทำให้การใช้รถยนต์อีวีในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิตเปิดเผยระหว่างการเสวนาในหัวข้อ EV Ecosystem พลิกโฉมยานยนต์ไทย ในงานสัมมนา EV Forum 2022 Move Forward to New Opportunity จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ขณะนี้ ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งเพิ่มเติมจากมาตรการทางภาษีที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ โดยหนึ่งในมาตรการคือ การสนับสนุนจุดชาร์จแบตเตอรี่ เชื่อว่า หากออกมาตรการดังกล่าวแล้ว จะทำให้ผู้ใช้รถอีวีเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“ในอนาคตถ้าเรามีการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นจุดชาร์จแบตเตอรี่ หรือ ค่าไฟฟ้า จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ แต่ว่า เนื่องจาก เรามีมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้น แต่จะมีมาตรการอีกด้านที่เรายังพูดได้ไม่เต็มปากคือ เรื่องของการสนับสนุนจุดชาร์จแบตเตอรี่ แต่ก็เป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ เชื่อว่า ถ้าเรามีจุดชาร์จเพียงพอ ความต้องการผู้บริโภคจะเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดดได้ง่าย”

เมื่อถามว่า หากมาตรการรัฐหมดลงไป การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตด้วยตัวเองได้หรือไม่ เขากล่าวว่า เรามองว่า วันนี้ ความเชื่อมั่นเกิดขึ้นแล้วในเรื่องของการพัฒนาอีวี แต่ความต้องการในอนาคตขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงแบตเตอรี่ เชื่อว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจะมีเทคโนโลยีที่เป็นแบตเตอรี่ใหม่ ฉะนั้น เชื่อมั่นว่า การตอบรับของผู้บริโภคจะดีขึ้นกว่าเดิม โดยขนาดของแบตเตอรี่จะเล็กลง และน้ำหนักจะเบา ขณะเดียวกัน การชาร์จจะทำให้วิ่งในระยะไกล ฉะนั้น เชื่อว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นการเติบโตของรถยนต์อีวีโดยไม่ต้องมีมาตรการรัฐเข้ามาสนับสนุน

ทั้งนี้ ขณะนี้ มีค่ายรถยนต์อีกประมาณ 5-6 ราย ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวี หลังจากที่ ขณะนี้ เราได้ร่วมลงนามความตกลงรับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีจากรัฐบาลกับผู้ประกอบการรถยนต์ไปแล้วจำนวน 4 ราย ซึ่งประกอบด้วย ค่ายเกรทวอลล์ ค่ายเอ็มจี ค่ายโตโยต้า และ ค่ายเดโกกรีน ปัจจุบันมียอดจองทั้งหมด 1.14 หมื่นคัน ประกอบด้วยรถที่อยู่ในโครงการ 1.08 หมื่นคัน และ รถที่ไม่ได้อยู่ในโครงการอีก 659 คัน

“การตอบรับภายใต้งานมอเตอร์โชว์ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ค่อนข้างดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีถึง 1.1 หมื่นคัน ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนมีการโปรโมทจริง แต่ยอดจองมีแค่ 300 กว่าคัน วันนี้ ถือว่า ประเทศไทยได้ก้าวไปหนึ่งก้าวที่จะไปสู่อีวีในอนาคต”

เขากล่าวด้วยว่า รัฐบาลมอบงบประมาณให้เราบริหารในโครงการสนับสนุนรถอีวีในปีแรก 3 พันล้านบาท ฉะนั้น คาดว่า งบประมาณในปีแรกเพียงพออยู่แล้ว ยกตัวอย่าง วันนี้ เราใช้ประมาณ 1 หมื่นคัน เฉลี่ยงบต่อคันที่ 1.5 แสนบาท ก็ประมาณ 150 ล้านบาท เท่านั้น ถือว่า ยังมีช่องทางขยายได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ ทางรัฐบาลก็ได้มอบหมายให้กรมฯ กับสภาพัฒน์ไปหารือเกี่ยวกับงบประมาณในอีก 3 ปีถัดไป หรือ นับตั้งแต่ปี 2566-2568 ซึ่งนโยบายเบื้องต้นให้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

“ภายใต้นโยบายนี้ ถ้ามีการเจริญเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่มากพอ และเป็นก้าวกระโดด เม็ดเงินที่วางไว้ก็เชื่อว่า จะเพียงพอ”

เมื่อถามว่า จากปัญหาวัตถุดิบในการผลิตรถอีวีที่ไม่เพียงพอ จะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาได้หรือไม่ เขากล่าวว่า ในหลักการแล้วสามารถปรับขึ้นได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง สิ่งที่เรากังวลคือ การที่เราให้เงินอุดหนุนแล้ว แต่ปรากฏผลกำไรไปตกอยู่กับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น เราจึงตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องโครงสร้างราคา โดยหลักฐานในการปรับขึ้นราคาจะต้องมีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับขึ้นอย่างไร

สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์หลังจากปี 2569 นั้น เขากล่าวว่า โครงสร้างภาษีใหม่ เราจะทยอยปรับโครงสร้างภาษีสำหรับรถยนต์ที่ใช้สันดาปภายในพอสมควร แต่ปรับไม่มาก เพิ่มแค่ 1-2%ในช่วงเวลา 2 ปี ฉะนั้น ภายใน 5-6 ปี นับจากนี้ไป หลังจากปี 2566-73 และ 75 โครงสร้างภาษีจะมีการปรับขึ้นประมาณสูงสุดไม่เกิน 5%

ขณะเดียวกัน เราจะมีความแตกต่างระหว่างไฮบริดกับปลั๊กอิน เนื่องจาก ในอดีตก่อนปี 2562 เรากำหนดไว้ว่า ปลั๊กอินไฮบริดวิ่งได้แค่ 20 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง วันนี้ เรามีเงื่อนไขว่า ต้องวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้ ในเรื่องของถังน้ำมันต้องมีขนาดเล็กลงอยู่ที่ 45 ลิตร ถามว่า ทำไม เพราะเราอยากส่งเสริมให้คนใช้ไฮบริดปลั๊กอินมากขึ้น ไม่อยากให้บอกว่า เมื่อมีปลั๊กอินแล้วท่านยังใช้น้ำมันเหมือนเดิม เป็นเครื่องมือหนี่งที่เราพยายามผลักดันให้มีแตกต่างระหว่างไฮบริดกับปลั๊กอินไฮบริด

ส่วนการส่งเสริมเรื่องโปรดักส์แชมเปี้ยน หรือรถยนต์กระบะหรืออนุพันธ์ของกระบะ เรายังมีการส่งเสริมในอัตราค่อนข้างต่ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เราเป็นฐานการผลิต

“ในขณะที่ เรามองไปถึงปี 2569 ที่เราบังคับใช้ เรื่องถังน้ำมันที่มีขนาดไม่เกิน 45 ลิตร แต่ขณะนี้ จีนบังคับใช้ไปแล้ว ฉะนั้น ถ้าเราต้องการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆโดยเฉพาะจะไปแข่งขันที่จีนก็ดี เชื่อว่า ตรงนี้ จะเป็นคำตอบในอนาคต เพราะเขากำหนดคำตอบไว้แล้ว”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์