‘สภาพัฒน์’มองขีดแข่งขันไทยลดชั่วคราว ท่องเที่ยวฟื้นหนุนดุลบัญชีฯพลิกบวก

‘สภาพัฒน์’มองขีดแข่งขันไทยลดชั่วคราว ท่องเที่ยวฟื้นหนุนดุลบัญชีฯพลิกบวก

สศช.ชี้อันดับลดลงจากปัจจัยโควิด การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการขาดรายได้ท่องเที่ยว มั่นใจอันดับปีนี้ดีขึ้นแน่นอนหลังเปิดรับนักท่องเที่ยว โชว์ตัวเลขกระจายรายได้ลงคนระดับล่าง 40% ที่รายได้น้อย ขยับจาก 26 เป็นอันดับ 3

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการจัดอันดับความสามารถในการแข่งของ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่จัดอันดับโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2565 โดยจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมลดลง 5 อันดับจากอันดับที่ 28 ลดลงมาอยู่อันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ

สำหรับในเรื่องของประสิทธิภาพเศรษฐกิจลดลง 13 อันดับมาจากที่ในปี 2564 ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลมีการกู้ยืมเงินมาดูแลประชาชนเพิ่มเติม และมีการปิดรับนักท่องเที่ยวเกือบทั้งปี ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายน้อยบวกกับการนำเข้าสินค้าที่ใช้เงินตราต่างประเทศมากก็ทำให้เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 2%

ทั้งนี้มองว่าในปี 2565 สถานการณ์ต่างๆคลี่คลายไปในทางที่ดีดังนั้นในปี 2566 ที่จะมีการประกาศตัวเลขขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของเราจะปรับตัวดีขึ้นจากการที่ในปี 2565 เรามีการเปิดรับนักท่องเที่ยวและคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากถึง 10 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่การส่งออกก็ทำได้ดีต่อเนื่องคาดว่าในปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะสามารถเป็นบวกได้

นอกจากนี้ในการจัดอันดับของ IMD ล่าสุดพบว่าในผลการสำรวจในบางตัวชี้วัดของปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่น ในเรื่องของการกระจายรายได้ให้กับประชากรในกลุ่มยากจนที่สุด 40% ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้เงินกู้มาดูแลประชาชนในส่วนนี้จำนวนมาก ทำให้ตัวชี้วัดดังกล่าวมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 หรือดีขึ้น 26 อันดับจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐในการลดค่าครองชีพของกลุ่มคนเปราะบาง และมีมาตรการบรรเทาช่วยเหลือด้านรายจ่ายให้แก่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในประเทศผ่าน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสำคัญ เช่น เราชนะ และคนละครึ่งปัจจัยหลัก

 ขณะที่ตัวเลขเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยังดีอยู่ของไทยได้แก่ เรื่องของอัตราการว่างงานที่ต่ำ และเรื่องของเสถียรภาพราคาที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายใน การดำรงชีพมีการปรับตัวดีขึ้นถึง 6 อันดับ แม้ว่าระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น จากแรงกดดันของสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต และ การบริโภคปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพยังคงมีแนวโน้มที่ดี เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ค่าใช้จ่าย สำหรับที่อยู่อาศัยและสำนักงาน เป็นต้น

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการ ของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนและพยุงต้นทุนค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เช่น โครงการคนละ ครึ่ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โครงการเพื่อช่วยลด ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น

ในส่วนของด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ที่อยู่ในอันดับที่ 31 ลดลง 11 อันดับ จากอันดับที่ 20 ในปีก่อนหน้า โดยสาเหตุหลัก เป็นผลมาจากปัจจัยย่อยทางด้านฐานะการคลัง (Public finance) ที่มีการใช้จ่าย งบประมาณแบบขาดดุล และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ รักษาระดับ การจ้างงาน และกระตุ้นการลงทุนและบริโภคในระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

ส่วนในด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) แม้ว่าผลิตภาพและประสิทธิภาพรวมจะมีอันดับลดลง แต่พบว่าผลิตภาพการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้น และผลการจัดอันดับยังแสดงให้เห็นว่าเรายังมี จุดแข็งในหลายเรื่อง เช่น สัดส่วนกำลังแรงงาน การให้บริการลูกค้า และ การรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Basic Infrastructure) ปรับตัวดีขึ้น จากพัฒนาการ ด้านคมนาคมขนส่งรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางรถไฟและโครงข่าย ถนนอย่างต่อเนื่อง ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) ดีขึ้น โดยรัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สามารถตอบสนองความต้องการของ ภาคธุรกิจและครอบคลุมผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยย่อยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environment) ได้รับการจัด อันดับลดลง 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 51 แม้ว่าอันดับจะลดลง แต่ตัวชี้ที่สะท้อนถึง คุณภาพชีวิตของประชาชน ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น เช่น อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด และอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพที่ดีเป็นต้น

ส่วนปัจจัยย่อยด้านการศึกษา (Education) ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับอยู่ในอันดับที่ 53 เป็นผลจากที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องจากตัวชี้วัดการใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของภาครัฐ