SCGC รุก "กรีนพอลิเมอร์" ลุยดิจิทัลฝ่าวิกฤติต้นทุนพุ่ง

SCGC รุก "กรีนพอลิเมอร์" ลุยดิจิทัลฝ่าวิกฤติต้นทุนพุ่ง

ปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมหลักใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่มีนโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ซึ่งมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบัน SCG เตรียมที่จะให้ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ที่เป็นบริษัทย่อยทำการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) 

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC เปิดเผยว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างความชุลมุนให้ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงราคาแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของปิโตรเคมีที่สูงขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้ผลิตทุกรายในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตาม เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ผันผวนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 30-40% 

ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทยังคงมีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการในตลาด ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งสำคัญที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนถึง 3 ประเทศ ทำให้มีความได้เปรียบในการเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ซื้อในภูมิภาคนี้โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคา

นอกจากนี้ เชื่อว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มคงตัวอยู่ในระดับสูงโดยจะไม่สูงขึ้นไปกว่านี้แล้ว สิ่งสำคัญที่บริษัททำ คือ การบริหารจัดการภายในองค์กร การจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม รวมทั้งการใช้ระบบ “ดิจิทัล” ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การใช้เอไอและบิ๊กดาต้าในการเข้าซื้อวัตถุดิบปรับปรุงกระบวนการผลิต จนถึงการขายบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีศักยภาพและโอกาสการเติบโตทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จากอานิสงส์ของเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐานเนื่องจากการขยายตัวของเมืองการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการความต้องการใช้เคมีภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น

“นวัตกรรมเคมีภัณฑ์อยู่รอบตัวและเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของทุกคน เรียกได้ว่าผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน 1 ชิ้น จะมีเม็ดพลาสติกจากเอสซีจีซีเป็น 1 ใน 5 เช่น กล่องใส่อาหาร กล่องนม ฝาขวดน้ำดื่มและน้ำอัดลม หน้ากากอนามัย รวมถึงการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ พลาสติกสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติกทางการแพทย์ และพลาสติกเพื่องานโครงสร้าง เช่น ท่อทนแรงดันสูง PE 112 สำหรับส่งก๊าซหรือน้ำประปา"

บริษัทมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี โดยคาดการณ์ว่าเวียดนามและอินโดนีเซียจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5-6% ต่อปี ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของจีดีพีทั่วโลกเกือบเท่าตัว

นอกจากนี้ อัตราการใช้พอลิเมอร์ในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน อยู่ที่ 26 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ถือว่ายังต่ำกว่าในยุโรปและสหรัฐ 2-3 เท่า ตลาดอาเซียนจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในเวียดนามที่ยังต้องนำเข้าพอลิเมอร์75% และอินโดนีเซีย 50% เนื่องจากมีกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ถือเป็นโอกาสของ SCGC ที่จะขยายการลงทุน และใช้ความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว ตอบสนองความต้องการของตลาดและความต้องการของลูกค้าในประเทศที่ต่างกัน

ในปี 2564 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากอาเซียน คิดเป็น 21% โดยมีไทยเป็นฐานการผลิตหลัก ส่วนในอินโดนีเซียเป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้น 30% ใน Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายการลงทุนเฟส 2 

ส่วนในเวียดนามอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมี (Long Son Petrochemical Complex) ถือเป็นบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนเคมีภัณฑ์ครบวงจรในประเทศ โดยคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี

SCGC รุก \"กรีนพอลิเมอร์\" ลุยดิจิทัลฝ่าวิกฤติต้นทุนพุ่ง นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นพัฒนากลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ซึ่งจะเป็นสินค้าที่ทดแทนได้ยากและสร้างมาร์จินได้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรมสีเขียว เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) ลดการเกิดขยะพลาสติกและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านคาร์บอนต่ำ โดยใช้ 4 แนวทาง ได้แก่ 

1.Reduce ลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต โดยการพัฒนา SMX Technology ทำให้เม็ดพลาสติกแข็งแรงทนทานขึ้น 20% 

2.Recyclable พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เม็ดพลาสติกชนิดเดียวเพื่อให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

3.Recycle การพัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง 

4. Renewable นำวัสดุภาคการเกษตร เช่น เอทานอล เป็นสารตั้งต้นใหม่สำหรับทำเม็ดพลาสติก หรือไบโอพลาสติก

สำหรับปี 2564 บริษัท มีสัดส่วนสินค้า HVA คิดเป็นประมาณ 36% ของรายได้รวมของบริษัท นอกจากนี้ยังตั้งเป้าจะขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573

“บริษัทเชื่อว่าความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาสินค้าและบริการกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อตอบสนองเมกะเทรนด์ การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและ ESG รวมทั้งการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้บริษัทก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจที่วางไว้ทั้งในเวียดนาม และอินโดนีเซีย”