4 หน่วยงานภาคการเงินลงนามคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

4 หน่วยงานภาคการเงินลงนามคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ธปท.เอ็มโอยูร่วมหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้ “เศรษฐพุฒิ”ระบุ ปี 64 ทั่วโลกพบข้อมูลรั่วไหล 24.7 พันล้านรายการ เป็นการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคลถึง 65% ชี้ถือเป็นอุปสรรคการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศ

วานนี้ (28 เม.ย.) หน่วยงานกำกับดูแลภาคธุรกิจการเงิน ทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจการเงิน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการผลักดันเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ กฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้ง เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในการใช้บริการออนไลน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและเป็นธรรม

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และในขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลภาคธุรกิจการเงิน จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจการเงินขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ในปี 2564 พบว่า มีเหตุการรั่วไหลของข้อมูล 22.7 พันล้านรายการ โดยเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีชื่อผู้ทำธุรกรรมรั่วไหลออกไปถึง 65% ซึ่งภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ ตัวเลขที่กล่าวถึง อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และอาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศได้

ทั้งนี้ เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลนี้มีความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเงินเช่นกัน โดยเฉพาะในระยะต่อไปที่ ธปท.กำลังมีนโยบายที่จะปรับภูมิทัศน์ในภาคการเงินให้เปิดกว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดการให้บริการหรือที่เรียกว่า Open data ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกรวดเร็ว และง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และเป็นธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีประวัติทางการเงินไม่มาก ก็จะสามารถเชื่อมต่อถึงข้อมูลการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ที่สะท้อนความรับผิดชอบที่สม่ำเสมอมาใช้ประกอบการขอสินเชื่อ ทำให้ผู้ให้กู้ เห็นถึงพฤติกรรมทางการเงินมากขึ้น ช่วยให้การตัดสินใจให้กู้หรือคิดดอกเบี้ยสะท้อนความเสี่ยงผู้ขอกู้มากขึ้น

เขากล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขับเคลื่อนภาคการเงิน และเศรษฐกิจนี้ จึงต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลความเสี่ยง และการมีธรรมาภิบาลของการใช้ข้อมูลอย่างสมดุล ซึ่งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือPDPA ที่กำลังจะบังคับใช้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจในภาคการเงินควบคุมดูแลสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลที่จะกระทบความเชื่อมั่นการใช้บริการทางการเงินของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ส่งเสริมให้ภาคธนาคารมีแนวปฏิบัติด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึง ส่งเสริมความรู้ และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการของธนาคารเป็นไปตามเจตนารมณ์ของPDPA ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธปท.ทั้งหมดมีความพร้อมที่จะรองรับแนวทางของPDPA ก่อนที่จะกฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.ปีนี้

สำหรับภาคการเงินความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลในการวางแนวทางการใช้กฎเกณฑ์การใช้MOUC ฉบับนี้จะช่วยให้การกำกับดูแล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคการเงินมีความสอดคล้องไม่ทับซ้อน ซึ่งจะช่วยลดภาระหรือต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชนในการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมั่นใจ และการพัฒนาการให้บริการทางการเงินมีการบริหารความเสี่ยงที่จะดียิ่งขึ้น

ความร่วมมือครั้งนี้ ช่วยให้การกำกับดูแลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคการเงินมีความสอดคล้องกัน ไม่ทับซ้อน ช่วยลดภาระหรือต้นทุนให้แก่ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน ให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาภาคการเงิน และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ราบรื่น”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและส่งเสริมหน่วยงานในตลาดทุนมีพร้อมในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มาโดยตลอด เนื่องจาก การทำธุรกรรมด้านตลาดทุนจำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลประกอบในหลายกิจกรรม เช่น การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ การทำความรู้จักลูกค้าตามหลัก KYC

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้สนับสนุนการจัดทำแนวปฏิบัติด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละกลุ่มธุรกิจในตลาดทุน จากการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล เมื่อเดือนมี.ค.พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีความตื่นตัวในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและได้ดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆ ไปมากกว่า 90% แล้ว โดยส่วนใหญ่มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จก่อน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มีผลใช้บังคับ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประกอบการดำเนินธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้สนับสนุนการพิจารณารับประกันภัย การปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย และการให้บริการลูกค้า สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการ การได้มา และการปกป้องข้อมูลของลูกค้าทั้งข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวของธุรกิจประกันภัย

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เป็นกลไกสำคัญทำให้ประชาชนสามารถรับทราบวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดแจ้ง และมีสิทธิต่างๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของตน

ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ  และองค์กรเอกชนมีมาตรฐานการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้สามารถดำเนินการ และทำธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลได้อย่างมั่นใจว่าถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สอดคล้องหลักการสากล และได้รับการยอมรับในการทำธุรกิจการค้าจากนานาชาติ รวมทั้ง สามารถสร้างสังคมที่เข้มแข็ง เนื่องจากสามารถตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐ และภาคธุรกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความถูกต้องเหมาะสมได้

ด้าน นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่ในส่วนของนอนแบงก์บางแห่ง อาจจะยังไม่พร้อม แต่เชื่อว่า จะมีความพร้อมก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์