จิ๊กซอว์สำคัญ ‘รถ EV’ ในไทย ดึง 'ค่ายรถญี่ปุ่น' ตั้งฐานลงทุน

จิ๊กซอว์สำคัญ ‘รถ EV’ ในไทย  ดึง 'ค่ายรถญี่ปุ่น' ตั้งฐานลงทุน

ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยเติบโต นับตั้งเกิดเหตุการณ์ Plaza Accord ปี 2530 ที่ทุนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมายังไทย ปัจจุบันค่ายรถญี่ปุ่นกินส่วนแบ่งการผลิตกว่า80% การดึงค่ายรถญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน EV ในไทยจึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทย โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสะท้อนผ่านการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2540 ที่มียอดผลิตอยู่ 3.6 แสนคันในปี 2540 มาเป็น 2 ล้านคันในปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) หรือคิดเป็นการเติบโตกว่า 8.6% ต่อปี ในปี 2565 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ในประเทศจะทำได้ประมาณ 1.7 -  1.8 ล้านคัน ใกล้เคียงกับในปี 2564 ที่ผลิตได้ 1.68 ล้านคัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV)  โดยมีนโยบายในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ตาม "นโยบาย 30@30" โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการสนับสนุนให้เกิดตลาดรถ EV ในประเทศโดยให้ส่วนลดเป็นเงินอุดหนุน 70,000 - 150,000 บาทต่อคันแถมลดภาษีสรรพสามิตให้ด้วย ทำให้รถ EV เป็นกระแสได้รับความสนใจมียอดจองจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในการเปิดตัวโครงการในช่วงแรกรถ EV ที่นำเข้ามาเปิดตัวในไทย ให้ได้จับจองกันนั้นส่วนใหญ่เป็นรถ EV จากค่ายสัญชาติจีน ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนที่ชื่นชอบรถจากค่ายญี่ปุ่น หรือยุโรป ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อหรือจองรถ โดยยังรอสถานการณ์ไปอีกระยะ

ขณะที่ในด้านของรัฐบาลก็ยังอยู่ระหว่างการชักจูงค่ายรถยนต์ชั้นน้ำทั้งในฝั่งญี่ปุ่น และค่ายรถยุโรป ให้เข้ามาผลิตรถยนต์ EV รวมทั้งชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่สำคัญ เพื่อช่วยให้นโยบายนี้ของไทยประสบความสำเร็จในระยะยาว

ปฎิเสธไม่ได้ว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจะมีส่วนสำคัญในการทำให้นโยบายส่งเสริมการผลิตรถ EV ในไทยประสบผลสำเร็จ เนื่องจากในปัจจุบันค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งการผลิตรถยนต์ในไทยถึง 80% ของกำลังการผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยมีโตโยต้าครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ที่ 20.8% มิตซูบิชิ 12.4% และฮอนด้า 10.2%  

โรดโชว์ญี่ปุ่นดึงค่ายรถชั้นนำลงทุน EV 

ดังนั้นจึงเป็นแผนงานสำคัญอย่างหนึ่งของสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน  ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 19 - 23 เม.ย.2565 ซึ่งนอกจากการหารือกับนักลงธุรกิจเพื่อดึงการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)แล้ว ยังมีภารกิจในการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของนโยบายรถยนต์ EV ด้วยการเจรจา ชักชวนให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นตัดสินใจปรับเปลี่ยนการผลิตในไทยจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป มาเป็นรถ EV ซึ่งจะทำให้นโยบายนี้ของไทยมีโอกาสสำเร็จและเป็นจริงได้มากขึ้น

มั่นในค่ายญี่ปุ่นลงทุน EV ในไทย 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการไปหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นครั้งนีิ้เป้าหมายอย่างหนึ่งของคณะของรองนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้คือการไปหารือกับผู้บริหารค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเพื่อชักชวนให้มาลงทุนรถยนต์อีวีในประเทศไทยหลังจากที่ไทยมีนโยบายที่ชัดเจนแล้วในการส่งเสริมแต่ในระยะแรกมีเพียงค่ายรถจากจีนที่มาเซนต์สัญญาความร่วมมือกับรัฐบาลในโครงการนี้ 

ทั้งนี้มีแนวโน้มที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจะมีการทบทวนนโยบายที่จะเข้ามาลงทุนรถยนต์ EV ในไทยมากขึ้น หลังจากที่ค่ายรถขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตและจำหน่ายในไทยได้มีการเปิดตัวรถยนต์ EV แล้ว เช่น ฮอนด้ามีการเปิดตัวรถ EV ถึง20 รุ่น และก่อนหน้านี้โตโยต้าได้มีการนำเอารถ EV รุ่น bZ4X รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรกเข้ามาโชว์ตัวในไทยแล้ว

“มั่นใจว่าค่ายรถญี่ปุ่นจะเข้ามาทำตลาดรถ EV ในไทยแน่นอน แต่อาจจะช้ากว่าค่ายจีนที่มีรถที่ผลิตไว้พร้อมแล้ว สามารถนำเข้ามาทำตลาดได้ ส่วนค่ายรถญี่ปุ่น หรือจากยุโรปนั้นเมื่อมีการออกนโยบายมาแล้ว เอานโยบายไปศึกษาดูความเป็นไปได้ก็มีโอกาสมากที่เขาจะเข้ามาลงทุนเพื่อขายในไทยและในภูมิภาค รวมทั้งในเรื่องของการผลิตแบตเตอรี่รถ หรือชิ้่นส่วนสำคัญของรถ EV ที่ต้องทำการผลิตในประเทศตามเงื่อนไขด้วย เพื่อทำให้เกิดอุตสาหกรรมรถ EV ในประเทศในระยะต่อไป”