สมดุลคน 2 วัย

สมดุลคน 2 วัย

องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องประสบปัญหาช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น บทบาทของผู้นำที่ดีจึงต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างคนทั้ง 2 วัยให้ได้

ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้เราเริ่มเห็นแนวโน้มการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งเข้าด้วยกันเพราะอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งเริ่มมีจำนวนนิสิตนักศึกษาลดลง ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ค่าใช้จ่ายสูงกกว่าก็ยิ่งเจอปัญหานี้มากขึ้นตามไปด้วย

เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ โครงสร้างของประชากรในวัยทำงานก็ย่อมมีปริมาณและอายุที่น้อยลงมาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นทำให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องประสบปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” มากขึ้น เพราะผู้บริหารและพนักงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มักมีมุมมองและทัศนคติที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ทักษะการบริหารในยุคปัจจุบันที่เน้นการจัดการทรัพยากรแบบองค์รวมก็มักจะให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์เป็นลำดับแรก แต่ความขัดแย้งระหว่างคนต่างวัยทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้องค์กรไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้

เพราะมุมมองที่ไม่เหมือนกันระหว่างเจ้าของหรือผู้บริหารที่มักมีอายุมากกว่าและเคยชินกับการทำงานหนักที่อยู่ระบบระเบียบมาตลอดชีวิต เมื่อต้องการคนทำงานก็ย่อมอยากได้คนที่มีความทุ่มเท ขยันตั้งใจ ทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างไม่ย่อท้อและรับผิดชอบกับงานที่ทำให้ถึงที่สุด

ในขณะที่พนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็มักจะเติบโตมากับความเชื่อที่ว่าแต่ละคนล้วนมีจุดเด่นจุดดีของตัวเอง และการเติบโตในหน้าที่การงานนั้นก็ต้องอาศัยความเป็นอิสระเพื่อค้นหาตัวต้นที่แท้จริง และใช้เวลาให้คุ้มค่าเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเองให้มากที่สุด

นั่นจึงทำให้คนรุ่นเก่าอยากให้พนักงานทุกคนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันสำนักงานเพื่อฟังแนวทางการทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วจึงแบ่งทีมกันทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน และตั้งหน้าตั้งตาทำให้เสร็จแม้จะดึกดื่นเพียงใด

ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อยากทำงานที่บ้านเพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง จะประชุมหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็ใช้ระบบออนไลน์ทำงานได้ตลอดทั้งวัน โดยแต่ละคนต้องการอิสระที่จะทำทุกอย่างไปตามแนวทางของตนเองแล้วจึงมารวมผลงานเป็นหนึ่งเดียวกันในตอนท้าย

ช่องว่างระหว่างวัยจึงทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิดที่ยากจะประสานกันได้ และเมื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ทุกอย่างแย่ลงไปอีก เพราะคนแต่ละวัยก็เปิดรับฟังความเห็นเฉพาะที่สอดคล้องกับแนวคิดของตัวเองเท่านั้น

และโซเชียลมีเดียก็ยิ่งตอกย้ำความแตกต่างที่เกิดขึ้นและทำให้แต่ละฝ่ายมีความเชื่อที่สุดโต่งมากขึ้น นั่นจึงทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกว่าตัวเองต้อง “อดทน” ต่อสถานการณ์ที่เผชิญอยู่เพราะคิดเหมือน ๆ กันว่าสามารถออกไปเผชิญโลกได้โดยลำพัง

ความคิดในลักษณะนี้เหมือนเป็นโรคติดต่อที่ทำให้คนเปลี่ยนความคิดได้ตามกระแสที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวะ เหมือนเช่นยุคหนึ่งที่ใครๆ ต่างก็ต้องการเปิดร้านกาแฟ หรือยุคหนึ่งที่คนอยากลาออกมาทำบริษัทสตาร์ตอัพกันเพราะดูทันยุคทันสมัย

แต่ข้อดีของโซเชียลมีเดียก็มีอีกมากโดยเฉพาะการสร้างความหวังด้วยเนื้อหาเชิงบวกที่สร้างแรงบันดาลใจ และคอนเทนต์ที่ดีจำนวนมากก็ยังชี้ให้เห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกอยากท้าทายโลกของการเปลี่ยนแปลง

หากเรามองอย่างเป็นกลางแล้ว คนทั้ง 2 วัยน่าจะหาจุดร่วมที่ลงตัวกันได้ เช่นการทำงานที่บ้านก็อาจเหมาะสมกับบางตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำสำนักงาน แต่บางตำแหน่งก็อาจต้องทำงานร่วมกันแบบเห็นหน้าเห็นตาเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าในการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กร

สรุปคือบทบาทของผู้นำที่ดีก็คือการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างคนทั้ง 2 วัย ด้วยการเน้นให้คนรุ่นใหม่ยังคงเป็นตัวของตัวเอง ได้แสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ได้โดยไร้กรอบครอบงำ แต่ก็อยู่ในระเบียบและกติกาขององค์กรเพื่อให้มีทิศทางในการทำงานร่วมกัน

ติดตามข้อคิดอื่นๆ เพิ่มเติมในสัปดาห์หน้าครับ ....