ศึกย้อนยุค “ทักษิณ” ฝังแค้น “เนวิน” คู่ปรปักษ์ข้ามทศวรรษ

ศึกย้อนยุค “ทักษิณ” ฝังแค้น “เนวิน” คู่ปรปักษ์ข้ามทศวรรษ

เหมือนสงครามย้อนเวลา “ทักษิณ” เจอคู่ปรับเก่า “เนวิน” ตัวแทนกลุ่มอำนาจเดิม หลังภูมิใจไทยประกาศขอเป็นพรรคขั้วหลัก สอดรับกับครูใหญ่บุรีรัมย์ตั้งเป้า 120 เสียง

การเลือกตั้งปี 2554 ทักษิณ ชินวัตร ส่งน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสู่สนามการเมือง และวางตัวเป็นนายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายแฝงคือ ปฏิบัติการไล่ล่าคนทรยศ ผ่านขบวนการคนเสื้อแดงทั่วประเทศ 

มาถึง พ.ศ.นี้ ทักษิณ ส่งลูกสาวคนเล็ก แพทองธาร ชินวัตร ตามรอยยิ่งลักษณ์ ลุยสมรภูมิเลือกตั้ง ต้องเจอคู่ปรับหน้าเดิมคือ เนวิน และพรรคภูมิใจไทย 

วันอาทิตย์ที่ 9 ต.ค. 2565 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะ กรรมการนโยบายด้านยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ควงอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจ อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์

หมอมิ้ง นพ.พรหมินทร์ ตอกย้ำยุทธศาสตร์เพื่อไทย ตั้งเป้าคว้าชัยชนะเกินครึ่งของสภาฯ 250 เสียง ด้วย 3 ปัจจัยเพื่อชัยชนะคือ

1.เสนอผู้แทนราษฎรที่ใกล้ชิดประชาชน 2.เสนอนโยบายที่สร้างความหวัง ชี้ทางออกพ้นวิกฤติ 3.มีผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี 3 คน แสดงความพร้อมในการนำพาประเทศ บริหารตามทิศทางนโยบาย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอและแตกแยก ไม่สามารถดำรงความเป็นพรรคขั้วหลักได้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิไทย จึงประกาศยกระดับขอเป็นขั้วหลักในทางการเมืองแทน 

เหนืออื่นใด ปมเงื่อนความสำเร็จในการเป็นพรรคขั้วหลักของค่ายสีน้ำเงินอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มอำนาจปัจจุบันที่เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และผู้คุมกองกำลัง ส.ว. 250 คน

มีรายงานข่าวว่า แกนนำค่ายสีน้ำเงินประเมินพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 แต่ไม่ได้ถึงตามเป้าหมาย 250 เสียง เพราะถูกพรรคที่มีฐานเสียงเดียวกันอย่างก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย ตัดแต้มในเมืองหลวง และภาคอีสาน รวมแล้วน่าจะได้ 170-180 เสียง

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะปลุกกระแสต้านแผนการพาทักษิณกลับบ้านของอุ๊งอิ๊ง และแกนนำเพื่อไทย

เนวินและภูมิใจไทย จึงกลายเป็นกองกำลังหลักแทนพลังประชารัฐที่อ่อนแรง ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสกัดแผนแลนด์สไลด์ของทักษิณ

ศึกย้อนยุค “ทักษิณ” ฝังแค้น “เนวิน” คู่ปรปักษ์ข้ามทศวรรษ

แค้นนี้สิบปีก็ไม่สาย

เนวิน ชิดชอบ นักการเมืองที่ผ่านจุดตกต่ำที่สุดในชีวิต ถึงขั้นหาพรรคสังกัดไม่ได้ แต่ไม่กี่ปีถัดมา เนวินกลายเป็นขุนพลคู่ใจทักษิณ ชินวัตร 

เลือกตั้งปี 2544 เนวินเป็น ส.ส.พรรคชาติไทย และในช่วงรัฐบาลทักษิณ กำนันชัยเอ่ยปากกับอดีตนายกฯทักษิณว่า “อาขอฝากลูกชายไปทำงานกับท่านนายกฯด้วยนะ” หลังจากนั้น ทักษิณแต่งตั้งเนวินเป็น รมช.เกษตรฯ ตามมาด้วย รมช.พาณิชย์

 เลือกตั้งปี 2550 เนวินเป็นหนึ่งในแม่ทัพพรรคพลังประชาชน ที่กวาด ส.ส.มาได้เกือบครึ่งสภาฯ หนุนสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาถึงสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ

ปลายปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนวินจึงนำ ส.ส. 23 คน ในนามกลุ่มเพื่อนเนวิน รวมกับกลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน 8 คน เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ พร้อมวลีเด็ด “มันจบแล้วครับนาย”

นี่คือจุดเริ่มต้นปฏิบัติการไล่ล่าคนทรยศนายใหญ่ ในการเลือกตั้งปี 2554 ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย ปราชัยย่อยยับในสมรภูมิภาคอีสานและภาคเหนือ โดย ส.ส.ที่แหกค่ายมากับเนวิน สอบตกเกือบหมด

พ.ศ.ปัจจุบัน ปฏิบัติการสั่งสอนงูเห่า ก็มีบรรยากาศไม่ต่างอะไรกับการไล่ล่าคนทรยศในอดีต แม้ขบวนการคนเสื้อแดงไม่ได้เข้มแข็งเหมือนช่วงปี 2554 แต่การสร้างขบวนการครอบครัวเพื่อไทย ก็เหมือนการฟื้นฟูคนเสื้อแดงให้มีพลังขึ้นมาอีกครั้ง

 

ป้อมค่ายอีสาน

ไม่น่าแปลกใจที่นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจคนอีสานเรื่องคนที่ใช่ พรรคที่ชอบ(ทำการสำรวจระหว่าง 3-6 ตุลาคม 2565) พบว่า ร้อยละ 36.45 สนับสนุนอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากสมรภูมิอีสาน พรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณผูกขาดเป็นแชมป์ ส.ส.อีสานมาตั้งปี 2544 จนถึงปี 2562 เพราะคนอีสานยังชื่นชมทักษิณ และคนในตระกูลชินวัตร

สนามเลือกตั้งภาคอีสานสมัยหน้า มี ส.ส.เพิ่มจาก 126 ที่นั่ง เป็น 132 ที่นั่ง แชมป์เก่าหลายสมัยอย่างพรรคเพื่อไทย มีโอกาสกวาด 104 ที่นั่ง เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2554 เพราะกระแสอุ๊งอิ๊งมาแรง ใกล้เคียงกระแสยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์ นารีขี่ม้าขาวภาคแรก

ปี 2554 พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.อีสาน 13 คน แต่เป็น ส.ส.โซนอีสานใต้ทั้งหมด สำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้า ค่ายสีน้ำเงินสรุปบทเรียนจากในอดีต จึงเจาะเป็นรายเขตรายจังหวัด เลือกตัวบุคคลที่มีศักยภาพ และมีฐานเสียงส่วนตัว 

ศึกย้อนยุค “ทักษิณ” ฝังแค้น “เนวิน” คู่ปรปักษ์ข้ามทศวรรษ

อนุทินใช้คำว่า ตอกเสาเข็ม สรรหาผู้สมัคร ส.ส.เกรดเอ อย่างเช่นดึงแนน-บุญย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลฯ พรรค ปชป. ลูกสาวของอิสสระ สมชัย ที่เคยฝ่าพายุแลนด์สไลด์เข้าสภาฯ ปี 2548 และปี 2554 มาสวมเสื้อสีน้ำเงิน

ภูมิใจไทยตั้งเป้าหา ส.ส.เสาเข็มในโซนอีสานเหนือ และอีสานกลางให้ได้อย่างต่ำ 7-8 คน บวกกับอีสานใต้ประมาณ 20 คน

 

จุดอ่อนภาคกลาง

เนวิน ชิดชอบ รู้ดีว่าภูมิใจไทย มีจุดอ่อนอยู่ที่ภาคอีสาน จึงพยายามเปิดเกมรุกขยายพื้นที่ ส.ส.ในภาคกลาง , ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ เพื่อนำมาทดแทนส่วนที่ช่วงชิงจากอีสานเหนือไม่ค่อยได้

เฉพาะภาคกลาง พรรคเพื่อไทยยังขาดแม่ทัพใหญ่ และขุมกำลังหลัก ส.ส.บ้านใหญ่ ที่แยกย้ายกันไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ , พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ยังไม่คิดจะกลับบ้านมาหานายใหญ่

ศึกย้อนยุค “ทักษิณ” ฝังแค้น “เนวิน” คู่ปรปักษ์ข้ามทศวรรษ

ยกตัวอย่าง จ.พระนครศรีอยุธยา มี ส.ส. 5 คน ภูมิใจไทย ได้ “ซ้อสมทรง” สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.อยุธยา ร่วมมือ เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.อยุธยา ที่เคยสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา จัดทีมผู้สมัคร ส.ส.กรุงเก่า

สมัยหน้า ภูมิใจไทยตั้งเป้าชนะยกจังหวัด 5 ที่นั่ง โดยมี 3 ส.ส.เป็นตัวยืนคือ เกื้อกุล ด่านชัยวิจิตร ,นพ ชีวานันท์ (ย้ายมาจากเพื่อไทย) และสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล ลูกชายซ้อสมทรง

ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่คือ พิมพฤดา ตันจรารักษ์ ส.อบจ.อยุธยา เขต อ.วังน้อย ซึ่งเป็นหลานสาวซ้อสมทรง ส่วนอีกรายหนึ่ง นักการเมืองท้องถิ่น 

ศึกย้อนยุค “ทักษิณ” ฝังแค้น “เนวิน” คู่ปรปักษ์ข้ามทศวรรษ

จ.ลพบุรี ค่ายสีน้ำเงินก็หวังชนะยกจังหวัด 4 ที่นั่ง เพราะได้ มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี เขต 2 และอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี ร่วมกันจัดทัพผู้สมัคร ส.ส. 

สมัยหน้า ภูมิใจไทยตั้งเป้าในภาคกลาง น่าจะได้ ส.ส.ยกจังหวัดคือ อยุธยา,ลพบุรี, อ่างทอง, ชัยนาท, นครนายก และปราจีนบุรี

เนวิน ชิดชอบ สรุปบทเรียนจากความปราชัยปี 2554 อาศัยจุดแข็งของเสาเข็ม สู้พายุแลนด์สไลด์ โดยหวังให้ได้ใกล้เคียง 120 เสียง แต่ทักษิณก็รู้ดี จึงหวังให้เกิดแลนด์สไลด์สถานเดียว