ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และแนวทางการแก้ไขของแบงก์ชาติ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และแนวทางการแก้ไขของแบงก์ชาติ

หนึ่งในประเด็นเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องน่ากังวลอันดับต้นๆ มาสักระยะหนึ่งคงหนีไม่พ้น เรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ที่ปัจจุบันพุ่งสูงกว่า 90% ของ GDP 

หากถามว่าปัญหานี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร ทำไมถึงเป็นที่น่ากังวล นั่นเป็นเพราะหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ที่คนไทยก่อ เกินกว่าครึ่งมาจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งหากลูกหนี้ไม่สามารถปิดหนี้ตนเองได้ต่อไปเรื่อยๆ

สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ของคนไทยจะสูงขึ้น นั่นหมายความว่ารายได้ที่คนได้มาจะนำไปจ่ายหนี้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น แบงก์ชาติจึงต้องเร่งมือหามาตรการต่าง ๆ เข้ามาเพื่อทำให้หนี้ส่วนนี้ให้ลดลง ก่อนปัญหาจะลามเป็นวงกว้าง

ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2554-2555 หนี้ครัวเรือน (ตามสูตรการคำนวณแบบใหม่) อยู่ที่ระดับ 76% ของ GDP และเริ่มไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ และในช่วงนั้นมีการเติบโตของสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 86% ก่อนจะเริ่มคงที่

 

จนกระทั่งปี 2562 ที่เกิดการระบาดของ Covid-19 ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 95% ของ GDP ซึ่งแม้ว่าหลังสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มทยอยปรับลดลง แต่ปัจจุบันข้อมูล ณ ไตรมาส 1ปี 2566 สัดส่วนก็ยังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 90% เพราะก่อนหน้านี้มีมาตรการพักหนี้ในช่วง Covid-19 ระบาด เมื่อมาตรการพักหนี้จบลง จึงพบว่ายอดหนี้ที่ยังค้างอยู่ไม่ได้ลดลงเท่าไหร่นัก

ต้นตอของหนี้ครัวเรือนสะสม ไม่เพียงเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจที่โดนมรสุมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเป็นหนี้เร็ว มีการใช้จ่ายเกินตัว จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า หนี้ส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวอยู่ที่คน GenY มากที่สุด ปัจจัยอีกประการหนึ่งคืออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาระของลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น การจ่ายหนี้ในแต่ละงวดของลูกหนี้บางรายสามารถจ่ายได้เพียงขั้นต่ำของยอดหนี้คงค้าง ซึ่งอาจครอบคลุมเพียงแค่ดอกเบี้ย แต่เงินต้นไม่ได้ลดลง ทำให้ไม่สามารถปิดหนี้ได้สักที นอกจากนี้ การใช้สื่อโฆษณาของสถาบันการเงินยังเป็นตัวกระตุ้นให้คนเป็นหนี้มากขึ้นอีกด้วย

หากเทียบกับต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น หรือสหรัฐ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่ประเภทของหนี้นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน นับว่าเป็นการก่อหนี้ดี สร้างความมั่นคงให้กับลูกหนี้ได้ในอนาคต แต่ในขณะที่ประเทศไทยนั้น สินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ถือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม อาจมองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นที่การก่อหนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคมากยิ่งขึ้น แต่หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ และลุกลามเป็นปัญหาสถาบันการเงิน ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตามมา

จากปัญหาดังกล่าวทำให้แบงก์ชาติต้องเข้ามาควบคุมหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น 1. มาตรการ Responsible Lending หรือการให้กู้อย่างเป็นธรรม ทำให้ลูกหนี้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน มีวินัยทางการเงิน และไม่ก่อให้เกิดการกู้หนี้เกินตัว  2.มาตรการ Persistent Debt หรือการแก้หนี้เรื้อรัง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น 

 3.มาตรการ Risk Based Pricing หรือการคิดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ เป็นการช่วยทำให้ลูกหนี้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และมาตรการสุดท้าย ได้แก่ 4.มาตรการ Debt Service Ratio เพื่อการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ ช่วยลดการก่อหนี้เกินตัว และลูกหนี้ยังมีเงินเหลือในการดำรงชีพ ทำให้โอกาสในการเป็นหนี้เสียลดลง

จากมาตรการดังกล่าวถูกมองว่าในระยะสั้น สถาบันการเงินอย่าง Bank และ Non-Bank อาจได้รับผลกระทบบ้าง เพราะต้องทำตามมาตรการของผู้กำกับดูแล ดอกเบี้ยที่ได้รับอาจลดลง ปริมาณสินเชื่ออาจจะไม่โตเพราะข้อจำกัดในการปล่อยกู้เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นไป 

โดยเริ่มเฉพาะมาตรการ Responsible Lending ก่อนอันดับแรก การบังคับใช้มาตรการอื่น ๆ อาจไม่ได้เร่งบังคับมากนัก ทำให้เห็นว่าในระยะสั้น สถาบันการเงินอาจไม่ได้รับผลกระทบมากสักเท่าไหร่ และส่วนตัวมองว่าในระยะยาวมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เป็นการลดความเสี่ยงของระบบการเงินที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงต่อการเติบโตอยู่มาก