ยุคแห่งการกระจายศูนย์ “Decentralization” ปรับตัวทัน ได้เปรียบกว่า

ยุคแห่งการกระจายศูนย์ “Decentralization” ปรับตัวทัน ได้เปรียบกว่า

โลกยุคเก่ากระบวนทำงานขององค์กรส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการรวมศูนย์ (Centralization) โดยจะรวมอำนาจการตัดสินใจสูงสุดไว้ที่คนเดียว การจะขับเคลื่อนสิ่งใด ก็ต้องรอคอยคำสั่งจากผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน และตามมาด้วยโครงสร้างการบริหารแบบมีลำดับขั้นที่สูง (Hierarchical)

ซึ่งมีข้อเสียคือเคลื่อนตัวได้ช้า มีความซับซ้อนในการทำงาน และหากผู้มีอำนาจขาดวิสัยทัศน์และการบริหารที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้องค์กรนั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา และการแข่งขันเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

โครงสร้างองค์กรแบบแนวราบหรือ Flat Organization ได้รับการพิสูจน์ในองค์กรที่เกิดขึ้นในยุคต่อมาสักระยะแล้วว่า การมีลำดับชั้นที่น้อย นอกจากจะทำให้สามารถตัดตำแหน่งงานที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่สำคัญให้กับองค์กรได้แล้ว ยังทำให้องค์สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น เพราะแต่ละส่วนงานมีอิสระในการขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นที่เป้าหมายและผลที่จะได้เป็นสิ่งสำคัญ โดยในองค์กรจะไม่ได้มีใครที่เป็นเจ้านายที่ลูกน้องต้องรอคอยคำสั่งหรือเอาแต่ทำตามนายสั่งอย่างเดียว แต่ทุกคนจะช่วยกันระดมความคิดและแบ่งงานกันตามบทบาทความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้องค์กรตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเร่งด่วนได้อย่างดี

ความสำเร็จของเทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Decentralized Technology) อย่างเทคโนโลยี Blockchain ทำให้เกิดการ Disrupt หลายอุตสาหกรรมที่เคยต้องพึ่งพาตัวกลางและมี Pain point ที่โลกเก่าเคยแก้ไขไม่ได้ ทั้งอุตสาหกรรมการเงิน E-Commerce การแพทย์ การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ จนไปถึงการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรแบบ Decentralized Autonomous Organizations (DAO) ที่เสียงของสมาชิกแต่ละคนในองค์กรต่างได้รับการให้คุณค่าและได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเท่าเทียมกัน 100% โดยการจะขับเคลื่อนใด ๆ ต้องอาศัยฉันทามติ จากการโหวตของผู้ที่อยู่ในองค์กร ซึ่งวันนี้เทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้การบริหารองค์กรด้วยประชาธิปไตยทางตรงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

        แนวทางการบริหารองค์กรด้วยประชาธิปไตยทางตรงนั้น เป็นการโอนความรับผิดชอบจากคนกลางหรือผู้มีอำนาจไม่กี่คน มายังคนแต่ละคนเลย ซึ่งอาจมีความเสี่ยงตรงที่แต่ละคนอาจไม่ได้มีความรู้หรือมีเวลาในการศึกษาหาความรู้ในบางด้านบางประเด็นจนทำให้สิ่งที่ตัดสินใจไป เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร ดังนั้นการให้ข้อมูลและความรู้ระหว่างคนในองค์กรกันเอง และช่วยกันคัดกรองข้อมูลดังกล่าวตามความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง จึงเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารแบบนี้ และถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ  อาจต้องมีการทำ Sandbox ที่จำกัดขอบเขตของผลกระทบเชิงลบ แต่ไม่จำกัดโอกาส และค่อยขยายเมื่อพิสูจน์แล้วว่าผลในเชิงบวกมีมากกว่าและคุ้มค่า

      วันนี้ผู้ประกอบการ-คนค้าขาย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาคเอกชนของไทยมีความแข็งแรงและพร้อมขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว แต่ติดที่ “ระบบ” ภาครัฐราชการไทย ที่วันนี้มีการรวมศูนย์อย่างหนาแน่น ทำให้วิ่งตามโลกไม่ทัน ไม่สามารถเปลี่ยนบทบาทจากเจ้านาย-ผู้สั่งการประชาชน มาเป็นผู้ให้การสนับสนุนแก่ประชาชน (Facilitate & Support)

        ซึ่งควรเป็นบทบาทใหม่ของภาครัฐที่จะทำให้ประชาชนและประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้วในโลก การบริหารงานแบบรัฐราชการรวมศูนย์ไม่เพียงแต่ไม่ได้สนับสนุนด้านบวกอะไรกับประชาชนมากนัก ตรงกันข้ามระบบดังกล่าวกลับเป็นปัจจัยกดทับที่ทำให้การทำมาหากินประกอบธุรกิจยากขึ้นไปอีกในยุคนี้ และเป็นบ่อเกิดของคอรัปชั่นและความเหลื่อมล้ำที่วันนี้ไทยติดอันดับต้น ๆ  ของโลกแล้ว

ดังนั้นถ้าให้ผมเลือกโฟกัสว่าระบบใดควรเริ่ม Decentralized ก่อน แล้วจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและประเทศมากที่สุด ก็คงเป็นระบบรัฐราชการไทยเนี่ยล่ะครับ

ซึ่งสิ่งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคประชาชน เอกชน​ และข้าราชการ (ซึ่งเมื่อถามข้าราชการที่ต้องทำงานอยู่กับระบบนี้เอง ส่วนใหญ่ก็ได้คำตอบว่าอึดอัดกับระบบนี้กันหมด!) ที่มีแนวคิดเชิงพัฒนามาร่วมกันปฏิรูประบบนี้ เพื่อเปิดทางให้กับการพัฒนาประเทศ ซึ่งแนวทางเบื้องต้นคือ

1. การให้อำนาจ (Empowerment) ประชาชนในการตัดสินใจและมีทางเลือกในประเด็นต่าง ๆ  ที่มีผลกระทบกับชีวิตโดยตรง เช่น การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายรัฐ การออกกฎหมาย การใช้งบประมาณ การตรวจสอบ ฯลฯ โดยตัวแทนของประชาชนมีหน้าที่ต้องทำและบริหารงานตามแนวทางที่ประชาชนเห็นชอบ

2. ปลดปล่อยจากกฎหมาย-กฎระเบียบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ระเบียบการออกใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจหลายประเภทที่วันนี้มีปัญหา ปฏิบัติจริงไม่ได้ จนเป็นที่มาของการคอรัปชั่น ผ่านการ Decentralized ข้อมูลกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้โปร่งใส เปิดทางให้ทุกคนมีโอกาสทำมาหากินได้อย่างเท่าเทียม

3. ตั้งเป้า (KPI) ของรัฐราชการให้ถูกต้องป็นรัฐที่แต่ละหน่วยงานต่างต้องทำหน้าที่ของตนเพื่อประชาชน โดยมุ่ง KPI หลักที่วัดผลได้ สร้าง Balance และลด Conflict of Interest เช่น นำการเพิ่มรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ (GDP) และการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ มาผูกกับผลตอบแทนและการเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการทุกคน

โดยในรายละเอียดทุกฝ่ายจะต้องเริ่มกระบวนการในการทดสอบผลเชิงบวกและลบของแต่ละกรณีร่วมกันบน Sandbox ซึ่งจะทำบนโลกจริงที่จำกัดความเสียหายไว้ หรือบนโลกเสมือนก็ได้เช่นกัน!

ปีหน้าผมเชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการกระจายศูนย์ ที่ประเทศใด องค์กรใด ปรับตัวทันก่อนย่อมได้เปรียบกว่า

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าครับ