จุดเด่น จุดด้อยของผู้นำ Gen Y

จุดเด่น จุดด้อยของผู้นำ Gen Y

ประเด็นสำคัญของการทำงานกับคนต่างวัยหรือบริหารคนต่างวัยจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะ “เปิดใจ” ตัวเราและผู้ร่วมงานให้ได้ก่อน

เป็นธรรมดาที่คนต่างวัยกันจะมีค่านิยม ความเชื่อ วิธีคิด วิธีทำงานและวิถีการดำเนินชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ต่างกันตามบริบทของสังคมแต่ละช่วงเวลา ช่องว่างระหว่างวัยจึงเกิดขึ้นได้เสมอในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ส่วนช่องว่างจะห่างมากน้อยเพียงใดหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งเพียงใดขึ้นอยู่ว่าคนแต่ละวัยสามารถปรับความคิดและปรับตัวเข้าหากันได้ดีแค่ไหน ทั้งนี้ผู้ที่สูงวัยกว่ามักจะมีความคาดหวังว่าผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าน่าจะเป็นผู้ที่ปรับตัวมากกว่า

โดยเฉพาะในสังคมที่ระบบอาวุโสเป็นค่านิยมสำคัญของสังคมนั้นๆ ความเห็นส่วนตัวของดิฉันไม่เชื่อว่าคนสูงวัยปรับตัวปรับใจยากหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดิฉันคิดว่าของอย่างนี้อยู่ที่อัตตา (Ego) และจิตใจที่มุ่งมั่นมากกว่า คนทุกวัยถ้ามีอัตตาสูง มีความเชื่อมั่นสูงในทางที่ผิด และถ้าขาดความมุ่งมั่นย่อมเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ ถ้าใจเปิดกว้างยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และถ้าใจอยากจะทำเสียอย่าง อะไรก็กางกั้นหัวใจไม่ได้ ดังนั้นประเด็นสำคัญของการทำงานกับคนต่างวัยหรือบริหารคนต่างวัยจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะ “เปิดใจ” ตัวเราและผู้ร่วมงานให้ได้ก่อน เพราะถ้าใจมันเปิดแล้ว อย่างอื่นมันก็จะตามมาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม ความสมานฉันท์ และผลิตภาพ

สัปดาห์นี้เรามา “เปิดใจ” ทำความรู้จักผู้นำ Gen Y (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ลงมา) กันนะคะ ทั้งนี้เราอาจจะเป็นคนที่อยู่หรือไม่อยู่ในกลุ่ม Gen Y ก็ได้ ซึ่งถ้าเราไม่ใช่คน Gen Y  แต่เป็นผู้ที่สูงวัยกว่า เราจะได้ทำความเข้าใจว่าคน Gen Y เขามีจุดเด่น จุดด้อยในเรื่องอะไร เวลาที่เราต้องพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้เป็นผู้นำ เราจะได้จัดหลักสูตรพัฒนาพวกเขาได้เหมาะสม หรือว่าถ้าเราเป็นคนกลุ่ม Gen Y เราก็จะได้ตระหนักว่าเรามีจุดแข็ง จุดอ่อนในเรื่องอะไร เวลาเราทำงานกับคนต่างวัย เราจะได้ปรับใจปรับตัวเราให้ทำงานกับคนต่างวัยได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น

การทำงานในสังคมมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงการตัดสินว่าใครถูก ใครผิดโดยใช้หลักเหตุผลอย่างเดียว เพราะมนุษย์มีทั้งเหตุผลและอารมณ์ผสมกันไป และในหลายโอกาสมนุษย์เราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นักบริหารที่เก่งกาจจึงต้องรู้จักใช้ทั้งศาสตร์ (Science) และศิลป์ (Art) ผสมผสานกันในการบริหารคน ซึ่งจะไม่มีสูตรตายตัว ผู้นำที่มีประสบการณ์บริหารคนบริหารงานมามากจึงได้เปรียบตรงที่มี “กรณีศึกษา” มาให้วิเคราะห์สร้างสูตรบริหารหลายสูตรจนเริ่มมองออกว่ากรณีศึกษาแบบใด ควรใช้สูตรบริหารแบบใด ดังนั้นคำว่า “ประสบการณ์” จึงเป็นแต้มต่อที่ผู้บริหารที่สูงวัยกว่ามักจะได้เปรียบผู้นำวัยเอ๊าะ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ประมาทไม่ได้ ประมาทเมื่อใดผู้บริหารระดับ “ซือแป๋” ก็สามารถตกม้าตายหรือถูกถอนหงอกโดยคนหนุ่มสาวให้เห็นอยู่บ่อยๆ

จุดเด่นของผู้นำ Gen Y ที่เห็นชัดมากที่สุดคือความถนัดในการใช้เทคโนโลยีและความเร็ว คนรุ่นนี้เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสาร ดังนั้นการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ต้องใช้ความเร็วในการมองหาความคิดใหม่ การสร้างนวัตกรรมใหม่ คว้าโอกาสใหม่จึงเป็นเรื่องถนัดของคนวัยนี้ที่มีเหนือคนวัย Baby Boomers หลายคนที่ตกข่าวด้านเทคโนโลยี งานนี้ปล่อยผู้นำ Gen Y ไปลุยเป็นทัพหน้าเลย ผู้นำวัยอื่นขององค์กรไปทำเรื่องอื่นที่ถนัดน่าจะดีกว่า

มีจิตวิญญาณแบบเถ้าแก่และสร้างโปรเจ็คต์ใหม่ที่ทำเงินได้เร็ว แก้ปัญหาเก่ง จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาเอิร์นส์ แอนด์ ยัง (Ernst and Young) ที่ทำการสำรวจความเห็นพนักงานต่างวัยมืออาชีพในสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่าพันรายเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วพบว่าพนักงาน Gen Y มีความสามารถในการบริหารโครงการใหม่ที่สร้างเม็ดเงินให้องค์กรได้รวดเร็วกว่าพนักงานวัยอื่น คนกลุ่มนี้รักการทำงานที่มีอิสระ เป็นนายตัวเองสไตล์เถ้าแก่ (Entrepreneur) ถ้าองค์กรให้โอกาสและอิสระในการคิดและตัดสินใจมากพอควรแก่คน Gen Y ในการสร้างธุรกิจใหม่แตกตัวจากบริษัทแม่ มีโอกาสที่พวกเขาจะนำเม็ดเงินมาให้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ที่ใช้โซเชียล มีเดียในการสร้างแบรนด์และทำการตลาด พวกเขาจะเก่งมาก

หัวไว แต่ขี้เบื่อ อยากได้เงินไว และจากไปเร็ว คนรุ่น Baby Boomers และรุ่น Gen X มักบ่นกันหนาหูว่าพนักงานวัย Gen Y ไม่ค่อยมีน้ำอดน้ำทน ทำงานได้แค่ปีสองปีก็อยากเลื่อนขั้นไวๆ ได้เงินเดือนสูงเร็วๆ แต่ทำงานไม่นานก็ออกแล้ว ไม่มีความซื่อสัตย์ผูกพันภักดีต่อองค์กร ซึ่งตามการสำรวจแล้วก็มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นจริง ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผู้บริหารองค์กรในปัจจุบันรู้สึกเหนื่อยใจและกังวลที่จะจ้างและเลื่อนขั้นพนักงาน Gen Y ให้ไปดำรงตำแหน่งสูงๆที่สำคัญๆ เพราะเกรงว่าพวกเขาจะอยู่กับองค์กรเพียงประเดี๋ยวประด๋าว

ในแง่มุมหนึ่งดิฉันมองว่าผู้บริหารองค์กรคงต้องรู้จักปรับปรุงสร้างสูตรการบริหารคน Gen Y ให้ดึงดูดใจคนกลุ่มนี้ให้ดีขึ้น ต้องมีลูกเล่น ลูกล่อลูกชนใหม่ๆเป็นระยะๆทำให้พวกเขาเพลิดเพลินในการทำงานไปได้เรื่อยๆ และจากการสำรวจของเอิร์นส์ แอนด์ ยังและดีลอยต์  ทูช โทมัตสุ (DeloitteTouche Tomatsu) มีข้อแนะนำองค์กรต้องมีอะไรใหม่ๆให้พวกเขาตื่นเต้นสนใจอยากค้นหา และเมื่อมองในแง่ตัวของคน Gen Y เอง พวกเขาก็พึงตระหนักถึงนิสัยของตัวเองว่ามันมีความเป็นมืออาชีพมากน้อยเพียงใด เพราะถ้ารักจะเป็นมืออาชีพในวงการบริหารในระยะยาว คงต้องปรับนิสัยให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น นึกถึงส่วนรวมมากขึ้น ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวเองผลประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียวซึ่งเป็นนิสัยที่ดูไม่น่ารักเ อันนี้ว่าตามข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในภาพรวมนะคะ ใครไม่ได้เป็นแบบนี้ก็อย่าได้เดือดร้อน

เก่งโซเชียล มีเดียแต่ไม่ถนัดการสื่อสารแบบตัวต่อตัว เมื่อใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือเกือบทั้งวัน Gen Y ย่อมต้องเก่งโซเชียล มีเดียและการสร้างเครือข่ายทางออนไลน์ แต่พอมาพบเจอคนตัวเป็นๆแบบตัวต่อตัวเห็นหน้าตากันปรากฏว่ามีอาการขัดเขิน ไม่สามารถสื่อสารทางวาจาได้ดีเท่าที่ควร อาจจะเก่งในการนำเสนองานโดยเรื่องกราฟฟิคและใช้เทคโนโลยี แต่เทคนิคในการพูดโน้มน้าวใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังไม่เก่ง คน Gen Y จึงต้องการการพัฒนาทักษะในการสื่อสารระหว่างบุคคลและทักษะในการทำงานเป็นทีมเพื่อให้เขาสามารถสร้างเครือข่ายได้ทั้งแบบดิจิตัลและแบบตัวต่อตัว

ขาดประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนและขาดประสบการณ์ คน Gen Yเกิดมาในสังคมที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย มีทรัพยากรนานาชนิดให้เลือกใช้ ไม่เหมือนคนรุ่น Baby Boomers ที่เกิดมาในสังคมที่ไม่ได้พร้อมพรั่งไปเสียทุกอย่าง ดังนั้นคน Baby Boomers จึงมีสำนึกในการประหยัดมากกว่าและสามารถควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าคน Gen Y ที่มุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมและความทันสมัยของเทคโนโลยีจนอาจพร่องหรือพลาดในการดูต้นทุน ซึ่งปัญหานี้ถ้ารู้เสียก่อนก็แก้ไม่ยากด้วยการฝึกอบรมเรื่องการบริหารต้นทุน ส่วนในเรื่องประสบการณ์ที่ขาดหาย ก็แก้ได้ด้วยการให้ผู้นำที่สูงวัยกว่าเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ให้ ซึ่งคน Gen Y ชอบและต้องการอยู่แล้ว

มาถึงบรรทัดนี้คงสรุปได้ว่าผู้นำทุกวัยล้วนมีจุดเด่น จุดด้อย ซึ่งถ้าลดอัตตาและเปิดใจเข้าหากันก็จะสามารถเรียนรู้จากกันและกัน ช่วยกันผสานส่งเสริมจุดเด่นและลบจุดด้อยของกันและกันได้