Inverted Yield Curve คำวิเศษตลาดการเงิน (2/2)

Inverted Yield Curve คำวิเศษตลาดการเงิน (2/2)

ในเดือนก่อน เราได้ทำความรู้จักกับเหตุการณ์ไม่ปกติของตลาดการเงินที่มีชื่อว่า Inverted Yield Curve (IYC) ไปแล้ว

และมาถึงวันนี้ IYC ก็ยังคงเป็นความกังวลในตลาด ผมจึงมองว่ายังทันที่เราจะมาทำความเข้าใจผลกระทบ ทั้งในมุมเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และความผิดปรกติของตลาดนี้กำลังส่งสัญญาณอะไรกับสินทรัพย์ในตลาดเงิน

 เริ่มต้นที่มุมมองเศรษฐกิจ ฟันธงไปเลยว่า IYC ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจทดถอยใกล้ตัวอย่างที่หลายคนกังวล

 เมื่อกลับไปดูข้อมูลในอดีตมีสองครั้งที่ IYC นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 6-8 เดือนข้างหน้า (เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์) คือปี 1973 และปี 2000 แต่ในทั้งสองครั้งดังกล่าว ปัญหาของเศรษฐกิจคือ “เงินเฟ้อ” ทำให้เกิด Bear Flattening IYC ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องเข้มงวดกับดอกเบี้ยและมาตรฐานการปล่อยกู้เพื่อหยุดการเก็งกำไร

แตกต่างจากครั้งนี้ ที่เงินเฟ้อต่ำเตี้ย จนธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเมื่อเราเลือกวิเคราะห์เฉพาะกรณีที่ไม่มีเงินเฟ้อเข้ามากดดัน ก็จะพบว่า IYC แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะถดถอย โดยในอดีตต้องรอนานถึงกว่า 20 เดือนโดยเฉลี่ยถึงจะพบกับเศรษฐกิจสหรัฐที่หดตัวลง

ส่วนของตลาดการเงิน IYC ครั้งนี้เป็นสัญญาณว่ามุมมองของธนาคารกลางและนักลงทุนทั่วโลกต่างกัน

เพราะครั้งนี้เกิดจากแรงซื้อของนักลงทุนด้วยสาเหตุหลักสองประการ คือ “ความหวัง” ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย และ “ต้นทุน” ที่ไม่เท่ากันของนักลงทุนทั่วโลก

ความหวังเผยตัวเด่นชัดตั้งแต่ต้นปี

 ตลาดทุนทั่วโลกกลับเป็นขาขึ้น ดัชนีหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น

 ในภาวะเช่นนี้ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องรีบหนีจากหุ้นมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2.4% แน่นอน แปลความหมายได้ว่า นักลงทุนสหรัฐที่ซื้อบอนด์ตรงจุดนี้ ไม่ได้คิดว่ายีลด์ที่ได้รับสูงเพียงพอ แต่หวังว่าเฟดจะต้องลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้

 นอกจากนี้ การมองว่ายีลด์ต่ำกว่าต้นทุนก็ดูจะไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด

 เพราะปัจจุบัน เฟดไม่ใช่ธนาคารกลางใหญ่ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และดอกเบี้ยที่ดูจะต่ำเตี้ยเมื่อมองในฝั่งสหรัฐ ก็กลับสูงเมื่อมองจากที่อื่นทั่วโลก

 ประเทศที่เห็นได้ชัดคือฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น บอนด์ยีลด์ระยะยาวในประเทศเหล่านี้ให้ผลตอบแทนใกล้ระดับ 0.0% ขณะที่มองในมุมนักลงทุนกลุ่มประเทศเหล่านี้ การลงทุนในบอนด์สหรัฐแม้จะปรับด้วย Cross Currency Swap ยีลด์ก็ยังสูงกว่าในประเทศราว 0.3%

 แม้ทั้งสองเหตุผล อาจไม่ได้ถูกต้องเสมอ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าตลาด มีหลักการและมุมมองที่ไม่ได้อ้างอิงจากความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจ หรือสามารถสรุปได้ว่า IYC ครั้งนี้ แค่ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยในสหรัฐ “สูงเกินไป” เท่านั้นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น อดีตยังบอกเราอีกว่าถ้า IYC ไม่นำไปสู่เศรษฐกิจที่ถดถอย สิ่งนี้คือสัญญาณบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่าลบ

 เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติ IYC ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาในเดือนที่ยีลด์สหรัฐ 10 ปีต่ำกว่า 2 ปี ดัชนี MSCI World และ MSCI Emerging Market จะปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ย 0.9 และ 1.2% ตามลำดับ

เหตุผลหลัก น่าจะมาจากเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงท้ายของการขยายตัวซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ถ้าไม่เจอผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจหรือวิกฤติเศรษฐกิจกระทันหัน ตลาดทุนก็จะสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อ

คำถามสุดท้าย คือ IYC จะผลักดันให้ตลาดพัฒนาไปในทิศทางไหน ซึ่งผมเชื่อว่าเฟดกำลังถูกกดดันจากสิ่งนี้

แม้ IYC จะไม่ได้แปลว่าสหรัฐกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอย แต่ผู้คนทั่วไปก็คงไม่เลิกกลัวเมื่อเห็นความผิดปรกติในตลาดการเงิน

ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการวัดใจเฟด ว่าจะกล้า “ขึ้นดอกเบี้ย” ซึ่งแน่นอนว่าความกังวลและความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยก็จะเพิ่มขึ้น หรือจะต้อง “ลดดอกเบี้ย” เพื่อหยุด IYC ให้ผู้ประกอบการสหรัฐคลายความกังวลลงก่อน

และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟดถูกตลาดกดดันหนัก ในอดีต 7 ครั้งหลังสุดของ IYC มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อไปได้ ขณะที่เมื่อเกิด IYC ขึ้นแล้ว “ทุกครั้ง” มักจบด้วยความ “พ่ายแพ้” ของเฟดจนต้อง “ลดดอกเบี้ย” ภายในระยะเวลา 9 เดือนต่อมาโดยเฉลี่ย

ในมุมมองของผม บริบทของนโยบายการเงินโลกในปัจจุบันคือสิ่งที่เฟดจะต้องระวังมากกว่าเศรษฐกิจทดถอย

กระแสการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลก อาจส่งผลกดดันให้เกิด IYC ในสหรัฐนานเกินไป จนผู้ประกอบการสหรัฐขาดความเชื่อมั่น และถ้าไม่จัดการให้ดีสิ่งนี้อาจสร้างความกังวล จนทำให้เศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นจริงก็เป็นได้

ซึ่งถ้าขนาดผมยังเห็น เฟดเองก็ไม่น่าจะมองข้าม และการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง อาจเป็นคำตอบในอนาคตอันใกล้แม้ว่าสุดท้าย IYC จะนำพาตลาดการเงินไปในทิศทางไหน ผมเชื่อการที่เราเข้าใจและรู้ทัน” IYC คือคำตอบสำหรับนักลงทุนทุกคน และจงท่องให้ขึ้นใจว่า ความกังวลกับตลาดที่ผิดเพี้ยนไม่ใช่สิ่งผิด แต่กังวลอย่างเดียวไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น การเรียนรู้และเตรียมรับมือ คือคำวิเศษในตลาดการเงินที่แท้จริง