สถิติบอกว่า ... Sell in May and Go Away

สถิติบอกว่า ... Sell in May and Go Away

ประโยคนื้ เป็นประโยคเด็ดที่เราจะได้ยินในช่วงที่เข้าสู่เดือนพ.ค. ของทุกปี

ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ให้ขายในเดือนพ.ค. แล้วออกจากตลาดไปซะ หรือ ก็คือ ให้กอดเงินสด หรือไปถือสินทรัพย์เสี่ยงต่ำนั่นเอง

ก่อนจะไปดูสถิติในอดีตว่าจริงหรือไม่ เราไปดูกันก่อนว่า ที่มาของประโยคเด็ดประโยคนี้ มาจากอะไร

วลี " Sell in May and Go Away" เป็นความคิดที่มาจากภาษาอังกฤษเก่าพูดว่า " Sell in May and go away, and come on back on St. Leger's Day." วลีนี้หมายถึงประเพณีของขุนนางพ่อค้าและนายธนาคารที่จะออกจากเมืองลอนดอนและหลบฤดูร้อนออกไปใช้ชีวิตในที่อื่น และกลับมาค้าขายอีกรอบตอนวัน St. Leger's Day ซึ่งเป็นช่วงที่มีเทศกาลแข่งม้าพันธุ์ดีที่จัดขึ้นในกลางเดือนก.ย. ของทุกปี

ทั้งนี้ วลีนี้ ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องเมื่อทุนนิยมขยายอาณาเขตมายังสหรัฐฯ โดยพ่อค้าชาวอเมริกันและนักลงทุนในอดีต มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาผ่อนคลายและมีความสุขกับครอบครัวเพิ่มขึ้นช่วงวันหยุดระหว่าง Memorial Day (ช่วงปลายเดือนพ.ค.ของทุกปี) และ Labor Day (ต้นเดือนก.ย. ของทุกปี) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับ Seasonality ที่เกิดขึ้นในฝั่งเกาะอังกฤษ มายาวนาน

แล้วผลต่อตลาดหุ้น มันเป็นอย่างไร?

ถ้าย้อนสถิติกลับไปตั้งแต่ปี 1950 ถึงปี 2013 ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ Dow Jones Industrial Average มีผลตอบแทนในช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. ลดลง หรือ ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าช่วงตั้งแต่เดือนก.ย.ถึงเดือนเม.ย. ในปีถัดไป อย่างมีนัยยะสำคัญ

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า Sell In May and Go Away พอจะมีมูลความจริงในเชิงสถิติแฝงอยู่ประมาณหนึ่ง

แต่หากดูเฉพาะสถิตินับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน กลับพบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญของผลตอบแทนระหว่างช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. และ เดือนก.ย.-เม.ย. ซึ่งก็ตีความได้ว่า เหตุการณ์นี้ เริ่มไม่ได้มีผลกับตลาดหุ้นเหมือนกับในอดีตแล้ว

ทำไมในอดีต ช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. ถึงมีผลตอบแทนลดลง?

ถ้าจะอธิบายด้วยเหตุผลด้านอื่นๆ ที่ชัดก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลง สภาพคล่องลดลง เพราะเป็นช่วงที่นักลงทุนได้ทราบผลประกอบการไตรมาส 1 ซึ่งจะบอกทิศทางของบริษัทในช่วงที่เหลืออีก 3 ไตรมาสพอได้แล้ว และเป็นช่วงหลังจากที่บริษัทมีการจ่ายปันผลประจำปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยสรุปก็คือ ข่าวดีที่ตลาดรออยู่ ถูกปลดปล่อยออกมาแล้ว จึงเกิดเหตุการณ์ “Sell on Fact” ซึ่งเป็นการทำกำไรระหว่างทางและทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวย่อตามลงมา

ตั้งแต่ปี 2014 ที่ผ่านมา ทำไมเหตุการณ์ Sell in May หายไป

หากมองดัชนี Dow Jones Industrial Average นับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปีที่แล้ว หากดูเฉพาะเดือนพ.ค. พบว่า ตลาดยังคงวิ่งเดือนหน้าต่อเนื่อง และมีแค่ปี 2015 ปีเดียวที่ช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. ให้ผลตอบแทนติดลบ ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของรูปแบบธุรกิจในภาพรวม เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพล ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานบริษัท มีรูปแบบของความเป็นฤดูกาลน้อยลง อีกเหตุผลหนึ่ง คือ การเข้ามาของ algorithm trading หรือ การซื้อขายหุ้นโดยใช้หุ่นยนต์ ทำให้ไม่จำเป็นอีกต่อไปที่นักลงทุนจะต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอ เพื่อซื้อขายให้มีปริมาณสภาพคล่องมากเช่นเดียวกับในอดีต

SET Index ของไทย มีเหตุการณ์ Sell in May หรือไม่?

ย้อนกลับมาดูตลาดหุ้นไทย พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา มี 2 ปีที่ตลาดหุ้นไทยผลตอบแทนติดลบในช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. ซึ่งก็แปลว่า จริงๆแล้ว Sell in May ไม่ได้เกิดกับตลาดหุ้นไทย ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ ณ ช่วงเวลานั้นๆ

โดยสรุปคือ ปัจจัยตามฤดูกาล อย่างวลี Sell in May หรือ Santa Clause Rally , January Effect ในปัจจุบัน เริ่มไม่ได้มีอิทธิพลกับโลกการลงทุนเหมือนในอดีตแล้ว และถ้าดูจากเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะพฤติกรรมตลาดที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เข้ามา ก็บีบให้นักลงทุนต้องมองการลงทุนในมุมใหม่ๆ และปรับตัวเช่นเดียวกัน