คารพความเป็นส่วนตัวกันบ้างเถอะ

คารพความเป็นส่วนตัวกันบ้างเถอะ

ความเป็นส่วนตัวดูเหมือนจะจางหายไปกับความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ต เราจะทำอะไรที่ไหนดูเหมือนมีคนอยากรู้อยากเห็นไปหมด ถ้าเจอกันจริงๆ

ไม่ใช่เจอะเจอกันในออนไลน์ ใครจะถามอะไรจากใครก็ต้องรักษามารยาทกันอยู่บ้าง แต่คำถามที่เป็นส่วนตัวหลายคำถามที่ไม่ถามกันต่อหน้าต่อตา ถูกถามให้พบเห็นกันเป็นประจำในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างไม่เกรงอกเกรงใจ

คนใหญ่คนโตในบางบ้านเมืองก็ไปสนใจเรื่องเล็กเรื่องน้อยว่าใครมานินทาว่ากล่าวตนเองกันในกลุ่มเครือข่ายสังคมกันบ้างหรือไม่ เขาอุตส่าห์แอบนินทาในที่ลึกลับตามกิเลสของปุถุชน ยังไปหาเครื่องมือไฮเทคราคาแสนแพงมาไล่จับ ว่านี่ไงที่แกมานินทาฉัน ซึ่งอาการไม่เคารพความเป็นส่วนตัวนี้เกิดขึ้นทั่วไป ทำให้ฝรั่งที่คิดสารพัดเทคโนโลยีเหล่านี้คิดได้ว่าคนเรายังต้องการความเป็นส่วนตัวกันอยู่ เลยออกกฎกติกาคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลไว้ 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก จะถามข้อมูลอะไรจากใคร ให้ถามความสมัครใจของเขาเสียก่อน ซึ่งที่จริงก็เป็นมารยาททั่วไปที่ใช้กันอยู่เวลาที่เจอหน้าเจอตากันจริงๆ อยากถามอะไรที่ดูเป็นส่วนตัวมากๆ ก็มักลองเชิงหว่านล้อมกันก่อน ดูว่าพอไหวไหม ก่อนที่จะยิงคำถามส่วนตัวนั้นออกไป ดังนั้นหากใช้มารยาทเดียวกันในการติดต่อกันในเครือข่ายสังคมบนอินเทอร์เน็ต ก็ต้องสอบถามความสมัครใจกันก่อน ต้องบอกกันชัดๆ ว่า รู้แล้วฉันจะเอาไปทำอะไรต่อไป ถ้าไปพบเห็นข้อมูลส่วนตัวของใครจากอินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลนั้นต่อไปก็ต้องทำตามมารยาทคือถามเจ้าของข้อมูลนั้นเสียก่อนที่จะเผยแพร่ต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หมายความว่าถ้าเราติดต่อกับคนนั้นไม่ได้ เราต้องมีมารยาทพอที่จะไม่เผยแพร่ ไม่ใช้ประโยชน์ใดๆ จากข้อมูลส่วนตัวของเขาที่บังเอิญได้มาจากอินเทอร์เน็ต

และแม้ว่าเราจะถามไถ่คนนั้นแล้วว่าขอถามขอใช้ข้อมูลส่วนตัวสักหน่อย แล้วเขาอนุญาตและให้ข้อมูลกับเรา ไม่ได้แปลว่าเราถามเราใช้ข้อมูลส่วนตัวของเขาได้ตลอดกาล ใช้ได้ครั้งเดียวคือครั้งนั้น ถ้าจะเอาไปใช้เอาไปเผยแพร่ในครั้งหน้า ก็ต้องถามเขาอีกครั้งว่าเขายังสบายใจที่จะให้เราถาม เราใช้ เราเผยแพร่เรื่องส่วนตัวของเขาต่อไปอีกหรือไม่ ใครก็ตามที่อยากรู้เรื่องส่วนตัวคนอื่นไปหมด จนยอมจ่ายเงินเยอะแยะไปหาเครื่องมือมาดักจับสารพัดข้อมูลส่วนตัวของผู้คน ควรมีมารยาทเพียงพอที่จะบอกว่าฉันจะเที่ยวไปดักจับข้อมูลส่วนตัวของใครที่มีพฤติกรรมอย่างไร อย่าอ้างแต่ว่าฉันมีอำนาจ ฉันมีเครื่องมือจะทำได้เท่านั้น

ประการที่ 2 เมื่อได้รับอนุญาตให้ถาม ให้ใช้ ให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นแล้ว จะต้องใช้ข้อมูลนั้นอย่างถูกต้องและครบถ้วน ต้องมีมารยาทที่จะไม่ไปดัดแปลง เติมสีสันให้กับข้อมูลนั้น ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีแค่ไหนก็ตาม เขาบอกว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องบอกต่อแค่นั้น อย่าไปมโนต่อว่าถ้าเขาเป็นอย่างนั้น เขาต้องเก่งเรื่องนั้น เขาต้องชอบเรื่องนี้ ถ้าเป็นการพูดคุยสนทนากันต่อหน้าต่อหน้าแล้วมีการเติมสีสันเข้าไปกับเรื่องส่วนตัวของคนที่คุยกันอยู่ เพื่อให้ดูว่าเรารู้เรื่องดี รู้มากนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะคุยกันรู้เรื่องต่อไปได้อีกนานแค่ไหน

การเติมแต่งสีสันกับข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นอาจผิดพลาดได้ เพราะเราไม่ใช่ตัวเขา ดังนั้นที่เติมเข้าไปนั้น เราว่าดี แต่เขาอาจจะบอกว่าแย่ก็ได้ นอกจากนั้นยังต้องระวังด้วยว่าข้อมูลนั้นต้องทันสมัย เมื่อ 10 ปีก่อนเขาอาจเป็นอย่างหนึ่ง แต่วันนี้เขาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะใช้ประโยชน์ข้อมูลส่วนตัวของเขาก็ต้องบอกทั้งแต่ก่อน และวันนี้ อย่าเลือกใช้ เลือกเผยแพร่เฉพาะเรื่องราวในวันใดวันหนึ่งของชีวิตของเขาตามความชอบใจของเรา เมื่อใดก็ตามที่เราเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของใครไปแล้ว ถ้าเขามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นมารยาทที่ดีที่จะอัพเดทให้ทันสมัยตามไปด้วยเสมอ

จำไว้เสมอว่า ใช้ข้อมูลคนอื่นเพื่อประโยชน์แห่งตนแล้ว ต้องรับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลนั้นไปโดยตลอด