รู้จัก Aramco แห่งซาอุดิอาระเบีย

รู้จัก Aramco แห่งซาอุดิอาระเบีย

สัปดาห์ที่แล้ว Aramco ได้ออก IPO หุ้นกู้ใหม่มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ปรากฎว่าตลาดมีความต้องการหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ 1 แสนล้านดอลลาร์

คำถามคือเหตุใด Aramco จึงดูน่าสนใจขนาดนั้น จึงขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ Aramco แห่งซาอุดิอาระเบีย

Aramco เป็นบริษัทที่ทำกำไรมากที่สุดในบรรดาบริษัทน้ำมันในโลก โดยทำกำไรมากสุด 111 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2018 และมีแผนที่จะ IPO เข้าตลาดหุ้น คาดว่าจะเป็นสหรัฐและฮ่องกงในปี 2021

แต่เดิมตั้งแต่ปี 1930 Aramco เป็นบริษัทของอเมริกัน ที่รับงานด้านวิศวกรรมและโครงการต่างๆให้กับรัฐบาลซาอุฯ โดยที่ไม่ได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน ทว่าได้สิทธิ์ในหลุมน้ำมันดิบบางส่วน โดยการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ ทำต่อเนื่องกันมาจนถึงกลางทศวรรษ 1980 ที่ Aramco กลายมาเป็นบริษัทสัญชาติซาอุฯเต็มรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ จะแลกในส่วนเครดิตด้านภาษีเป็นการตอบแทนต่อ Aramco แม้กระทั่ง จนถึงทุกวันนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายระหว่าง Aramco และรัฐบาลซาอุฯในหลายๆส่วน ก็ไม่ได้มีการบันทึกในงบการเงินของ Aramco แม้จะมีธุรกรรมระหว่างกัน นอกจากนี้ Aramco ยังทำหน้าที่บริหารศูนย์วิจัย และมหาวิทยาลัยให้กับรัฐบาล

รู้จัก Aramco แห่งซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ดี หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า Aramco ของซาอุฯ มีกำไรจากน้ำมันดิบต่อบาร์เรลสูงกว่าคู่แข่งในความเป็นจริงแล้ว Shell และ Total ทำกำไรต่อหนึ่งหน่วยน้ำมันดิบมากกว่า เนื่องจากค่าธรรมเนียมและภาษีที่รัฐบาลซาอุฯเก็บจาก Aramco มากกว่าคู่แข่ง ดังรูปที่ 1 แม้ว่า Aramco จะเป็นบริษัทน้ำมัน ที่ทำกำไรสูงสุดก็ตาม

รู้จัก Aramco แห่งซาอุดิอาระเบีย

คราวนี้ มาทำความรู้จักกับแหล่งน้ำมันตามธรรมชาติที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก ของซาอุฯกันบ้าง หลุมน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า Ghawar ที่ถือเป็นแหล่งหลักของซาอุฯ นับตั้งแต่ที่นำขึ้นมาใช้เป็นกำลังการผลิตจริงในปี 1951 โดย ณ ปี 2003 มีการประมาณการว่าสามารถผลิตได้ถึงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตรวมของซาอุฯ หรือ 7%  ของกำลังการผลิตของทั้งโลก

แม้ว่าทางซาอุฯจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังให้ข้อมูลว่า Aramco สามารถผลิตได้ถึง 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี แหล่ง Ghawar ดูเหมือนว่าจะมีกำลังการผลิตลดลงเหลือ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยรายงานไว้ว่าผลิตได้ 5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2004 ทว่าแหล่งน้ำมันดิบหลุมอื่นๆได้เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น โดยหลุมน้ำมัน Shaybah ทางใต้ของซาอุฯใกลักับชายแดนของ ประเทศ UAE และ หลุมน้ำมัน Safaniyah ในอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนี้ หลุมน้ำมัน Khurais ซึ่งใกล้กับแหล่ง Ghawar ที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศ มีการสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มทำการผลิตในปี 2009 ด้วยกำลังการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

โดยล่าสุด Aramco ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับอุปสงค์ของน้ำมันดิบ ว่าจะมีปริมาณสูงสุดในปี 2030 ทว่าการบริโภคจะเติบโตเฉลี่ย 0.5% ต่อปี ลดลงเป็นอย่างมากจาก 0.9% ระหว่างปี 2000-2017 โดยการขึ้นมาของยานยนต์ไฟฟ้าจะมาลดอัตราการเติบโตอุปสงค์ของน้ำมันแต่ไม่ได้หยุด การเติบโต

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นมาของกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุม CO2 ที่ปล่อยออกมาจากเชื้อเพลิงอย่างน้ำมัน จะนำมาซึ่งการลดการใช้น้ำมัน ทว่า Aramco จะได้รับผลกระทบค่อนข้างช้ากว่าคู่แข่ง เนื่องจากมีรายงานว่า Aramco ปล่อยของเสียสู่อากาศน้อยกว่าบริษัทน้ำมันแห่งอื่น โดยซาอุฯ ปล่อยของเสียจากเชื้อเพลิงน้อยกว่าเวเนซุเอล่าถึง 3 เท่าตัว

ทั้งนี้ มีเกร็ดที่น่าสนใจต่างๆเกี่ยวกับ Aramco ดังนี้

ความสำเร็จของ Aramco เป็นผลงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกษัตริย์ของซาอุฯ ด้วยการตัดสินใจของ Aramco ที่จะเปลี่ยนโฟกัสออกจากผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบ น่าจะส่งผลให้รัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบของนโยบายการคลัง นั่นคือรัฐบาลซาอุฯ จะตัดสินใจนำเอาเงินทุนออกจากบริษัท ณ เวลาใดก็ได้ โดยระบบการปกครองของซาอุฯ ทั้งกษัตริย์และรัฐบาลอยู่เหนือกฎหมาย

แม้ว่า Aramco จะมีสิทธิ์ต่อการขุดเจาะหลุมน้ำมันต่างๆ ผ่านการทำสัญญากับรัฐบาล ทว่ารัฐบาลยังมีสิทธิ์เหนือ Aramco ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามในอนาคต

Aramco เป็นกลไกหลักที่ทำให้ซาอุฯ ยังเดินต่อไปได้ โดยเซกเตอร์น้ำมัน คิดเป็น 63% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาลในปี 2017 สิ่งนี้ ทำให้รัฐบาลซาอุฯ ต้องการให้ Aramco มีความเข้มแข็ง

แม้ Aramco จะสามารถทำกำไรได้มากที่สุดในบรรดาบริษัทน้ำมันทั่วโลก ทว่าก็ต้องจ่ายเงินให้กับรัฐบาลเยอะเช่นกัน ในปี 2018 Aramco ต้องจ่ายถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ให้รัฐบาลซาอุฯในรูปแบบของภาษีเงินได้ นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายค่า royalty ให้กับรัฐบาลสำหรับน้ำมันทุกบาร์เรลที่ขายได้ ซึ่งในปัจจุบันต้องนำมาเข้ามาบันทึกในบัญชีด้วย รวมถึงจ่ายเงินปันผลมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในรูปแบบของเงินปันผลที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีที่จ่ายได้

ทั้งนี้ Aramco ขายน้ำมันให้กับตลาดในประเทศด้วยราคาที่ถูกมากตามนโยบายของรัฐบาล โดยเมื่อก่อน ไม่สามารถมาชดเชยค่าเสียโอกาสดังกล่าวจากรัฐบาล แต่เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว Aramco สามารถรับเงินค่าชดเชยจากรัฐบาลมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ราว 11% ของรายได้รวม

ท้ายสุด Aramco เป็นผู้ขายวัตถุดิบให้กับ SABIC บริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของซาอุฯ ด้วยราคาที่รัฐบาลกำหนด ซึ่ง Aramco กำลังจะเข้าซื้อกิจการของบริษัท SABIC ในสัดส่วน 70% จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งประเทศซาอุฯในขณะนี้ ซึ่งไม่ปรากฎชัดเจนว่ามีการจ่ายค่าเสียโอกาสด้านราคาของวัตถุดิบข้างต้นต่อ Aramco โดยรัฐบาลซาอุฯหรือไม่

โดยสรุป Aramco เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่น่าจับตามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่จะคาดว่าเข้าเทรดครั้งแรก หรือ IPO ในตลาดหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่ที่สุดในโลกในปีหน้า นั่นก็หมายความว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงนั้นจะเป็นขาขึ้นเช่นกัน