เตรียมตัวก่อนวาระสุดท้าย เลือกอยู่หรือไปต้องได้อย่างหวัง

เตรียมตัวก่อนวาระสุดท้าย เลือกอยู่หรือไปต้องได้อย่างหวัง

หนึ่งในเรื่องที่หลายคนเลี่ยงไม่อยากพูดถึง คือ “ความตาย” แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็เลี่ยงเผชิญความตายไม่ได้ทั้งนั้น

“ช่วงวาระสุดท้ายก่อนตาย” ที่ต้องอาศัย “การดูแลแบบประคับประคอง” เป็นช่วงสำคัญที่ผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ ต้องตัดสินใจร่วมกันว่าจะยื้อหรือยุติการรักษา ซึ่งส่งผลต่อเวลาและทุนทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นตามมา การหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยและเตรียมการไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากการวางแผนชีวิตในช่วงอื่น

จากผลสำรวจเรื่องการรับรู้และทัศนคติของประชาชนต่อการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย ของทีดีอาร์ไอ พบว่า คนส่วนใหญ่ไม่เคยนึกถึงและหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความตาย แต่จะเริ่มนึกถึงความตายเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพ สาเหตุที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการพูดถึงความตาย เพราะทัศนคติความเชื่อ และพฤติกรรมของคนในสังคมไทย มองว่าการพูดถึงการตายเป็นเรื่องไม่มงคลต่อชีวิตและครอบครัว

เมื่อคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นึกถึงเรื่องนี้ การรับรู้เรื่องการดูแบบประคับประคองที่เป็นบริการการดูแลระยะท้ายซึ่งมีมานานแล้วก็ได้รับการรับรู้น้อยตามไปด้วย ทั้งที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย บริการดูแลแบบประคับประคองนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต

ผลสำรวจโดยทีดีอาร์ไอพบว่า คนไทยกว่า 75% ไม่เคยรู้ว่ามีบริการดังกล่าว คนที่รู้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีปัญหาสุขภาพ หรือมีประสบการณ์จากการดูแลคนในครอบครัว และ 79% ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลล่วงหน้าก่อนตาย หรือ การทำพินัยกรรมชีวิต (Living will) มาก่อน จึงไม่ได้เตรียมการสำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิต

คนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้จักบริการดังกล่าว คาดหวังว่าบริการนี้เป็นบริการหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่โรงพยาบาลรัฐจัดให้ภายใต้การรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นการคาดหวังจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เท่ากับว่าในระดับบุคคลและครอบครัวยังคงขาดการเตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้

ผู้ที่อยู่ภาวะช่วงสุดท้ายของชีวิต และไม่ได้เตรียมการสำหรับเรื่องนี้หลายรายต้องเผชิญกับความยากลำบาก และข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตอื่นๆ เช่น กรณี ลีออน เลเดอร์แมน นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจากการรักษาพยาบาล ทำให้ต้องประมูลขายรางวัลโนเบล มูลค่าราว 25 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตนเอง เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะสิ้นเนื้อประดาตัวสาเหตุจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (Catastrophic health expenditure) เมื่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และขาดการเตรียมการที่ดี

อีกกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น สำหรับคนไทยผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อVis Arshanakh ผู้เผชิญกับอาการป่วยจากเนื้องอกในสมองมากว่า 10 ปี ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองโดยเดินทางไปรับการการุณยฆาตที่สวิสเซอร์แลนด์ หรือการฆ่าตัวตายอย่างสงบโดยมีแพทย์ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมากเช่นเดียวกัน

ทุกคนที่ต้องเผชิญกับระยะท้ายของชีวิตจึงต้องเตรียมการทั้งด้านการเงิน และความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวไว้ล่วงหน้า อีกทั้งต้องตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิเลือกตายโดยการการุณยฆาตหรือไม่ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายที่มี

สวิสเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีกฎหมายรับรองการทำการุณยฆาต แบบ Active Euthanasia หรือการช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ในขณะที่ประเทศไทย การทำการุณยฆาตเป็นแบบ Passive Euthanasia คือการปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ โดยแพทย์ยกเลิกหรือไม่สั่งการรักษาที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วย ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ซึ่งระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ หรือเป็นที่รู้จักกันคือ สิทธิการตายธรรมชาติ หรือ ตายดี”  

แม้กฎหมายไทยได้รับรองและให้สิทธิประชาชนในการเลือกตายอย่างธรรมชาติแบบ Passive Euthanasia แต่ก็ยังมีความเห็นแย้งถึงสิทธิการตายธรรมชาติและการปฎิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิต เพราะการตัดสินใจเลือกแนวทางการในดูแลผู้ป่วย ไม่ได้มากจากตัวผู้ป่วยคนเดียว แต่มาจากทั้งญาติ และแพทย์ การทำความเข้าใจและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับทางเลือกที่มีจึงมีความสำคัญ

ที่ผ่านมามีข้อพิพาททางการแพทย์เกิดขึ้นไม่น้อย เมื่อผลการรักษาไม่เป็นไปตามความคาดหวังของญาติ หรือกรณีผู้ป่วยเสียชิวิต ส่งผลให้แพทย์ต้องประสบกับปัญหาหรือถูกดำเนินคดี ดังนั้น หากต้องการให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเรื่อง “สิทธิเลือกที่จะตาย” ได้อย่างหวัง การกำหนดกฎหมายและแนวทางในการคุ้มครองแพทย์ จะสามารถช่วยให้แนวทางในการดูแลและรักษาสิทธิของผู้ป่วยเกิดความเหมาะสม และเป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

การเตรียมการที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและเสียชีวิตไปอย่างที่คาดหวัง ที่สำคัญที่สุดคือ การลดความทุกข์จากการทรมานจากการเจ็บป่วย ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถบริหารจัดการทางการเงิน ลดความเสี่ยงของการสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายในการการรักษาพยาบาลในช่วงระยะท้ายของชีวิตมีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ ตัวอย่างกรณีคนไข้โรคมะเร็งของสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่ารักษาพยาบาลในเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตประมาณ 45,000 บาท หากรับการดูแลในโรงพยาบาล และ 27,000 บาท หากรับการดูแลที่บ้าน จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลที่บ้านจะต่ำกว่า อีกทั้งการรับบริการที่บ้านยังช่วยลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจว่าหากเลือกได้ผู้สูงอายุมักเลือกบ้านเป็นสถานที่สุดท้ายของชีวิต

ดังนั้น แม้เราปฏิเสธความตายไม่ได้ แต่การเตรียมการที่ดีจะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การปรับทัศนคติและตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการก่อนตายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ก็ควรทำความเข้าใจและเตรียมไว้ล่วงหน้า

โดย... วรรณภา คุณากรวงศ์