แพลตฟอร์มอนาคตเพื่อมอบโอกาสรายบุคคล***

แพลตฟอร์มอนาคตเพื่อมอบโอกาสรายบุคคล***

ประเด็นที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจสูง คือ เรื่องคนจนและผู้ด้อยโอกาส ดังสะท้อนผ่านนโยบายการช่วยเหลือคนจนคนด้อยโอกาสหลากหลายกลุ่ม

ที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการภาครัฐได้ ซึ่งอาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุ อาทิ การไม่ทราบข้อมูล ขาดความรู้ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีค่าเดินทาง ในขณะที่ในเชิงระบบแล้ว ระบบฐานข้อมูลยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงบูรณาการอย่างสมบูรณ์จนกระทั่งสามารถระบุได้ถึงตัวบุคคลผู้ด้อยโอกาส รวมถึงไม่ทราบความต้องการที่แท้จริงของบุคคลเหล่านั้น ในอดีตที่ผ่านมาจึงมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือและจัดสวัสดิการพื้นฐานแบบเหมารวม แต่ผู้ด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อยก็ยังตกหล่นจากการสำรวจและยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานที่รัฐจัดให้ได้

การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเป็นวาระหนึ่งที่มีความสำคัญ และได้ถูกหยิบยกเข้ามาในโครงการห้องปฏิบัติการภาครัฐ (Government Innovation Lab) ปี 2562 ซึ่งโครงการนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 โดยเน้นนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยนวัตกรรมทุกภาคส่วน รวมถึงนวัตกรรมภาครัฐ ในปีนี้ สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ร่วมกับ 9 หน่วยงานชั้นนำและทีมนวัตกรรุ่นใหม่ (Innovation Team) กว่า 70 คนมาร่วมกันมองอนาคต และออกแบบนวัตกรรมบริการภาครัฐใหม่ ประกอบด้วยวาระที่สำคัญ 5 วาระคือ การท่องเที่ยว การศึกษา เอสเอ็มอี แรงงานข้ามชาติ  และผู้ด้อยโอกาส

สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้จัดกิจกรรมให้ Innovation Team กว่า 70 คนร่วมระดมความคิดเห็นโดยใช้ “กระบวนการสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Foresight) มาช่วยในการมองอนาคต ตั้งโจทย์ใหม่โดยคำนึงถึงมิติอนาคต และเพื่อนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมบริการรัฐใหม่ให้ตอบสนองความต้องการประชาชนด้วยการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)  

การคิดโครงการต่างๆ ที่ไม่ได้มีมุมมองของอนาคต อาจทำให้เราแก้ปัญหาตอบโจทย์เฉพาะปัญหาในปัจจุบัน โดยขาดการพิจารณาความท้าทายของโลกอนาคต  ดังนั้นการใช้กระบวนการ Strategic Foresight ช่วยทำให้เราคาดการณ์แนวโน้มอนาคตที่กระทบต่อเรื่อง ผู้ด้อยโอกาสรอบด้านมากขึ้น 

กระบวนการสร้างภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ในประเด็น “ผู้ด้อยโอกาสใน 10 ปีข้างหน้า” พบว่าในอนาคตคาดว่า AI จะเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้นยิ่งทำให้ผู้ด้อยโอกาสเสี่ยงตกงานมากขึ้น ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยากจนและอยู่เพียงลำพังมีความลำบากมากขึ้น โลกอนาคตอาจมีปัญหาภัยพิบัติรุนแรงและถี่ขึ้นทำให้ผู้ด้อยโอกาสที่สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงติดอยู่พื้นที่เสี่ยงและช่วยเหลือได้ยากลำบาก ผลกระทบของ Climate Change จะมีผลต่อภาคการเกษตรรุนแรงขึ้นทำให้คนยากจนที่เคยพึ่งพาการเกษตรแบบเดิมๆ จะลำบากขึ้น และแนวโน้มปัญหาผู้อพยพเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่อาจเป็นคนไร้สัญชาติและกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมในอนาคต เป็นต้น

นอกจากนี้ สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยโดยรวมยังถือว่าเป็นการจัดสวัสดิการที่ค่อนข้างเหมารวม ซึ่งการจัดสวัสดิการเป็นแบบเหมารวมหรือให้เท่าๆ กัน มีประโยชน์ตรงที่ทำได้ง่าย สะดวก และดูเหมือนจะเท่าเทียมกัน แต่จุดอ่อนคือทำให้สวัสดิการไม่ตอบโจทย์ผู้ด้อยโอกาสที่มีความสลับซับซ้อนในปัจจุบัน ผู้ด้อยโอกาสอาจได้รับความช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่พ้นจากปัญหาที่มี เพราะเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง ตลอดจนอาจไม่ได้ช่วยพัฒนาตามศักยภาพของบุคคล สุดท้ายยังคงมีปัญหา อยู่ในวังวนจนต้องขอรับความช่วยเหลือใหม่ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นและมีโอกาสในอนาคตอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต่างคนต่างทำ ยังก็ไม่สามารถบูรณาการงานระหว่างหน่วยงานได้ จึงอาจทำให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อน หรือมีการตกหล่นได้

ส่วนทิศทางภาพอนาคตนั้นควรพัฒนามุ่งไปสู่การจัดสวัสดิการตอบโจทย์ผู้ด้อยโอกาสตามความต้องการรายบุคคล (personalized welfare) และบูรณาการระหว่างหน่วยงานได้อย่างดี ซึ่งจะเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับความช่วยเหลือ กลายเป็นคนที่ได้โอกาส ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ดังนั้น “จุดคานงัด” ที่สำคัญคือการต้องมีการจัดระบบฐานข้อมูล ร่วมบูรณาการงานผู้ด้อยโอกาส และจัดสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการพร้อมๆ กับตอบโจทย์ความท้าทายอนาคต รวมถึงมีนโยบายการช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไขที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรับกับโลกยุคใหม่ อาทิ ทักษะงานแห่งอนาคต

การช่วยเหลือและพัฒนาผู้ด้อยโอกาสเพื่อตอบโจทย์ภาพอนาคตเป้าหมายนั้นจึงต้องอยู่บน แพลตฟอร์มแห่งโอกาส (Opportunity Platform)  เพื่อเปลี่ยน ผู้ด้อยโอกาสเป็น ผู้ได้โอกาส  แพลตฟอร์มใหม่จะต้องสามารถระบุผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยที่มีความหลากหลายได้ เช่น เป็นคนจน คนไร้บ้าน คนไร้สัญชาติ สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่หรือชุมชนที่อยู่ได้ สามารถใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ (Geographic Information) มาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ที่เป้าหมายอาศัยอยู่ เช่น เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่แล้งซ้ำซาก น้ำท่วมซ้ำซาก ปลูกพืชอะไรได้ดี เพื่อมาช่วยประกอบแนวทางการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่นั้น นอกจากนี้ แพลตฟอร์มนี้จะต้องระบุถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย แม้กระทั่งประเมินว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความสามารถด้านใด เพื่อยกระดับทักษะแห่งอนาคต สร้างโอกาส การได้งาน มีอาชีพ เป็นแพลตฟอร์มที่จะสามารถส่งมอบสวัสดิการที่เหมาะสมรายบุคคลหรือรายคลัสเตอร์บุคคลได้ เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาส “ได้โอกาส” และเติมเต็มศักยภาพของแต่ละคนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ที่ไม่มีความยั่งยืน

ในอนาคตก็มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เป็นโอกาสให้การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสดีขึ้น ตัวอย่างเช่น การนำระบบหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเหลือ การใช้โดรนส่งของจำเป็นช่วยผู้ด้อยโอกาสที่อยู่พื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยาก การโอนเงินตรงให้กลุ่มเป้าหมายผ่านระบบบล็อคเชน การรักษาผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีค่าเดินทางไปโรงพยาบาลผ่านระบบ tele-medicine การพิสูจน์บุคคลจากระบบจดจำใบหน้าอัตโนมัติ หรือการใช้ AI วิเคราะห์สวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล ซึ่งน่าจะเป็นความหวังในการช่วยแก้ไขปัญหาผู้ด้อยโอกาส

นอกจากตัวอย่างที่ยกมาเล่าในวันนี้แล้ว เรายังมีปัญหาที่ท้าทายอีกหลายเรื่องที่เราสามารถลุกขึ้นมาร่วมกันออกแบบใหม่ได้โดยใช้กระบวนการ Strategic Foresight เพื่อกำหนดโจทย์อนาคต มองไปข้างหน้าและใช้วิธีการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ระดมไอเดียใหม่ ทดลองทำต้นแบบ แก้ไขปัญหาง่ายๆ ด้วยนวัตกรรมทางความคิด รวมพลังร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน  

โดย... 

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation