การกำหนดค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (1)

การกำหนดค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (1)

เมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาเกิดขึ้น คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมี 2 ทางเลือกหลักๆ ที่จะใช้ในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญา

 1.คือการบอกเลิกสัญญาโดยอาจอาศัยสิทธิตามสัญญาหรือตามกฎหมาย หรือ 2. ขอให้ศาลหรืออนุญาโตตุลาการสั่งบังคับให้คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา โดยไม่ว่าผู้เสียหายจะเลือกทางใดก็อาจมีสิทธิเรียกค่าเสียหายร่วมด้วย หรือในกรณีที่มีการขอให้ปฏิบัติตามสัญญา หากคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้หรือสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ปฏิบัติตามสัญญา ผู้เสียหายก็สามารถเรียกค่าเสียหายแทนการชำระหนี้ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติก็มักพบว่าการเรียกค่าเสียหายก็เป็นวิธีการหลักที่คู่สัญญานิยมใช้เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญา

แม้ว่าการเรียกค่าเสียหายอาจดูเป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะคำนึงถึงก็ต่อเมื่อมีการผิดสัญญาเกิดขึ้น แต่อันที่จริงแล้วผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่คู่สัญญาควรนำมาพิจารณาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเจรจาร่างสัญญากันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะได้เข้าใจขอบเขต หน้าที่ ความรับผิดของตนได้ชัดเจนมากขึ้น และลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของคำพิพากษา โดยประเด็นที่คู่สัญญาอาจนำมาเจรจาและระบุใส่ไว้ในข้อสัญญามีดังต่อไปนี้

ประการแรก การกำหนดขั้นตอนการเยียวยาความเสียหายก่อนฟ้องคดี เช่น กรณีสัญญาก่อสร้าง หากผู้รับเหมาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิจะจ้างผู้รับเหมารายอื่นมาทำงานต่อได้ โดยค่าจ้างของผู้รับเหมารายใหม่นี้ก็หักเอาจากค่าจ้างของผู้รับเหมาที่ทำงานล่าช้า เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องนำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลหรืออนุญาโตตุลาการ (แล้วแต่กรณี) ทั้งนี้ การผิดสัญญาบางประเภทอาจไม่มีช่องทางในการเยียวยาความเสียหายก่อนฟ้องก็อาจไม่จำเป็นที่คู่สัญญาต้องตกลงกันเรื่องนี้

ประการที่สอง การกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ากรณีที่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น คู่สัญญาอาจจะพิจารณากำหนดมูลค่าความเสียหายไว้ล่วงหน้า เช่น กรณีการก่อสร้างล่าช้าเมื่อสักครู่ อาจกำหนดว่าผู้รับเหมาอาจถูกหักเงินค่าจ้างจำนวน x บาทต่อวันจนกว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่คู่สัญญาพึงระวังว่าค่าเสียที่กำหนดไว้ล่วงหน้านี้อาจถูกศาลพิจารณาว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจปรับลดได้ตามที่ศาลเห็นสมควรตามมาตรา 383 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ต่อมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตความเสียหายที่คู่สัญญาตกลงรับผิด เช่น ผู้รับเหมาตกลงจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากการก่อสร้างเป็นเงินไม่เกิน x บาท และอาจจะกำหนดขอบเขตระยะเวลาที่ผู้รับเหมาจะรับผิดไว้ด้วย ทั้งนี้ คู่สัญญาพึงระวังว่าข้อสัญญาที่จำกัดความรับผิดนั้นจะใช้ไม่ได้ในกรณีที่ความผิดดังกล่าวเกิดจากความฉ้อฉล หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของคู่สัญญาฝ่ายที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 373 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญา ประเด็นนี้มีความสำคัญกับประเด็นเรื่องค่าเสียหายเนื่องจากว่า กฎหมายของแต่ละประเทศก็กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการเรียกค่าเสียหายจากกรณีการผิดสัญญาไว้ไม่เหมือนกัน เช่น กฎหมายไทยโดยทั่วไปศาลจะไม่กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damage) ให้ แต่กฎหมายอังกฤษ หรือกฎหมายของรัฐบางรัฐในสหรัฐ เปิดช่องให้มีการเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ในกรณีที่การผิดสัญญานั้นมีผลเหมือนกับการทำละเมิดต่อผู้เสียหายด้วย ดังนั้นการเลือกกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาจึงอาจมีผลต่อค่าเสียหายที่ผู้เสียหายอาจเรียกได้ด้วย ทั้งนี้ ขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศนี้จะต้องพิจารณาร่วมกับกฎหมายขัดกัน ประกอบกับวิธีการระงับข้อพิพาทด้วยว่ากฎหมายต่างประเทศที่ใช้บังคับกับสัญญาจะใช้บังคับได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ซับซ้อน ผู้เขียนจึงขอยกไปในบทความครั้งต่อไป

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]