วัคซีนงูเห่า

วัคซีนงูเห่า

“งูเห่า” การเมือง กลายเป็นที่กล่าวขานถึงอย่างมากอยู่ในเวลานี้ พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคที่คาดหมายว่า จะเกิดงูเห่าเป็นฝูงๆ

อะไรที่เป็นเช่นนั้น ในเมื่อผู้บริหารพรรคบอกเสมอว่าพรรคนี้ร่วมกันด้วยอุดมการณ์

แต่ความเป็นจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ว่าที่ ส.ส.อนาคตใหม่ มีจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเหมือน “พ่อ แม่” ทำให้เกิด แล้วทอดทิ้ง ให้เติบโตด้วยการหาเลี้ยงตัวเอง จู่ๆ พ่อ แม่ บอกว่าจะมารับไปเลี้ยงดู

เพื่อสนับสนุนคำเปรียบเปรยนี้ พอมีข้อเท็จจริงที่จะยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ความจริงที่ว่า การหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ ที่เน้นชูตัวหัวหน้าพรรค ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นหลัก เพื่อดึงคะแนนของพรรค อย่างน้อยๆ ก็ให้หัวหน้าพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับต้นๆ เข้าไปเป็นส.ส.ในสภาฯ ส่วนผู้สมัครระบบเขตก็ไม่มีการคัดเลือกตามที่อ้างว่าเลือกจากคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ดังนั้น พรรคจึงดูแลเหมือนไม่ได้ดูแล กล่าวคือ เมื่อส่งสมัคร ก็มอบเงินสนับสนุนเพียง 200,000 บาท เงินเท่านี้แค่พิมพ์ใบแนะนำตัวก็หมดแล้ว จะสังเกตว่าทุกเขตเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่แทบจะไม่มีโปสเตอร์หาเสียงผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต นอกจากป้ายที่มีรูปหัวหน้าพรรค ไม่ต้องพูดถึงรถแห่หาเสียง ซึ่งหากจะมี ผู้สมัครจะต้องควักกระเป๋าจ้างเอง

ดังนั้น ความผูกพัน หรืออุดมการณ์ร่วมกับพรรคจึงแทบไม่มี เพราะพรรคทอดทิ้งไม่ได้เหลียวแลคนเหล่านี้ตั้งแต่ต้น

แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมา “เกิน ความคาดหมาย ไม่ว่าจากกระแสความนิยมในตัวของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หรือการเทคะแนนจากผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ ที่โดนยุบ ทำให้พรรคน้องใหม่ มีส.ส.ระบบเขต 30 คน และปาร์ตี้ลิสต์ กว่า 50 คน

การที่ผู้สมัครที่พรรคทอดทิ้ง นอกจากไม่มีความผูกพันกับพรรค พวกเขาย่อมเกิดความคิดว่า ถ้ายังอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ต่อไป พรรคยังจะสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ของพวกเขาหรือไม่ หรือต้องถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยวเหมือนช่วงการหาเสียง

ดังนั้น การที่พรรคอนาคตใหม่ จับว่าที่ส.ส.ลงสัตยาบันว่าจะทำงานตามอุดมการณ์ และมติพรรค ให้เป็น วัคซีน” ห้ามส.ส.แตกแถว มีผลอย่างไรหรือไม่

คำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 1/2542 ลงวันที่ 11 ก.พ.2542 ว่า ส.ส. มีความเป็นอิสระ ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เพราะฉะนั้น วัคซีน” อนาคตใหม่ ก็ไม่อาจขัดขวางความเป็นอิสระในการลงมติของส.ส. และพรรคไม่ใช่คอกกักสัตว์ให้อยู่ในอาณัติเสมอไป