24 มีนาคม วันจ้างงานแห่งชาติ

24 มีนาคม วันจ้างงานแห่งชาติ

อีกแค่ 2 วันก็จะเลือกตั้งแล้ว อุณหภูมิการเมืองพุ่งสูงขึ้น เป็นช่วงเวลาที่บีบหัวใจเหลือเกิน ถ้าว่ากันตามสาระสำคัญแล้ว 24 มี.ค.

 คือวันที่เราต้องตัดสินใจว่าจะจ้างใครมาทำงานดูแลบริษัทประเทศไทย ที่น่าสนใจก็คือ หลายคนให้ความสำคัญกับผู้สมัครเหล่านี้เกินกว่าที่นายจ้างทั่วไปเขาทำกัน การให้ความสำคัญเกินไปแบบนี้อาจทำให้เราเสียใจกันเป็นแถว หากคนในใจของเราได้เข้าไปนั่งในสภาแล้วกลับทำตัวไม่เป็นเหมือนที่ตั้งความหวังไว้

ปกติเวลาเราจะจ้างใครสักคนมาทำงาน เราเริ่มจากการดูข้อมูลพื้นฐาน สืบประวัติอย่างละเอียดว่าเขามีจุดดีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าเขาไม่มีเรื่องเบื้องหลังให้กังวล สามารถทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย เราประเมินทั้งสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาทำ รวมถึงแววตาท่าทางที่เขาแสดงออกมา เพราะสุดท้ายอนาคตของบริษัท ซึ่งก็คือ อนาคตของเราก็ฝากไว้กับคนที่เราเลือกมาทำงาน

น่าแปลกที่การเลือกตั้งคราวนี้ หลายคนกลับไม่ใช้เกณฑ์เดียวกันมาตัดสินใจว่าควรลงคะแนนให้ใคร

หากสวมหมวกเป็นนายจ้างตัวจริง แล้วมองว่าวันที่ 24 นี้คือ วันจ้างงานแห่งชาติแห่งชาติ ก่อนจะเข้าคูหาลงคะนน มี 3 เรื่องที่เราต้องเตือนตัวเองให้ดี

เรื่องแรก ดูให้ดีว่าพรรคไหนใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหาเสียงแบบไม่สนใจสังคม  ถ้าเจอแบบนี้ก็ฟันธงได้เลยว่า หากปล่อยให้เข้าไปในสภาต้องอาละวาดหนักแน่นอน

 ถ้าสังเกตกลยุทธ์ของหลายพรรค จะเห็นว่า พวกเรากำลังถูกผู้สมัครเหล่านี้ปั่นหัวด้วยเทคนิคการตลาด ด้วยการแยกเราเป็นกลุ่มย่อยแล้วแบ่งเค้กกัน ส่วนแบ่งตลาดทางธุรกิจเป็นการแบ่งเงินกัน ใครได้มากได้น้อยก็ไม่เป็นไร แต่หากนำเทคนิคทางการตลาดมาแบ่งเค้กคะแนนเสียง มันคือการฉีกสังคมนี้ออกเป็นส่วน ๆ รอยแผลที่เกิดขึ้นย่อมสร้างความร้าวฉานเป็นบาดแผลให้กับสังคมไปอีกหลายปี

คนแบบนี้ไม่มีบริษัทไหนอยากรับคนแบบนี้เข้าไปทำงาน แล้วเรายังจะเลือกคนจงใจทำร้ายสังคมให้แตกแยกเพื่อให้ตัวเองได้อำนาจเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงแทนเราจริงหรือ?

เรื่องที่สอง ต้องวางใจเป็นกลาง  ท่องไว้ว่าเรากำลังเลือกลูกจ้างมาทำงาน ถอยออกมาจากความคิดเดิมของเราสักหนึ่งก้าว มองย้อนกลับไป ประเมินพฤติกรรมการหาเสียงของผู้สมัครหรือพรรคในดวงใจด้วยความเป็นกลางว่าเขาทำอะไร พูดอะไรไปบ้าง ให้ใช้ข้อมูลรอบร้าน อย่าเลือกเฉพาะข้อมูลจากฝ่ายเดียวกับเราเท่านั้น เพราะประชาธิปไตยหมายถึงการเปิดกว้างทางความคิด ยอมรับความเห็นที่ต่างออกไป โดยไม่ต้องตบตีกัน

เชื่อเถอะว่าถ้าเราวางใจเป็นกลางพอ จะพอมองเห็นว่าคนที่อยู่คนละฝั่งบางคนเขามีข้อมูลที่สำคัญต่อการตัดสินใจของเราเหมือนกัน ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่ทำงานได้ดีที่สุดหากประชาชนในประเทศรู้จักแยกแยะ สามารถใช้ข้อมูลรอบด้านมาประกอบการตัดสินใจ ไม่แห่ตามกันไปด้วยกระแสแฮชแทค คำพูดสวยหรู หรือนโยบายขายฝันที่ฟังแล้วรู้สึกดี

เรื่องสุดท้าย บอกตัวเองว่าเลือกแล้วต้องเฝ้า อย่าให้พวกเขาได้ใจ  การเลือกตั้งเป็นแค่ครึ่งแรกของกระบวนการทั้งหมด ซึ่งแม้จะมีสำคัญมาก แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการติดตามการทำงานหลังจากเลือกตั้งเสร็จแล้ว

ไม่มีบริษัทไหนให้พนักงานที่รับเข้ามีอิสระสามารถทำงานโดยไม่มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เราก็ควรทำเช่นเดียวกันกับนักการเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าคนที่เข้าไปในสภาจะเป็นคนที่เราเลือกหรือไม่ การติดตามตรวจสอบการทำงานของคนเหล่านี้ถือเป็นภารกิจร่วมของทุกคน เพราะทั้งคนที่เราเลือกและคนที่เราไม่ได้เลือก เมื่อได้เข้าไปเขาจะทำงานเพื่อพวกเราทุกคน เพื่อประเทศไทย

หากนักการเมืองเหล่านี้รู้ว่าตนเองจะถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ก็จะระมัดระวัง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง อย่าไปหวังพึ่งหิริโอตัปปะของนักการเมือง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีเท่ากับทุกคน แถมวัดได้ยาก แต่พวกเราสามารถตรวจสอบคนเหล่านี้ด้วยความเข้มงวดในระดับเดียวกันได้หมดตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึง สส. ประจำเขต

ใครเข้าไปแล้วทำไม่ดี ต้องช่วยกันประจาน ถ้ายังรอดไปได้ หมายหัวไว้เลยว่า คราวต่อไปเราจะไม่เลือกคนนั้นอีก นอกจากนี้แล้ว การติดตามตรวจสอบคือการส่งสัญญาณให้คนที่อยากเข้ามาเล่นการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปรู้ว่า พวกเขาต้องเจอกับอะไร เมื่อรู้ว่าเข้ามาอาจได้ไม่คุ้มเสีย ใครวางแผนเข้ามากอบโกยจะได้คิดหนักกว่าเดิม

นางอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดียเคยกล่าวว่า “ผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งไม่สำคัญเท่ากับการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ” เอาตัวเองออกจากอารมณ์รักชอบนักการเมือง เลือกโดยใช้ผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ต้องไปเห่อตามแฮชแทคของพรรคไหน แฮชแทคเดียวที่เราต้องใช้คือ #SaveThailand