สงคราม 5จี

สงคราม 5จี

เราน่าจะเห็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปีนับจากนี้

สงคราม 5จี

นับตั้งแต่ฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2543 (ค.ศ. 2000) ตลาดไอทีและโทรคมนาคมก็อยู่ในภาวะกล้าๆ กลัวๆ นานหลายปี เพราะการเก็งกำไรเกินควรในยุคนั้นส่งผลให้หลายบริษัทต้องขาดทุนครั้งมโหฬารจนไม่กล้าขยายธุรกิจอย่างที่ควรจะเป็น

จนกระทั่งตลาดสมาร์ทโฟนจุดประกายได้สำเร็จใน 7 ปีให้หลัง เมื่อเทคโนโลยี 3จี เริ่มแพร่หลาย การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนทำให้พัฒนาการของระบบสื่อสารก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วแม้ต้องอาศัยเงินลงทุนสูง อีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นเราจึงเห็นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีเดินหน้าเทคโนโลยี 4จี กันอย่างเต็มสูบ

การเปลี่ยนแปลงในยุคนั้นทำให้แอ๊ปเปิ้ลผงาดขึ้นมาแทนที่ยักษ์ใหญ่อย่างโนเกียได้อย่างไม่มีใครคาดคิด เพราะนับตั้งแต่ยุคแรกของโทรศัพท์มือถือมาจนถึงยุค 3จี โนเกียครองตลาดแทบจะทุกเซ็กเมนต์ แต่เมื่อการมาถึงของ 4จี ก่อให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ แอ๊ปเปิ้ลที่มองเห็นโอกาสก่อนผู้อื่นจึงก้าวขึ้นมาแทนที่ได้สำเร็จ

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุค 5จี ก็เช่นกัน เพราะเราไม่อาจบอกได้ว่าเจ้าตลาดเดิมจะคงความยิ่งใหญ่ต่อไปได้นานเพียงใด ในขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศเริ่มวางแนวทางสำหรับการให้สัมปทานระบบสื่อสารยุคที่ 5 ซึ่งมีรายละเอียดต่างจากระบบ 4จี อย่างมาก ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5จี ทำให้มีรูปแบบในการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุมธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่าเดิมหลายเท่า

เราน่าจะเห็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปีนับจากนี้ โดยระหว่างนี้ก็จะเห็นการทดสอบการใช้งานเป็นระยะ เพราะผู้บริหารแต่ละเจ้าต่างก็พยายามชิงความได้เปรียบด้วยการจับมือกับเจ้าของเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

โดยเฉพาะประเทศไทยที่ประกาศนโยบายพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เราจึงเห็นแผนการนำเอาระบบสื่อสารในยุค 5จี มาใช้สร้างเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ด้วยโครงข่ายไอโอที โดยมีระบบคลาวด์และบิ๊กดาต้า รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ให้บริการอยู่เบื้องหลังมากมายหลายโครงการ

นักวิชาการหลายสำนักจึงเชื่อว่า 5จี น่าจะผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มเติมมากถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ในขณะที่บ้านเราเองก็เชื่อกันว่าจะมีตัวเลขขยายตัวได้นับแสนล้านบาท

การมาถึงของเทคโนโลยี 5จี ส่งผลกระทบกับธุรกิจหลายๆ ประเภทที่ปรับตัวตามกระแสเทคโนโลยีไม่ทัน เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้นหลังจากนี้จะเปลี่ยนรูปแบบในการทำธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการสื่อสารในยุคต่อจากนี้จะไม่ได้เป็นเพียงการติดต่อกันของคนสู่คน หรือคนสู่เครื่อง แต่การสื่อสารแบบเครื่องสู่เครื่อง หรือ “Machine to machine” จะเกิดขึ้นเมื่อระบบเซ็นเซอร์อันทันสมัยต้องการเชื่อมต่อกับระบบเอไอและทำงานทุกอย่างได้โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจของมนุษย์

บริษัทชั้นนำอย่างซัมซุง แอ๊ปเปิ้ล อินเทล หัวเว่ย ต่างก็เร่งพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารเป็นของตัวเองเพื่อประกาศความเป็นผู้นำ เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเปิดตัวออกมาจำนวนมาก ทั้งสมาร์ทโฟนที่มีกล้อง 3-5 ตัว สมาร์ทโฟนพับได้ รวมถึงการใช้งานที่นานขึ้นเป็น 2-3 วัน แม้จะยังไม่ใช่ 5จี แต่ก็จะเป็นรากฐานให้รองรับการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

การแข่งขันของเจ้าตลาดเดิม ทั้งโนเกีย อิริคสัน ซัมซุง จึงต้องเจอกับคู่แข่งสัญชาติจีนที่ประกาศทุ่มสุดตัวในสมรภูมินี้ ราคาของสมาร์ทโฟนที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีล่าสุดที่ราคาแพงทะลุ 6-8 หมื่นบาทจึงจะลดต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าแน่นอน