การระดมทุนของบริษัท Fintech ทั่วโลก และทิศทางของกลยุทธ์

การระดมทุนของบริษัท Fintech ทั่วโลก และทิศทางของกลยุทธ์

สถาบันการเงินบางแห่งอาจมีลงทุนโดยตรงใน Fintech Start-up

ในปี 2018 ที่เพิ่งผ่านไป แม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกจะค่อนข้างซบเซาไปตาม ๆ กัน แต่ยอดเงินลงทุนในบริษัทด้าน Fintech จากทุกภูมิภาครวมกันกลับเพิ่มขึ้นถึง 120% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.26 ล้านล้านบาท อ้างอิงจากข้อมูลของการระดมทุนผ่าน Venture Capital หรือ VC ซึ่งรวบรวมและเผยแพร่โดย www.cbinsights.com โดยที่บริษัทด้าน Fintech ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนมีบทบาทสำคัญในการระดมทุน และขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในปี 2018 นั้น Ant Financial ของประเทศจีนถือเป็นบริษัทที่มีการระดมทุนสูงที่สุดถึง 14,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าการระดมทุนสำหรับบริษัท Fintech ทั้งโลกรวมกันเลยทีเดียว

นอกจากยอดการระดมทุนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว หากวิเคราะห์ในมุมมองของมูลค่ากิจการ พบว่าปี 2018 มีจำนวน Fintech Unicorn หน้าใหม่ถึง 16 บริษัท ซึ่ง Unicorn หมายถึงบริษัทที่มีมูลค่ากิจการตั้งแต่ 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป โดยคำนวณตามราคาตลาดที่เกิดจากการระดมทุนรอบล่าสุด ทำให้จำนวน Fintech Unicorn ทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 39 บริษัท ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทในทวีปอเมริกาเหนือสูงถึง 24 บริษัท รองลงมาคือเอเชียจำนวน 9 บริษัท ซึ่งอยู่ในประเทศจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งน่าเสียดายที่ประเทศไทยเรานั้นยังไม่มี Fintech Unicorn เกิดขึ้นในตอนนี้

ในเชิงกลยุทธ์ธุรกิจนั้น Fintech Start-up ที่เปิดมาสักระยะหนึ่งและประสบความสำเร็จผ่านช่วง Growth Stage ในธุรกิจที่เริ่มต้นดำเนินงานมาแล้ว ต่างเริ่มที่จะขยายธุรกิจไปยัง Segment ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิม โดยการซื้อ Fintech Start-up อื่น หรือการพัฒนาบริการใหม่ขึ้นเอง หรือการร่วมมือกับสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนและฐานลูกค้าอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น Wealthfront ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Robo-advisor ที่ให้บริการลงทุนในกองทุนรวมอย่างอัตโนมัติ ได้เริ่มให้บริการด้านสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 100,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป สามารถขอกู้เงินระยะสั้นได้ในวงเงินไม่เกิน 30% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด และคิดดอกเบี้ยประมาณ 4.75% ถึง 6.00% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าการขอสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วไป ส่งผลให้บริการของ Weathfront ครอบคลุมทั้งฝั่งสินทรัพย์และหนี้สินของลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นกลยุทธ์การเพิ่ม Customer Life Time Value (CLTV) ที่น่าสนใจ และมีความใกล้เคียงกับการดำเนินงานของธนาคารมากขึ้น อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Robinhood ซึ่งเป็นผู้นำด้านการซื้อขายหุ้นแบบไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น ได้เกาะกระแสความร้อนแรงของ Cryptocurrency ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยขยายขอบเขตของสินค้าที่สามารถลงทุนได้ให้ครอบคลุมทั้งหุ้น Options กองทุนประเภท ETF และ Cryptocurrency สกุลหลัก ๆ เช่น Bitcoin และ Ethereum เป็นต้น นอกจากนี้ ภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า Fintech Start-up เริ่มให้บริการที่คล้ายกับธนาคารมากขึ้นคือ การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากได้โดยตรงผ่าน Application ของ Fintech Start-up เอง ตัวอย่างเช่น Acorns ต้นแบบด้าน Micro-investing ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถลงทุนได้ในจำนวนเงินที่น้อยไปพร้อมกับการใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งนอกจากจะมีบริการด้านเงินฝากแล้ว Acorns ยังได้เริ่มให้บริการ Debit Card อีกด้วย

สำหรับในประเทศไทยนั้น เราน่าจะได้เห็นทิศทางของกลยุทธ์ที่ Fintech Start-up และสถาบันการเงินที่ก่อตั้งมานาน มีความร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อที่จะขยายช่องทางการให้บริการ หรือพัฒนาบริการใหม่ ๆ ร่วมกัน สถาบันการเงินบางแห่งอาจมีลงทุนโดยตรงใน Fintech Start-up ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันอีกด้วย โดยที่ประชาชนทั่วไปน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากความร่วมมือดังกล่าว ในโอกาสหน้าถ้ามีคู่ไหนร่วมมือกันสร้างบริการที่น่าสนใจออกมาใหม่ ผมจะเอามาเล่าให้ฟังนะครับ