นักกีฬาหุ่นยนต์และกฎหมาย

นักกีฬาหุ่นยนต์และกฎหมาย

“ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence : AI) ยังคงเป็นที่พูดถึงและได้รับความสนใจกันอย่างมากในยุคสมัยปัจจุบันนี้

ซึ่งในอดีตของวิวัฒนาการด้านปัญญาประดิษฐ์ มนุษย์ได้มีการคิดค้นและสร้างเครื่องจักรกลที่มีความสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยผ่านการควบคุมจากมนุษย์ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ หุ่นยนต์ (Robot) จนทำให้มนุษย์พยายามจะพัฒนาให้หุ่นยนต์มีความสามารถในการรับรู้หรือตอบสนองให้ใกล้เคียงความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด จึงทำให้เกิดปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาและนำไปใช้กับหุ่นยนต์ รวมไปถึงการนำหุ่นยนต์มาพัฒนากับการแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ ดั่งเช่นที่มนุษย์แข่งขันกัน ซึ่งก่อนที่จะกล่าวถึงหุ่นยนต์ที่สามารถแข่งกีฬาได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจคำว่า “หุ่นยนต์” และ “ปัญญาประดิษฐ์” เสียก่อน ว่าทั้ง คำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

ปัจจุบันหุ่นยนต์มีหลายประเภท แต่สิ่งที่เหมือนกันของหุ่นยนต์ก็คือมีการเคลื่อนไหวทางกายภาพและทางโครงสร้าง บางชนิดเคลื่อนที่ได้ด้วยล้อ บางชนิดใช้กลไกของขาในการเคลื่อนที่ ส่วนวัสดุที่ใช้ทำหุ่นยนต์นั้นอาจเป็นโลหะ หรือพลาสติกก็ได้ และระหว่างชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ทำงานนั้นจะมีข้อต่อ (Joint) เพื่อเป็นจุดหมุนในการทำงาน

ในการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์และการหมุนข้อต่อนั้นจะใช้อุปกรณ์ที่เป็นต้นกำลังที่เรียกว่า “Actuators” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขับเคลื่อนชิ้นส่วนหุ่นยนต์ซึ่งมีหลายประเภท ได้แก่ อุปกรณ์ทางไฟฟ้า อุปกรณ์ทางระบบไฮดรอลิกส์ (ใช้ความดันของของเหลว) และอุปกรณ์ของระบบนิวแมติกส์ (ใช้ความดันลมหรือก๊าซ) ในหุ่นยนต์หนึ่งตัวอาจจะใช้อุปกรณ์ Actuators หลายแบบได้ ซึ่งในอดีตหุ่นยนต์แต่ละตัวล้วนต้องอาศัยมนุษย์ในการบังคับหรือควบคุมทั้งสิ้น โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวสั่งการและควบคุมให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวตามโปรแกรมที่ได้วางเอาไว้ โปรแกรมต่าง ๆ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

ส่วนปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นนวัตกรรมแนวใหม่ ในการทำให้หุ่นยนต์มีความฉลาดเหมือนหรือเทียบเท่ากับมนุษย์ มีความสามารถในการเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ เรียนรู้ถึงเหตุและผล มีความสามารถในการใช้ภาษา และมีความสามารถในการมีความคิดสร้างสรรค์ หุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์นั้นสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง แต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัดถ้าไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ในการจัดการ การป้อนคำสั่งสั่งการ การควบคุมกระบวนการ ฯลฯ ต่างกับหุ่นยนต์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้าควบคุม จะมีความสามารถกระทำการต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยบางรูปแบบสามารถคิดและวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกกำหนดไว้ได้ หรือบางรูปแบบสามารถแก้ปัญหาได้เองในชุดรูปแบบปัญหาที่มีการกำหนดไว้แล้ว

หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สมัยใหม่ส่วนมากมีความสามารถในเรียนรู้ มีความจำ มีการกระทำที่แน่นอนตามระบบที่วางเอาไว้ เพื่อให้ทำงานจนเป็นผลสำเร็จและสามารถที่จะทำงานต่อไป จนถึงการทำงานที่ซ้ำ ๆ ได้ อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานคล้ายมนุษย์ เดิน วิ่ง เต้นรำ เลียนแบบกริยาท่าทางเหมือนมนุษย์รวมถึงมีความสามารถในการแข่งกีฬา

ปัจจุบันนี้มีการจัดการแข่งขันกีฬาโดยใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เป็นนักกีฬาที่ลงทำการแข่งขัน โดยมีมนุษย์เป็นผู้สร้างและผู้ควบคุมนักกีฬา ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ 1) Robot Soccer – หุ่นยนต์อัตโนมัติใช้ในการแข่งขันกีฬาประเภทฟุตบอล 2)Robot Combat - หุ่นยนต์อัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับเครื่องควบคุมระยะไกลที่สร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กัน 3) Robot Racing - หุ่นยนต์อัตโนมัติที่ใช้ในการแข่งขันรถยนต์ไร้คนขับทั้งในร่มและกลางแจ้ง ทำให้หุ่นยนต์แข่งกับหุ่นยนต์ตัวอื่นเพื่อไปให้ถึงเส้นชัยโดยที่ไม่มีมนุษย์นำทางหรือควบคุม และ 4) Robots in sport – หุ่นยนต์อัตโนมัติที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาที่ถูกจำลองมาจากกีฬาโอลิมปิกของมนุษย์ในหลาย ๆ ชนิดกีฬา

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าตามกฎหมายไทยยังไม่มีการรองรับถึงสภาพบุคคลของหุ่นยนต์อย่างแน่นอน ถึงแม้ในหลาย ๆ ประเทศเริ่มมีแนวคิดทางกฎหมายถึงการรับรองสภาพบุคคลของหุ่นยนต์ และในบางประเทศก็เริ่มมีการรับรองสภาพบุคคลของหุ่นยนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อกฎหมายไทยยังไม่เปิดช่องให้มีการรับรองสภาพบุคคลของหุ่นยนต์ เมื่อมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการแข่งขันกีฬาหรือใช้เป็นนักกีฬาลงทำการแข่งขันแล้ว กฎหมายที่มีอยู่ที่เกี่ยวข้องทางด้านกีฬาจะสามารถกำหนดนิยามของความเป็นนักกีฬาของผู้สร้างหรือผู้ควบคุมหุ่นยนต์ดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากผู้สร้างหรือผู้ควบคุมไม่ได้ลงทำการแข่งขันกีฬาด้วยตัวเอง ซึ่งความหมายโดยทั่วไปตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 นักกีฬา” หมายถึง ผู้ชอบเล่นกีฬาผู้เข้าแข่งขันกีฬา และเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางด้านกีฬาจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 มาตรา 3 วรรคห้า ได้บัญญัติไว้ว่า นักกีฬา” หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมกีฬา และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งเข้าแข่งขันกีฬาในนามของสมาคมกีฬาหรือเข้าแข่งขันกีฬาในรายการแข่งขันที่สมาคมกีฬาให้การรับรอง

ดังนั้นการใช้หุ่นยนต์แข่งขันกีฬานั้น จะถือว่าผู้สร้างหรือผู้ควบคุมเป็นนักกีฬา ส่วนหุ่นยนต์เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาเหมือนในชนิดกีฬาอื่น ๆ เช่น การแข่งขันรถยนต์ หรือไม่ และเมื่อพิจารณาตามความหมายโดยทั่วไป คำว่า “ผู้” นั้นหมายความเฉพาะ มนุษย์ที่มีสภาพบุคคลตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่ ถ้าใช่ หากในอนาคตหุ่นยนต์ได้ถูกรับรองตามกฎหมายแล้วจะสามารถแข่งขันกีฬาในนามของตัวเองได้หรือไม่ หรือผู้สร้างหรือผู้ควบคุมยังคงเป็นนักกีฬาที่ลงทำการแข่งพร้อมหุ่นยนต์ที่เป็นอุปกรณ์ในการแข่งขัน การกำหนดกฎกติกาในการแข่งขันจะเป็นเช่นไร ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรเริ่มคิดถึงเรื่องกฎหมายหุ่นยนต์ (Laws of robotics) เหมือนในต่างประเทศแล้วหรือยัง คงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายเมื่อถึงวันที่หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถในการแข่งขันกีฬาที่เทียบเท่าหรืออาจจะมีทักษะที่เหนือกว่ามนุษย์ โดยที่มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ที่ควบคุมอีกต่อไป

 โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์