Glocalization ช่วยต่อยอด

Glocalization ช่วยต่อยอด

โลกาภิวัตน์ หรือ Globalization เป็นที่รู้จักกันดี แต่อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวพันกัน คือ Glocalization นั้น ยังไม่แพร่หลายนัก

ทั้งที่แนวคิดเบื้องหลังคำนี้สามารถนำมาต่อยอดให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านธุรกิจ

Globalization ซึ่งคร่าวๆ หมายถึง การผันแปรเป็นโลกเดียวกันของสังคมต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยมีนัยยะว่าถูกชี้นำโดยกระแสโลกที่เกิดจากประเทศพัฒนาแล้วในโลกตะวันตก ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่กระบวนการโลกาภิวัตน์นี้ เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา

แนวคิด Glocalization เกิดขึ้นในทศวรรษ 1990 เพื่อท้าทายการขยายตัวของGlobalization ไปยังส่วนต่างๆ ของโลก โดยเสนอแนะว่า ขณะที่กระบวนการGlobalization เกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ ของโลกนั้นก็มีการเกิดของอีกกระแสหนึ่งคือ การเป็นท้องถิ่น(localization) ขึ้นในเวลาเดียวกันและผสมผสานกัน เกิดเป็นกระบวนการGlocalization (globalization + localization)

Glocalization จึงหมายถึงการเกิดขึ้นในขณะเดียวกันของทั้งในระดับสากลและท้องถิ่นอย่างกลมกลืนกัน ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของช็อกโกแลตสีเขียว ที่มีส่วนผสมของชาเขียวของญี่ปุ่น(ปกติ Kit-Kat ในระดับสากลจะเป็นช็อกโกแลตสีน้ำตาลเข้ม)

แฮมเบอร์เกอร์McDonald ที่ปกติเรียกว่า Big Mac กลายเป็น Chicken Maharaja Mac ในอินเดีย กล่าวคือในระดับสากลนั้น Big Mac มีไส้เนื้อวัวซึ่งขายในอินเดียไม่ได้เพราะคนฮินดูซึ่งมีอยู่ 80% ในอินเดียไม่บริโภคเนื้อวัว Glocalization ที่เกิดขึ้นจึงเป็นBig Mac ไก่ที่มีชื่อดังกล่าว

แซนวิชหมูหยองและ KFC ซึ่งปกติขายไก่ทอด แต่ในบ้านเรามีเมนูลาบไก่แซ่บกับข้าวก็คือ Glocalization ลักษณะหนึ่งเช่นเดียวกับข้าวเหนียวก้อนสไตล์แฮมเบอร์เกอร์ที่มีไส้ลาบทอดของ 7-11

Bollywood คือ แหล่งผลิตภาพยนตร์ของอินเดียอยู่ที่เมืองมุมไบ(เปลี่ยนจากชื่อBombay) ซึ่งผลิตภาพยนตร์ในแต่ละปีออกมามากกว่าHollywood ด้วยซ้ำ ก็เป็นผลพวงของ Glocalization เช่นกัน ภาพยนตร์ของ Bollywood นั้น ถ่ายภาพได้ชัดเจนคุณภาพการกำกับและการแสดงไม่มีอะไรแตกต่างไปจากผลงานขอ งHollywoood แต่แทบทุกเรื่องจะมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นปนอยู่คือ การร้องเพลงเต้นระบำอย่างสนุกสนานนางเอกเต้นระบำข้ามภูเขาหลายลูกพร้อมกับชุดที่งดงามก็เปลี่ยนตามไปด้วย Glocalizationอันนี้เป็นที่นิยมของท้องถิ่นและของหลายถิ่นทั่วโลก เป็นการผสมกลมกลืนของสากลและท้องถิ่นอย่างงดงาม

ถ้ามองย้อนไปไกลๆ การไหว้ของไทยก็เป็น Glocalization อย่างมิต้องสงสัย ในโลกมิได้มีคนไทยเท่านั้นที่ใช้การพนมมือไหว้เป็นการทักทายและแสดงความเคารพ อินเดียเป็นต้นตำรับของการไหว้ ศรีลังกา ลาว เขมร แม้แต่จีนญี่ปุ่น และฝรั่งก็พนมมือเข้าหากันระหว่างอกเพื่อแสดงอาการคารวะ

ส่วนใหญ่ใช้ไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์(ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นก่อนสมัยเมจินั้นเข้มแข็งมาก) จนถือได้ว่าเป็นสากล มีเพียงคนไทยเท่านั้นที่เอามาดัดแปลงเป็นGlocalization อย่างมีความหมายลึกซึ้ง โดยใช้ลักษณะการไหว้สื่อการคารวะสิ่งเคารพและคนอื่นที่มีฐานะต่างๆ แตกต่างจากตัวผู้ไหว้

คนสิงคโปร์พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงและสไตล์ของตนเองจนมีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า Singlish (Singapore + English) ระดับสากลนั้น คืออังกฤษ แต่ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาประจำชาติตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ถูกคนสิงคโปร์เอามาดัดแปลงให้สอดคล้องกับลิ้นของตนเอง ตัวอย่างของ Glocalization เช่นนี้ ก็เกิดขึ้นในชุมชนอื่นๆเช่นกัน เช่นภาษาญี่ปุ่นของกลุ่มคนบราซิลที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น(มีจำนวนถึงกว่า1.6ล้านคนในบราซิล) ภาษาอังกฤษของคนออสเตรเลีย ฯลฯ

Glocalization มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในมิติธุรกิจเท่านั้น หากครอบคลุมไปถึงสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ประชาธิปไตยที่เป็นง่อยตามสไตล์ของแต่ละประเทศก็เป็น Glocalization อีกเช่นกัน หลักการประชาธิปไตยที่เป็นสากลนั้นพัฒนาจากกรีกโบราณแล้วมาเติบโตในอังกฤษ สหรัฐและในยุโรป ถูกนำผสมกลมกลืนอย่างลงตัวบ้าง ไม่ลงตัวบ้าง ในพื้นที่ต่างๆ ในเวลาต่อมา

ปัจจุบันมวยไทย นวดแผนไทย อาหารไทยและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้กลายเป็น Glocalization แบบกลับทาง กล่าวคือของเราเป็นสากลและมีคนในประเทศอื่น ทำให้มันกลายเป็น Glocalization

การเข้าใจแนวคิด Glocalization ช่วยให้เราสามารถเอาไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนพบร้านก๋วยเตี๋ยวราคา 9 บาท ที่อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ตั้งร้านอยู่ใกล้จุดส่งสัญญาณของเน็ตประชารัฐ (อินเตอร์เน็ตเข้าไปถึงหมู่บ้านโดยมีจุดส่งสัญญาณในรัศมีประมาณ 100-150 เมตร) จัดร้านให้ร่มรื่น น่านั่ง สั่งก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามแล้วจะนั่งเล่นเน็ตนานเท่าใดก็ได้ร้านเป็นที่นิยม ในวันเสาร์-อาทิตย์ มีคนมาใช้บริการเป็นร้อยๆคนจริงๆแล้ว Glocalization ชิ้นนี้เอาแนวคิดของ Starbucks ในระดับสากลมาผสมกับสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น

ผ้าย้อมครามจากสกลนคร อันกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศและต่างประเทศก็ถือได้ว่าเป็น Glocalization ลักษณะหนึ่ง คราม หรือ indigo นั้นเป็นสิ่งสากลมีมานับพันปี(กางเกงบลูยีนส์ที่ดีก็มาจากการย้อมคราม) และการย้อมครามในจังหวัดนี้ก็มีมานานมากเพราะจุดที่ตั้งเหมาะสมต่อการปลูกครามเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการออกแบบเสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอแบบต่างประเทศจนสากลกับท้องถิ่นผสมกลมกลืนกัน

บ้านเราสามารถผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงได้อีกเป็นอันมาก ภายใต้แนวคิด Glocalization และการมีความคิดสร้างสรรค์ ตัวอย่างเริ่มมีให้เห็นมากมายไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง การออกแบบที่อยู่อาศัย อาหาร ของที่ระลึก ซอฟต์แวร์หรือ AI หรือ IoT ที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นฯลฯ

สากลและท้องถิ่นมักมีอะไรไม่ตรงกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ตรงกัน นั่นก็คือสัจธรรม ข้อที่ทำให้โลกอยู่กันได้อย่างดีอย่างมีความสุข มีความสงบและสันติ นั่นก็คือความศรัทธาใน ความดี ความงามและความจริง