ทางเลือกในการตัดสินใจของนายใหญ่

ทางเลือกในการตัดสินใจของนายใหญ่

ไม่ว่างานเล็ก-งานใหญ่ มีขั้นตอนสำคัญที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องมีการตัดสินใจ ซึ่งบางกลุ่มที่เชื่อในอำนาจบาทใหญ่ การตัดสินใจส่วนใหญ่

 การตัดสินใจส่วนใหญ่มักยกหน้าที่ให้กับคนใหญ่คนโตในกลุ่มนั้น นายใหญ่มักเป็นคนตัดสินใจเสมอ แต่การตัดสินใจของนายใหญ่มีหลายรูปแบบ แต่ละแบบของการตัดสินใจมีผลที่ตามมาแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิดก็ตาม

การตัดสินใจแบบที่คนที่คิดว่าตนเองเป็นนายใหญ่มักกระทำอยู่เป็นประจำ คือข้าพเจ้าตัดสินใจของข้าพเจ้าเอง ไม่ต้องฟังความคิดเห็นใดๆ จากผู้ใดมาประกอบการตัดสินใจ เจอปัญหาใดๆ นายใหญ่ก็ตัดสินใจไปเอง ตามข้อมูลสาระ และประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การตัดสินใจแบบนี้มักเป็นเรื่องที่เห็นกันชัดๆ แล้วว่าอะไรเป็นอย่างไร จึงไม่ต้องอาศัยข้อมูลสาระ หรือความเห็นใด ๆมาประกอบการตัดสินใจ ผลการตัดสินใจมักคาดเดาได้ล่วงหน้าว่า นายใหญ่จะเอาอย่างไร แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผลการตัดสินใจไปคนละทางกับที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องคาดคิดไว้ เพราะทุกอย่างว่าไปตามความเห็นความเชื่อของนายใหญ่ การตัดสินใจแบบตามใจนายใหญ่ จึงเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงมากน้อยตามปัญหาที่ต้องตัดสินใจ ถ้าเป็นปัญหาที่เจอกันเป็นประจำ การตัดสินใจแบบนี้เสี่ยงน้อย และช่วยได้มาก เพราะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที แต่ถ้าเป็นเรื่องแปลกเรื่องใหม่ การตัดสินใจแบบที่ยกให้นายใหญ่ว่าไปเลย เป็นการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง จากการที่คิดคนเดียวกับเรื่องใหม่ แทนที่จะช่วยกันคิดหลายหัวหลายคน

การตัดสินใจที่บทบาทของนายใหญ่ลดลงมาหน่อยหนึ่งคือ การตัดสินใจโดยนายใหญ่ แต่อาศัยข้อมูลสาระ จากหลายหัวหลายคนมาช่วยเสริมการตัดสินใจ มีการใช้ข้อมูลที่คนนั้นคนนี้นำเสนอมาประกอบการตัดสินใจ ก่อนนายใหญ่จะตัดสินใจก็เรียกข้อมูลสาระ และความเห็นจากบางคนที่เป็นคนโปรดคนสนิทของนายใหญ่ มีอะไรก็ถามคนโปรดคนสนิทก่อนตัดสินใจ ดังนั้น ผลการตัดสินใจจึงมีเฉพาะคนโปรดคนสนิทในกลุ่มที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ที่พอจะเดาได้บ้างว่าจะไปทางไหน โดยอนุมานจากข้อมูลสาระที่ตนได้นำเสนอไป ทำให้ผลการตัดสินใจจะดีจะเลว ขึ้นกับคนโปรดคนสนิทเหล่านั้น ว่านำเสนอข้อมูลสาระเป็นความจริงหรือมโนมากกว่ากัน ซึ่งยากอยู่ที่จะเป็นข้อมูลสาระที่เป็นจริงอย่างครบถ้วน เพราะนายใหญ่ถามหาข้อมูลสาระ โดยไม่บอกว่าจะนำไปใช้ตัดสินใจกับปัญหาใด มีนายใหญ่คนเดียวที่รู้ปัญหา คนโปรดคนสนิทก็ยังไม่รู้เรื่อง

ถ้าขยายออกมาอีกนิดแต่ยังวนอยู่กับคนโปรดคนสนิท คือนายใหญ่บอกปัญหาที่ตนต้องตัดสินใจให้คนโปรดคนสนิทได้ทราบด้วย แทนที่จะเรียกมาถามข้อมูลและสาระที่ตนอยากได้เท่านั้น ถ้าอยากจะเดาว่าจะมีการตัดสินใจเรื่องใด และจะตัดสินไปทางไหน ให้เดาจากการเฝ้าดูการกระทำที่ผ่านมาของคนโปรดคนสนิท ซึ่งเป็นธรรมดาที่คนโปรดคนสนิทเหล่านั้นมักแสดงอาการต่างๆ ให้สังเกตเห็นได้ เมื่อคนเหล่านั้นทราบว่านายใหญ่กำลังเจอปัญหาอะไรอยู่บ้าง คุณภาพของการตัดสินใจก็ยังขึ้นอยู่กับคนกลุ่มเดียว และยังเป็นการใช้สมองช่วยตัดสินใจอย่างไม่รอบครอบ เพราะเลือกใช้แต่คนสนิทใกล้ตัว ซึ่งก็มักพยายามประจบประแจงนายใหญ่อยู่แล้ว การตัดสินใจแบบนี้ จึงมีความเสี่ยงแทบไม่แตกต่างจากการที่นายใหญ่ว่าไปตามที่ตนคิดตนเชื่อ เพียงแต่ใช้เวลาตัดสินใจมากกว่า และผู้คนที่เกี่ยวข้องพอจะเดาได้บ้างเท่านั้น

ถ้าเป็นผู้บริหาร มากกว่าเป็นนายใหญ่ การตัดสินใจจะเป็นการตัดสินใจโดยผู้คนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม อย่างน้อยที่สุดคือทุกคนที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าว่า จะต้องมีการตัดสินใจกับปัญหาใด ผู้คนมีโอกาสนำเสนอข้อมูลสาระ และความเห็นของตนต่อปัญหานั้น โดยการตัดสินใจมีสองทางเลือก คือผู้บริหารตัดสินใจเอง และผู้คนตัดสินใจร่วมกัน ถ้าเป็นปัญหาที่ผู้คนมีความเห็นไปในทางเดียวกัน ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ ก็มีโอกาสที่ผลที่ได้จะไม่ต่างกัน การยกให้ผู้บริหารเป็นคนตัดสินใจจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะกระทำได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ แต่ถ้ามีหลากหลายความเห็น กลุ่มนั้นว่าอย่างนั้น กลุ่มนี้ว่าอย่างนี้ การยกให้ผู้บริหารไปตัดสินใจอาจเป็นประโยชน์ ถ้ามั่นใจว่าผู้บริหารตัดสินใจอย่างเป็นกลางจริงๆ ถ้าไม่มั่นใจ การตัดสินใจร่วมกันอาจให้ผลดีมากกว่า และเป็นที่ยอมรับมากกว่า เพียงแต่ต้องหาวิธีการที่จะใช้ตัดสินใจร่วมกันที่เหมาะสมกับกลุ่มให้ได้

ไม่ว่าจะตัดสินใจแบบไหนก็ตาม คนตัดสินใจต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบผลจากการตัดสินใจของตนเสมอ