New Power: อำนาจใหม่ที่ต้องมี

New Power: อำนาจใหม่ที่ต้องมี

หลังตรุษจีนของทุกปี คอลัมน์นี้ จะรีวิวหนังสือเล่มที่ผมชื่นชอบที่สุดในปีที่ผ่านมา ถือเป็นแต๊ะเอียให้กับท่านผู้อ่าน

ปีนี้ ผมมีหนังสือ 3 เล่มที่อยู่ใน Short-list ได้แก่ Keeping at it โดยพอล โวลค์เกอร์, New Power โดยเฮนรี ทิมมส์ กับ เจเรมี ไฮน์แมนส์ และ AI SuperPowers โดยไค ฟู ลี โดยปีนี้ ผมขอเลือก New Power ด้วยเหตุผลที่ว่ามีวิธีการที่ถือว่าน่าสนใจมากในการโน้มน้าวให้คล้อยตามแนวคิด New Power ที่ทั้งคู่พยายามสื่อให้เห็น โดยผมอ่านรวดเดียวจนจบบนเครื่องบินที่เดินทางจากกรุงเทพฯไปญี่ปุ่น โดยส่วนตัว ถือว่าเป็นหนังสือนอกหมวดการเงินที่ผมชื่นชอบที่สุด หลังจากหนังสือ Superforecasting ของ ฟิลิป อี. เทตล็อก และแดน การ์ดเนอร์ ที่ออกมาในปี 2015 เป็นต้นมา

ตารางที่ 1 ความแตกต่างระหว่าง New/Old Power Value

New Power: อำนาจใหม่ที่ต้องมี

ที่มา: New Power เว็บไซต์

หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยการใช้ตัวอย่างของโลกในปัจจุบัน ว่าด้วยความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าการเติบโตในองค์กรที่ใหญ่ แล้วไต่บันไดในตำแหน่งขององค์กรเพื่อให้อยู่ในลำดับที่สูงเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว โดยชี้ว่าการปลดพนักงานหรือผู้บริหารในองค์กร เป็นเรื่องที่จะเห็นกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต จากกระแสการ Disrupt ที่มีในทุกวงการ ทั้งคู่แนะนำให้ผู้ที่จะอยู่รอดในสังคมยุคใหม่ ให้หาอำนาจที่เป็น New Power ด้วยตนเอง โดยให้ลืมความเชื่อเดิมๆที่เป็น Old Power เนื่องจากมันไม่ได้มีอยู่เหมือนเดิมอีกต่อ โดย สามารถแบ่งเป็น 2 แกน ได้แก่ New/Old Power Value และ New/Old Power Model

โดย Old Power Value ดังตารางที่1 นั้น ยังคงคลุกอยู่กับการบริหารจัดการที่เป็นทางการ เน้นการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยตนเอง ข้อมูลทุกอย่างจะเป็นความลับ และเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างกันในระยะยาว โดยไม่เน้นการมีส่วนร่วมในภาพรวม ส่วนด้าน New Power Valueนั้น การเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันในรูปแบบของเครือข่าย เน้นการร่วมมือแบบ Open-source มีความโปร่งใสในข้อมูลต่างๆ และเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างกัน 

ในส่วนของ Model หรือแพลตฟอร์มในการสื่อสารกับผู้ที่เป็นลูกค้า ว่าการใช้ New Power Model หรือเครื่องมือที่สื่อสารกับมวลชนยุคใหม่ ที่เน้น Mobility อย่างโซเชียลเน็ตเวิรค์ส นั้น มีโอกาสที่จะชนะมากกว่าผู้ที่ใช้แต่ Old Power Model หรือเครื่องมือที่สื่อสารกับมวลชนในอดีต อย่างทีวีหรือหนังสือพิมพ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน ในการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2016 โดยทรัมป์มีทีมที่สร้างเนื้อหาให้กับเครื่องมือทางสังคมออนไลน์ อาทิ ทวิตเตอร์ มีมีทีมที่คอยแกะรอยมวลชนที่ติดตามตนเองลงไปให้ลึกถึงระดับปัจเจกชนว่ากำลังมีแนวโน้มที่จะเลือกใครมากกว่า สำหรับบริษัทต่างๆจะอยู่ในแกน New หรือ Old Power แสดงดังตารางที่ 2

ดารางที่ 2:  บริษัทในแผนที่ระหว่างแกน New/Old Power Value และ New/Old Power Model

New Power: อำนาจใหม่ที่ต้องมี

สำหรับการเปรียบเทียบระหว่าง Uber กับ Lyft ของหนังสือเล่มนี้นั้น ถือว่าน่าสนใจ โดย Uber เน้นการแข่งขันด้านราคาทว่าไม่ค่อยมี Human Touch ส่วน Lyft เน้นการแข่งขันด้านราคาน้อยกว่า ทว่ามี Human Touch สูง เวลาได้พิสูจน์แล้วว่าท้ายสุด Model ของ Lyft มีแนวโน้มว่าจะมีชัยในระยาว 

ก่อนอื่นต้องบอกว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ เฮนรี ทิมมส์ กับ เจเรมี ไฮน์แมนส์ ได้เปรียบกว่าผู้อื่นในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากทำงานในหน่วยงานด้านสื่อสารมวลชนที่หา Funding ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค และทำงานเป็น Creator และ Influencer ขององค์กรที่รับงานด้านสื่อสารมวลชนด้านการเมืองผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ในออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยการที่ทั้งคู่เคยสร้างปรากฏการณ์ในการโน้มน้าวมวลชนให้มีความเห็นตามสิ่งที่ตนเองต้องการสื่อความ อย่าง #GivingTuesday ของทิมมส์ ที่สามารถหาเงินทุนจากหลายร้อยล้านดอลลาร์ผ่านการเคลื่อนไหวในองค์กรการกุศลต่างๆกว่า 100 ประเทศ และในรายของไฮน์แมนส์ สามารถ สร้างองค์กรที่ทำงานด้านการเมือง GetUp! เพื่อรณรงค์ในนโยบายด้านการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม 

จึงทำให้การเขียนถึงอำนาจในยุค New Power ผ่านสังคมออนไลน์ยุคใหม่ ในส่วนของวิธีการสร้างกระแสความนิยมในโลกโซเชียลเน็ตเวิรค์สจึงสามารถทำได้ค่อนข้างดี เนื่องจากทั้งคู่ทำงานเหล่านี้เป็นงานหลัก รวมถึงมีผลงานที่จับต้องได้ อาทิ ในรายของไฮน์แมนส์ เคยสร้างกระแสผ่านสังคมออนไลน์ในการต่อต้านนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในยุค 10 กว่าปีก่อนจนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนผู้นำท่านดังกล่าวในเวลาต่อมา 

มาถึงจุดที่ผมมองว่าเป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้ คือ การมองจาก Bottom Up โดยเขียนในฐานะของผู้ที่มากับความสามารถเป็น Influencer ยุคใหม่ แล้วทำหน้าที่วิจารณ์ผู้นำในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บารัก โอบามาที่ทั้งคู่มองว่าตอนที่หาเสียงในตำแหน่งประธานาธิบดีเทอมแรกในปี 2008 ด้วยสโลแกน Change แล้วไม่มีการสานต่อให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ และ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ที่มี New Power ใน Value ทว่าเป็น Old Power ในส่วนของ Model เนื่องจากคิดแต่หาเงินจาก Data ที่ตนมีอยู่มากมาย โดยไม่ต่อยอดไปในแพลตฟอร์มใหม่ๆ นั้น น่าจะถือว่าไม่แฟร์นักกับเจ้าตัวที่ถูกวิจารณ์ ผมมองว่าโอบามาน่าจะโฟกัสไปกับการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆในช่วงทำงานเป็นประธานาธิบดี ส่วนซัคเกอร์เบิร์กเมื่อได้เข้าสู่โลกของธุรกิจ แน่นอนว่าการหารายได้เป็นกลยุทธ์หลักของเขาเมื่อดำเนินธุรกิจแบบจริงจัง ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าบริษัทที่มองว่าเป็น New Power ในส่วนของ Value และ Model อย่าง Huffpost ที่เป็นสื่อยุคใหม่ การเติบโตก็ดูจะชะลอลงในช่วง 2 ปีนี้

อย่างไรก็ดี จุดที่ทั้งคู่เปรียบเทียบกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี ก็มีอยู่หลายตัวอย่างเช่นกัน อย่างที่ผมกล่าวไว้การเปรียบเทียบระหว่าง Uber กับ Lyft นั้นชัดเจนมาก ส่วนการใช้ตัวอย่างของ Airbnb ในการสร้าง Branding เพื่อสื่อว่าการใช้โลกออนไลน์เพื่อทลายกำแพงของความเชื่อที่ว่าการให้แขกมาพักบ้านของตนเองเป็นการรบกวนความเป็นส่วนตัว ด้วยการแสดงตัวอย่างของการใช้บริการที่มีอยู่อย่างมากมาย รวมถึงนโยบายการรับรองความมั่นใจจาก Airbnb ของทั้งผู้เช่าและเจ้าของที่พักอาศัยให้มั่นใจว่าจะปลอดภัยในมุมมองของทั้งคู่ จนมาถึงทุกวันนี้ การปล่อยเช่าที่พักผ่าน Airbnb กลายเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นคนรุ่นใหม่ไปเสียแล้ว หรือในรายของ The Guardian สื่อของอังกฤษ ว่ามีการใช้การรณรงค์ผ่านโลกออนไลน์เพื่อหารายได้จากผู้ที่ศรัทธาในตัว Guardian เอง

โดยภาพรวม New Power ถือเป็นหนังสือน้อยเล่มที่สามารถอ่านได้แบบรวดเดียวจบครับ