อินเดียกำลังมุ่งหน้าสู่ “New India” ภายใน ค.ศ. 2022 (ตอน 1)

อินเดียกำลังมุ่งหน้าสู่ “New India” ภายใน ค.ศ. 2022 (ตอน 1)

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 นายนเรนทรา โมดี เคยประกาศในคำปราศรัยโอกาสวันครบรอบเอกราช (Independence Day) ว่าจะสร้างอินเดียใหม่

หรือ New India ภายใน ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นปีที่อินเดียจะครบรอบ 75 ปีแห่งการประกาศเอกราช

เวลาผ่านไป 1 ปี รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบัน National Institution for Transforming India - NITI Aayog (เทียบได้กับ สศช. ของไทย) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามวิสัยทัศน์ ดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 สถาบัน NITI Aayog ได้เผยแพร่รายละเอียด Strategy for New India@75 ซึ่งศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทย – อินเดีย ขอนำมาสรุปและวิเคราะห์ให้ทุกท่านได้รับทราบพัฒนาการที่น่าจับตามองของอินเดียในครั้งนี้ ดังนี้ 

แนวคิดและเป้าหมายที่สำคัญของ Strategy for New India@75

ทำให้อินเดียกลายเป็น อินเดียใหม่ภายในปี ค.ศ. 2022 และส่งเสริมให้อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี ค.ศ. 2030 (อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2018)

เน้นการพัฒนาแบบองค์รวม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนพร้อมกับส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจ และเน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนา

เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการวางแผนยุทธศาสตร์ โดย NITI Aayog ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในสังคม 7 กลุ่มคือ นักวิทยาศาสตร์และผู้คิดค้นนวัตกรรม เกษตรกร องค์กรภาคประชาสังคม think tanks ผู้แทนภาคแรงงาน ผู้แทนสหภาพการค้า และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และได้หารือร่วมกับทั้งหน่วยงานในรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น

สาระสำคัญของ Strategy for New India @ 75 ด้วยรายละเอียดกว่า 290 หน้า Strategy for New India @ 75 ได้กำหนดสาขาที่อินเดียต้องได้รับการพัฒนาไว้ 41 สาขา แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ

(1) ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (drivers)

(2) โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)

(3) การพัฒนาแบบองค์รวม (inclusion)

(4) ธรรมาภิบาล (governance)

โดยสามารถแจกแจงสาขาการพัฒนาและยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจได้ ดังนี้

(1) กลุ่มปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วยสาขาการพัฒนา 11 สาขา คือ (1) การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) การจ้างงานและปฏิรูประบบแรงงาน (3) การพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (4) การพัฒนาอุตสาหกรรม (5-7) การเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยเทคโนโลยี/ ปรับปรุงนโยบายด้านการเกษตร/ สร้างโครงสร้างพื้นฐานและ value chain รองรับสินค้าเกษตร (8-9) การผนวกรวมประชาชนให้เข้ามาร่วมได้รับประโยชน์จากบริการทางการเงิน (financial inclusion) และที่อยู่อาศัย (housing for all) (10) การส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และ (11) การส่งเสริมการทำเหมืองแร่ 

แผนงานที่น่าสนใจ าทิ (1) รักษาให้ GDP เติบโต 8% ในระหว่างปี ค.ศ. 2018-2023 และเพิ่มมูลค่าการลงทุนให้มีสัดส่วน 36% ของ GDP (จากเดิมคือ 29% ในปี ค.ศ. 2018) (2) เปลี่ยนเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการปรับปรุงเทคนิคการทำการเกษตร และขยายตลาดทั้งการค้าออนไลน์และการส่งเสริมการส่งออก (3) การสร้างงานให้มากที่สุดผ่านการปรับปรุงกฎหมายและการพัฒนาฝีมือแรงงาน และ (4) การประกาศนโยบาย “Explore in India” ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้ง่ายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างงานจำนวนมาก (ปัจจุบันมีการทำเหมืองแร่เพียง 1.5% ของทรัพยากรที่มีทั้งหมด) เป็นต้น

(2) กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านที่ช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ประกอบด้วยสาขาการพัฒนา 11 สาขา คือ (1) พลังงาน (2) ถนน (3) การรถไฟ (4) การบิน (5) การเดินเรือ/ ท่าเรือ (6) โลจิกติกส์ (7) ความเชื่อมโยงทางดิจิตอล (8) โครงการ Smart City เพื่อพัฒนาไปสู่ชุมชนเมือง (9) ความสะอาด (10) ทรัพยากรน้ำ และ (11) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน

แผนงานที่น่าสนใจ อาทิ (1) เร่งจัดตั้งหน่วยงาน Rail Development Authority ที่จะช่วยพัฒนากลไกการยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางราง (2) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำทั้งทางทะเลและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศเด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และ (3) ส่งเสริมเครือข่ายอินเทอร์เนต Bharat Net ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในปี ค.ศ. 2022 เพื่อให้ภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถให้บริการแบบดิจิตัลได้เท่าเทียมกันแม้ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

(3) กลุ่มการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นแก้ปัญหาที่บั่นทอนการพัฒนาศักยภาพประชาชนโดยแบ่งเป็น 12 สาขาภายใต้ 3 ประเด็นหลักคือ (3.1) การศึกษา – (1) เน้นพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน (2) การศึกษาขั้นสูง (3) การฝึกอบรมครู (4) การพัฒนาทักษะการทำงาน (3.2) สุขภาพ – (5) เน้นพัฒนาการจัดการสาธารณสุข (6) การให้บริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐาน (7) ทรัพยากรบุคคลในการให้บริการด้านสุขภาพ (8) การประกันสุขภาพถ้วนหน้า (9) การโภชนาการ และ (3.3) การช่วยเหลือผู้ถูกแบ่งชนชั้นสังคม โดยให้ความสำคัญกับ (10) การสร้างความเท่าเทียมทางเพศ (11) การสร้างศักดิ์ศรีให้กลุ่มคนสูงอายุ/ คนพิการ/ คนข้ามเพศ และ (12) สร้างศักยภาพให้กลุ่มคนวรรณะชั้นต่ำ/ ชนเผ่า/ ชนกลุ่มน้อย

แผนงานที่น่าสนใจ อาทิ (1) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมผ่านการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Atal Tinkering Laboratories ในโรงเรียนต่าง ๆ 10,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี ค.ศ. 2020 (2) การสร้างศูนย์ประสานงานเพื่อการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลให้ครอบคลุม และความสำเร็จของอินเดียในการประกาศ นโยบายประกันสุขภาพประชาชน ของ นรม. - Pradhan Mantri Jan Arogya Abhiyaan และ (3) การให้ความสำคัญกับคนชายขอบด้วยการให้การศึกษา ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้คนชายขอบได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วม และส่งเสริมความตระหนักรู้ในสังคม เป็นต้น (อ่านตอนจบ ฉบับวันที่ 13 ก.พ.2562)

โดย... 

เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

เลขานุการเอก

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี